วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๒ เสวยวิมุตติสุข

วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๒ เสวยวิมุตติสุข

หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดเพราะความหลุดพ้นจากกิเลส) อยู่ในที่ ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน ดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑ แท่นวัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์
ตลอด ๗ วัน พระพุทธองค์ทรงพิจารณาทบทวนเรื่องราว ตามลำดับ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า

“ในการใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ”

จากนั้นทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท แบบย้อนกลับ คือพิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า

“ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

ท้ายที่สุดทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งตามลำดับและย้อนกลับ แล้วมีพุทธอุทานขึ้นว่า

“ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมาร และเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น”

สัปดาห์ที่ ๒ อนิมิสเจดีย์
ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอด ๗ วัน สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์
พระองค์เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน สถานที่อยู่ระหว่าง อนิมิสเจดีย์กับต้นศรีมหาโพธิ์ ทางด้านเหนือของวิหาร ณ สถานที่นั้น ได้มีการก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุต จากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธองค์เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔ รัตนฆรเจดีย์
เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้น ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๕ ต้นอชปาลนิโครธ
พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่ ๗ วัน ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามารสามตน คือ ราคะ อรตี และตัณหา ได้รับอาสาจากพญามารเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา พระองค์กลับไล่ไปเสียแสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่ ๖ สระมุจลินท์
ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันมีสระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว

ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวัน ๗ คืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้

“ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง”

สัปดาห์ที่ ๗ ต้นราชายตนะ
ราชายตนเสด็จประทับที่ร่มต้นไม้เกตนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้แล้วและได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน

ณ ที่ราชายตนะนี้เอง ได้มีนายพานิชสองคนเป็นชาวพม่าผ่านมา ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้เกต มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตน แล้วประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา

และทูลขอของที่ระลึกจากพระองค์เพื่อเอาไปบูชา พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่นำมาถวาย ซึ่งทรงอธิษฐานให้รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน (ในทางประวัติศาสตร์ พม่าได้ไปมาค้าขายกับอินเดียมาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียนมาแลกสินค้ากับอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)

พระพุทธองค์เสวยข้าวของ ๒ พ่อค้าแล้ว ทรงอนุโมทนาในความศรัทธาของ ตปุสสะกับภัลลิกะ และทรงลูบพระเกศา (ผม) พระเกศาตกลงมา ๘ เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองไปเป็นการสนองความศรัทธาของเขา ชาวพม่าทั้งสองนี้ได้นำพระเกศา ๘ เส้นนั้น กลับไปเมืองย่างกุ้ง พอถึงพม่าได้มีพิธีสมโภชเส้นพระเกศานี้หลายวันหลายคืน และได้จัดสร้างพระเจดีย์ชะเวดากองที่หุ้มด้วยทองหนักหลายพันกิโลกรัม เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุ มาจนถึงปัจจุบันนี้

แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ