วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๓ บิณฑบาตที่มีผลมีอานิสงส์มาก

วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๓ บิณฑบาตที่มีผลมีอานิสงส์มาก

เหตุที่พระวรกายของพระพุทธเจ้าสามารถทรงอยู่ได้ตลอดการเสวยวิมุติสุข เป็นระยะเวลา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน โดยที่พระองค์ไม่เสวยพระกระยาหารใดๆ เลย เชื่อกันว่า เป็นเพราะจิตของพระองค์ที่สิ้นอาาวะกิเลสและกำลังเสวยวิมุติสุขอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายในเช้าวันตรัสรู้นั่นเอง นั่นหมายความว่า จะต้องไม่ใช่ข้าวหรืออาหารธรรมดาทั่วไปแน่นอน เพราะถ้าเป็นอาหารที่ปรุงแบบธรรมดา ย่อมไม่สามารถให้พลังงานได้นานขนาดนั้น

วิธีทำข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา
วิธีเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้ นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอมจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว ให้แม่โคทั้งหลายได้กินเครือชะเอมเป็นประจำสม่ำเสมอ ทำให้น้ำนมที่ได้มีรสหวานหอม แล้วแบ่งแม่โคออกเป็น ๒ กลุ่มๆละ ๕๐๐ ตัว

ให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัวกลุ่มแรก ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัว กลุ่มที่ ๒ แล้วแบ่งแม่วัวนมกลุ่มแรกออกเป็น ๒ กลุ่ม ให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัวกลุ่มแรก ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวกลุ่มที่ ๒ แล้วทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในท้ายที่สุดเหลือแม่วัวนมแค่ ๘ ตัว

หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนม แม่โคทั้ง ๘ ตัวสุดท้ายนี้จะมีรสหวานหอมเป็นเลิศอย่างที่ไม่มีน้ำนมโคอื่นมาเปรียบเทียบได้เลย

เมื่อถึงคืนก่อนหน้าวันเพ็ญเดือน ๖ เพียง ๑ วันเท่านั้น น้ำนมแม่โคทั้ง ๘ ตัวก็ได้ไหลออกมาเอง พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัว นางเห็นดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง เมื่อได้แล้วจึงเทน้ำนมลงใส่ภาชนะใหม่ยกขึ้นตั้งบนเตาและนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า “ขีรปริวรรต” และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย

ในวันที่นางปรุงข้าวมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และ ท้าวเวสวัณ ก็มายืนอารักขาก้อนเส้าเตาปรุงทั้ง ๔ ทิศ รวมทั้ง ท้าวมหาพรหม ก็นำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นข้างบนกระทะเพื่อเป็นสิริมงคล และป้องกันธุลีบนนภากาศ สมเด็จอมรินทราธิราช เสด็จลงมาก่อไฟใส่ฟืน เทวดาเจ้าในหมื่นโลกธาตุ ก็นำทิพยโอชามารวมใส่ลงไปในหม้อปรุงนั้น ประชาชนในทวีปทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ห้อมล้อม ต่างเป็นดังจักรบีบรวงผึ้งอันอุดมด้วยน้ำผึ้งใส่เข้าไปในภาชนะที่กำลังปรุงนั้น

ขณะที่นางกวนข้าวทิพย์นี้ บรรดาเหล่าเทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุต่างก็พากันมาโปรยผงทิพย์ลงในกระทะน้ำมันที่กำลังเดือดเป็นฟองใหญ่ไหลเวียนขวาอยู่นั้น ไม่มีน้ำนมแม้แต่หยดเดียวที่จะกระเซ็นตกลงบนพื้นดินเลย ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตา เมื่อทำดังนี้แล้วก็ได้เป็นข้าวมธุปายาสและกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวมธุปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์

เมื่อเสร็จแล้วจึงจัดใส่ถาดทองนำไปยังต้นนิโครธพฤกษ์ หรือต้นไทร ครั้นเห็นพระบรมโพธิสัตว์ที่ประทับอยู่มีรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล นางเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาจึงนำข้าวมธุปายาสน้อมเข้าไปถวายด้วยความโสมนัส ในเวลานั้นบาตรของพระบรมโพธิสัตว์ที่ฆฏิกาพรหมถวายเมื่อครั้งเสด็จออกบรรพชา ได้อันตรธานหายไป พระองค์จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ออกรับถาดข้าวมธุปายาสแล้วทอดพระเนตรแลดูนาง

นางสุชาดาจึงทูลถวายว่า
“ข้าแต่พระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายมธุปายาสกับทั้งภาชนะทองอันรองใส่ ขอพระองค์จงรับโดยควรแก่พระหฤทัยปรารถนา”

เมื่อถวายแล้วนางจึงทูลลากลับไปยังที่อยู่แห่งตนด้วยจิตใจอันปีติเบิกบาน  ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ถือเป็น ภัตตาหารมื้อแรก หรือ การถวายอันสำคัญ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อนางสุชาดาทูลลากลับไปแล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึงเสด็จจากร่มนิโครธพฤกษ์  ทรงถือถาดมธุปายาสนั้นเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อทรงพระวรกายแล้วจึงประทับนั่งริมฝั่งแม่น้ำนั้น บ่ายพระพักตร์สู่ถิ่นบรูพา คือตะวันออก ทรงปั้นข้าวปธุปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ซึ่งถือเป็นอาหารทิพย์อันจะคุ้มได้ถึง ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้

ค่อยๆอ่านเรียนรู้พุทธประวัติพระพุทธเจ้า เป็นบุญใจ
แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ