ประวัติโฆษกเศรษฐี ตอนที่ 2

ทิ้งลูกตอนที่ ๒

พอรู้เข้าเศรษฐีเร่าร้อนมาก ออกวิ่งไปบ้านช่างหม้อ พร้อมตะโกนว่า

“อย่าเพิ่งฆ่า ! อย่าเพิ่งฆ่า !”

ช่างหม้อเห็นเศรษฐีวิ่งมาเช่นนั้น จึงกล่าวว่า

“อย่าเอะอะไป ! สิ่งที่สั่งทำนั้นเรียบร้อยแล้ว”

เศรษฐีมีความโศกดุจภูเขาใหญ่ทับอยู่ บอกไม่ได้ว่าคนตายคือ “ลูกเรา”

ถูกทิ้งครั้งที่​๗

นับแต่นั้นมา เขาเริ่มป่วยเพราะความทุกข์ใจ ไม่อาจมองดูโฆสกะตรงๆได้ จึงคิดหาวิธีอยู่วันแล้ววันเล่า

ในที่สุดก็ออกอุบายว่า

“เราจะส่งไปให้คนรักษาผลประโยชน์บ้านส่วยของเรา ๑๐๐ หลังคาเรือน ฆ่ามันเสีย”

จึงเขียนจดหมายถึงผู้รักษาผลประโยชน์บ้านส่วยในข้อความที่ตนต้องการ แล้วเรียกโฆสกะเอาจดหมายไปให้ โดยเดินทางครึ่งวันจะถึงบ้าน

เพื่อนพ่อเป็นเศรษฐีในชนบท บอกเขาว่าเจ้าเป็นลูกพ่อ เขาจะได้ต้อนรับอย่างดี
เมื่อโฆสกะเดินทางไปถึง

ก็บอกภรรยาเศรษฐีว่า เขาเป็นลูกชายเศรษฐีในเมือง พ่อใช้ให้ไปบ้านส่วยให้มาพักกลางวันที่นี่

ขณะนั้นลูกสาวเศรษฐีพักอยู่บนปราสาทชั้นเจ็ด ได้รู้จากสาวใช้ว่าคุณแม่ท่านให้ทำการต้อนรับบุตรเศรษฐีจากในเมืองชื่อ

“โฆสกะ”

ก่อนที่จะไปตลาด ธิดาเศรษฐีเพียงได้ยินชื่อก็เกิดความรัก แม้ยังไม่เห็นหน้าเขา เพราะเคยเป็นภรรยาของเขาที่ชื่อว่า “กาลี”

เมื่อสมัยที่เขาเป็นโกตุหลิกะ พระพุทธเจ้าทรงเมตตาตรัสว่า

“ความรักย่อมเกิดขึ้นด้วยเพราะเหตุ ๒ ประการ” คือ

๑.     ด้วยความอยู่ร่วมกันในชาติก่อน
๒.     ด้วยการเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน

เหมือนดอกบัวอาศัยน้ำและเปือกตมจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น
ธิดาผู้เฉลียวฉลาดของเศรษฐี เอ่ยถามสาวใช้ผู้จงรักภักดีว่า

“เขาอยู่ที่ไหนและถืออะไรมาบ้าง”
สาวใช้ตอบว่า

“เขานอนหลับอยู่ และไม่ได้ถืออะไรมา แต่มีสิ่งที่ขอดชายผ้ามา”

      ธิดาเศรษฐีจึงลงไปหาโฆสกะ เขากำลังหลับอยู่จึงแก้ขอดผ้าได้จดหมาย แล้วจึงรีบกลับไปห้องของตน เปิดอ่านหนังสือนั้นได้ความว่า

  “ผู้รักษาผลประโยชน์บ้านส่วย คนถือจดหมายนี่เป็นอวชาตบุตรของเรา เมื่อมาถึงท่านจงฆ่าเสีย แล้วยัดศพลงไปในหลุมคูถ เมื่อทำสำเร็จจะยกประโยชน์บ้านส่วย ๑๐๐ หลังคาเรือนให้ท่านและเมื่อทำเสร็จให้จดหมายมาบอกเรา”

ธิดาเศรษฐีแปลงสาร

  ธิดาเศรษฐีตกใจ ! คิดว่าคนอะไรถือจดหมายฆ่าตัวมายังไม่รู้ ดีที่เธอพบก่อน
จึงเขียนใหม่ด้วยถ้อยคำของเศรษฐี แล้วเอาไปขอดไว้ที่ชายผ้าของโฆสกะตามเดิม

ครั้นเขาตื่นขึ้นแล้ว จึงเดินทางต่อไปถึงบ้านผู้รักษาผลประโยชน์บ้านส่วย แล้วมอบจดหมายให้ ซึ่งมีใจความว่า

      “ถึงผู้รักษาผลประโยชน์บ้านส่วย ผู้ที่ถือจดหมายนี้เป็นอภิชาตบุตรของเรา ให้ท่านเก็บผลประโยชน์จากบ้านส่วย ๑๐๐ หลังคาเรือน เอาไปขอธิดาเศรษฐีในชนบท เมื่อขอได้แล้วให้ปลูกเรือนหอ ๒ ชั้น  ให้ท่ามกลางบ้านของท่าน ให้มีรั้วรอบขอบชิด และมีผู้ระมัดระวังรักษาอย่างดี เมื่อได้ทำการมงคลสมรสเสร็จแล้ว จงรีบเขียนจดหมายมาบอกกล่าวแก่เรา”

      ผู้รักษาผลประโยชน์บ้านส่วยดีใจมาก ! ได้ทำตามจดหมายนั้นโดยเร็ว ขณะปลูกเรือนหอก็จัดผู้ใหญ่ไปสู่ขอลูกสาวเศรษฐีในชนบท ภรรยาเศรษฐีพอใจโฆสกะอยู่แล้ว และได้ถามธิดาดู นางก็พอใจจึงตกลง

      เมื่อผู้รักษาผลประโยชน์ได้จัดพิธีอาวาหมงคลให้โฆสกะแล้ว ก็เขียนจดหมายไปบอกเศรษฐีในเมืองว่า

“ได้ทำตามที่จดหมายไปบอกเรียบร้อยแล้วทุกประการมิได้ขาดตกบกพร่องแม้สักอย่าง ขอท่านจงอย่าได้เป็นห่วงเลย”

      เมื่ออ่านจดหมายจบ เศรษฐีเสียใจเป็นทวีคูณคิดว่า

“เราให้ทำสิ่งใดสิ่งนั้นไม่สำเร็จ”

ความเศร้าโศกที่คิดอะไรไม่สำเร็จ ทำให้เขาป่วยหนักกว่าเดิม เมื่อป่วยหนักมากก็คิดถึงโฆสกะ แต่เพราะเลี้ยงโตแล้ว
จึงไม่คิดจะยกสมบัติให้

แล้วบอกเสมียนว่าอยากจะพบลูกของฉันคือโฆสกะ ให้รีบเขียนจดหมายไปตามลูกของฉันกลับมา

   เสมียนส่งคนรับใช้ไป ได้พบภรรยาของโฆสกะ นางอ่านจดหมายแล้วถามอาการป่วยของเศรษฐี คนรับใช้บอกว่า

“ยังเดินได้ บริโภคอาหารได้”

นางจึงให้คนรับใช้พักที่บ้านหลังหนึ่งและห้ามไม่ให้กลับ ฝ่ายเศรษฐียังไม่เห็นโฆสกะกลับมา

จึงให้เสมียนจัดส่งคนใช้ไปอีกคน ภรรยานักวางแผนของโฆสกะ ก็ปฏิบัติเหมือนกับคนรับใช้คนแรก

กาลนั้น อาการป่วยของเศรษฐีหนักมากเข้าขั้นตรีทูตแน่แล้ว จึงบอกโฆสกะว่าพ่อท่านป่วยหนักต้องรีบกลับไปเยี่ยม เมื่อไปถึงแล้วขอให้เขานั่งทางปลายเท้าของเศรษฐีผู้เป็นบิดา

ส่วนนางจะนั่งทางศีรษะของบิดาท่าน
เมื่อเศรษฐีทราบว่าโฆสกะกลับมาแล้ว
ก็ลืมตากล่าวเบาๆว่า “ลูกพ่อมาแล้วหรือ”

พลางเรียกผู้รักษาสมบัติทั้งหมดให้เข้ามาแล้วถามว่า
      “ทรัพย์ของฉันมีอยู่เท่าไหร่”

ผู้รักษาทรัพย์สินเรียนว่า

“ท่านมีเงินอยู่ ๔๐ โกฏิ ที่บ้าน นา สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ มีอยู่เท่านี้ๆ”

เศรษฐีคิดจะพูดว่า

“ข้าไม่ให้ทรัพย์สมบัติแก่เจ้าโฆสกะ”
แต่กลับพูดว่า

“พ่อให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่เจ้าโฆสกะ”

  ภรรยาโฆสกะคิดว่า

“ถ้าพ่อพูดอีกครั้งหนึ่งอาจจะไม่พูดอย่างนี้” จึงทำกริยาว่าเศร้าโศกที่สุด กล่าวว่า

“คุณพ่อทำไมพูดอะไรอย่างนี้ เราไม่มีบุญที่จะได้พบคุณพ่อนานๆ”

พลางก้มลงทับตรงหน้าอกเศรษฐี แสดงอาการคร่ำครวญอยู่ เศรษฐีพูดอะไรไม่ได้ ตายในตอนนั้นพอดี

      เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบ ก็รับสั่งให้ฌาปนกิจศพในพระบรมราชานุเคราะห์ หลังจากนั้น ๓-๔ วัน ก็ให้นายโฆสกะเข้าเฝ้า

วันนั้นฝนตกมีน้ำขังที่พระลานหลวง พระราชาเห็นโฆสกะ เดินบ้าง กระโดดบ้าง วิ่งบ้าง เมื่อถึงท้องพระโรง พระราขาตรัสถามว่า

“เศรษฐีมีบุตรกี่คนและมอบทรัพย์สมบัติให้ใครบ้าง”

โฆสกะตอบว่า “เศรษฐีมีบุตรคนเดียว และมอบสมบัติให้ข้าพระองค์คนเดียว”
พระเจ้าอุเทนจึงตั้งให้โฆสกะเป็นเศรษฐี
ขณะเดินกลับ พระราชาเห็นโฆสกะเดินอย่างสำรวม เรียบร้อย ไม่วิ่ง ไม่กระโดด จึงแปลกใจ!

ตรัสถามว่า “เมื่อท่านมาสำนักเรา วิ่งบ้าง กระโดดบ้าง แต่ตอนขากลับ ท่านค่อยๆ เดินไป เพราะเหตุอะไร”

โฆสกะตอบว่า

“ตอนมาเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์นั้น ข้าพระองค์ยังเป็นเด็ก ถือเป็นเวลาเล่น เมื่อรับตำแหน่งแล้ว ต้องเดินอย่างเรียบร้อย จึงจะสมควรพระเจ้าข้า”

      พระราชดำริว่า “โฆสกะมีปัญญา เรื่องเท่านี้ก็รู้จักคิด” จึงมอบสรรพวัตถุ ๑๐๐ อย่างแก่เขา และตำแหน่งนี้จะต้องทำประทักษิณ พระนคร เพื่อแสดงเกียรติยศแก่ประชาชน

      ในวันที่เศรษฐีโฆสกะยืนอยู่บนรถทำประทักษิณพระนครนั้น ภรรยาของเขานั่งคุยกับนางกาลีคนใช้ว่า

“สมบัติที่เกิดแก่โฆสกะได้มาเพราะฉัน ครั้งหนึ่งโฆสกะถือจดหมายฆ่าตัวเองขอดชายผ้ามาที่บ้านของฉัน ฉันได้ฉีกจดหมายนั้นแล้วได้เขียนใหม่ให้มาสมรสกับฉัน”

      นางกาลีบอกว่า

“แม่เจ้ารู้เพียงเท่านี้ ! ฉันรู้มากกว่าว่า เศรษฐีพยายามฆ่าตั้งแต่เป็นทารกหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่ตาย เศรษฐีผู้เคืองแค้นที่ตนไม่สมปรารถนา ต้องเสียทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก ที่ซื้อตัวเขากลับมา”

      ภรรยาโฆสกะว่า

“เศรษฐีทำกรรมหนักหนอ !”

      เมื่อโฆสกะเสร็จธุระกลับมาสู่เรือน เห็นภรรยานั่งยิ้มอยู่ที่ชานเรือน จึงถามว่า

“น้องยิ้มเพราะอะไร”

  ภรรยา “พี่ ! สมบัติที่อวดชาวพระนครนี้ได้มาเพราะฉัน ไม่ใช่คุณพ่อยกให้พี่ ไม่เชื่อก็ถามพี่กาลีดูเถิด”

  นางกาลีกล่าวว่า เดิมทีไปซื้อท่านมาจากคนที่เก็บท่านได้จากกองขยะหยากเยื่อ เศรษฐีพยายามฆ่าท่าน

ครั้งที่ ๑ ให้พี่เอาไปทิ้งที่ปากคอกโค โคก็ไม่เหยียบ

  ครั้งที่ ๒ ให้พี่เอาไปทิ้งที่ทางเกวียน โคก็ไม่เหยียบ

  ครั้งที่ ๓ ให้พี่เอาไปทิ้งป่าช้าอันลี้ลับน่ากลัว ผีดิบแร้งกาก็ไม่ทำร้าย

  ครั้งที่ ๔ ให้พี่เอาไปทิ้งที่หน้าผาอันสูงใหญ่ เป็นที่ทิ้งโจร ท่านก็ไม่ตาย

  ครั้งที่ ๕ ให้พี่ไปที่บ้านช่างหม้อเพื่อให้เขาฆ่า ท่านก็ยังรอดมาได้

  ครั้งที่ ๖ ให้หนังสือฆ่าท่านส่งไปที่บ้านส่วย ภรรยาของท่านพบเข้า กลับเขียนจดหมายใหม่ให้มาสมรสกับเธอ รวมทั้งที่เขานำไปทิ้งที่กองขยะ

รวม ๗ ครั้ง ท่านก็ยังไม่ตาย และยังกลับมาได้ตำแหน่งเศรษฐีอันทรงเกียรติ”

โฆสกะได้ฟังเรื่องราวชีวิตเสี่ยงอันตรายของตนตลอด รู้สึกสลดใจอย่างยิ่ง ! นึกไม่ถึงว่าจะเป็นเช่นนี้

เราทำกรรมหนักหนอจึงมีผู้คิดฆ่าถึง ๗ ครั้ง แต่เรารอดมาได้

คงจะเป็นกุศลที่รักษาไว้ จึงตั้งโรงทานแก่คนยากจน สร้างวัดในเมืองโกสัมพี
ชื่อว่า “โฆสิตาราม”

ถวายแด่พระสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เพื่อให้อโหสิกรรมแก่ตน และตั้งใจจะเลิกทำบาปโดยเด็ดขาด

…………………………………………………………………………

บุญเหมือนน้ำชุ่มเย็น กรรมเหมือนไฟเผาใจให้มอดดำ

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ