มิคารเศรษฐีขอโทษลูกสะใภ้

มิคารเศรษฐีขอโทษลูกสะใภ้
เมื่อกุฏุมพีทั้งหลาย พูดอย่างนั้นแล้ว นางวิสาขาได้พูดว่า

“พ่อทั้งหลาย การที่ดิฉันไปก่อนตามคำของพ่อผัว ไม่สมควรเลย ก็จริง แต่ในเวลาจะมา

คุณพ่อของดิฉัน ได้มอบดิฉันไว้ในมือของพวกท่าน เพื่อต้องการชำระโทษของดิฉัน

ก็ความที่ดิฉันไม่มีโทษ ท่านทั้งหลายทราบแล้ว บัดนี้ ดิฉันควรไปได้”

นางพูดดังนี้แล้ว จึงสั่งคนใช้หญิงชายทั้งหลายว่า

“พวกเจ้าจงให้ช่วยกันจัดแจงพาหนะให้กับเราด้วย.”

ทีนั้นเศรษฐียึดกุฎุมพีเหล่านั้นไว้
แล้วกล่าวกะนางว่า

“แม่ ฉันไม่รู้ พูดไปแล้ว ยกโทษให้ฉันเถิด.”

วิสาขา : คุณพ่อ ดิฉันยกโทษที่ควรยกให้แก่คุณพ่อได้โดยแท้ แต่ดิฉันเป็นธิดาของตระกูลผู้มีความเลื่อมใสอันไม่ง่อนแง่น ในพระพุทธศาสนา
มิคารเศรษฐีฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

นางวิสาขา ให้คนไปทูลนิมนต์พระทศพล แล้วเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่นิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น

ฝ่ายพวกสมณะเปลือย เมื่อรู้ว่าพระศาสดาเสด็จไปยังเรือนของมิคารเศรษฐี จึงไปนั่งล้อมเรือนไว้

ฝ่ายนางวิสาขาเมื่อถวายน้ำทักษิโณทกแล้วก็ส่งข่าวไปยังมิคารเศรษฐีว่า

“ดิฉันตกแต่งเครื่องสักการะทั้งปวงไว้แล้ว เชิญพ่อผัวของดิฉันมาอังคาสพระทศพลเถิด.”

ครั้งนั้น พวกอาชีวกห้ามมิคารเศรษฐีผู้อยากจะมาว่า

“คฤหบดี ท่านอย่าไปสู่สำนักของพระสมณโคดมเลย.”

เศรษฐี ส่งข่าวไปว่า
“สะใภ้ของฉัน จงอังคาสเองเถิด.”

นางวิสาขาจึงอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ได้ส่งข่าวไปอีกว่า

“เชิญพ่อผัวของดิฉัน มาฟังธรรมกถาเถิด.”

เศรษฐีนั้นคิดว่า การไม่ไปคราวนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง และเพราะความที่ตนอยากฟังธรรมด้วย จึงออกเดินทางไปยังเรือนของสะใภ้

ครานั้น พวกอาชีวกเห็นว่าห้ามมิคารเศรษฐีไว้ไม่ได้แล้ว จึงกล่าวกะเศรษฐีที่กำลังจะออกเดินทางว่า

“ถ้ากระนั้น ท่านเมื่อฟังธรรมของพระสมณโคดม จงนั่งฟังภายนอกม่าน”

ดังนี้ แล้วจึงรีบล่วงหน้าไปก่อนเศรษฐีนั้น แล้วก็ไปจัดแจงกั้นม่านไว้เพื่อให้เศรษฐีนั้นนั่งภายนอกม่านที่ตนกั้นไว้นั้น

เศรษฐีเมื่อไปถึงก็นั่งอยู่ภายนอกม่าน.

พระศาสดา ตรัสว่า

“ท่านจะนั่งนอกม่านก็ตาม ที่ฝาเรือนคนอื่นก็ตาม ฟากภูเขาหินโน้นก็ตาม ฟากจักรวาลโน้นก็ตาม เราชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมอาจจะให้ท่านได้ยินเสียงของเราได้”

ดังนี้แล้ว ทรงเริ่มอนุปุพพิกถาเพื่อแสดงธรรม
ดุจจับต้นหว้าใหญ่สั่น และดุจยังฝนคืออมตธรรมให้ตกอยู่.

ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมอยู่ ชนผู้ยื่นอยู่ข้างหน้าก็ตาม ข้างหลังก็ตาม อยู่เลยร้อยจักรวาล พันจักรวาลก็ตาม อยู่ในภพอกนิษฐ์ก็ตาม ย่อมกล่าวกันว่า

“พระศาสดา ย่อมทอดพระเนตรดูเราคนเดียว ทรงแสดงธรรมโปรดเราคนเดียว ”

แท้จริง พระศาสดาเป็นดุจทอดพระเนตรดูชนนั้น ๆ และเป็นดุจตรัสกับคนนั้น ๆ .โดยเจาะจง

นัยว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อุปมาดังพระจันทร์ ย่อมปรากฏเหมือนประทับยืนอยู่ตรงหน้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย

ผู้ยืนอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเหมือนพระจันทร์ลอยอยู่แล้วในกลางหาว ย่อมปรากฏแก่ปวงสัตว์ว่า

“พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา”

ฉะนั้น.ได้ยินว่า นี้เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทรงตัดพระเศียรที่ประดับแล้ว
ทรงควักพระเนตรที่หยอดดีแล้ว
ทรงชำแหละเนื้อหทัยแล้ว
ทรงบริจาคโอรสเช่นกับพระชาลี
ธิดาเช่นกับนางกัณหาชินา
ปชาบดีเช่นกับนางมัทรี ให้แล้ว
เพื่อเป็นทาสของผู้อื่น.

ได้นามว่ามิคารมารดา

ฝ่ายมิคารเศรษฐี เมื่อพระตถาคตทรงเปลี่ยนแปลงยักย้ายธรรมเทศนาอยู่ นั่งอยู่ภายนอกม่านนั่นเอง ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล

อันประดับด้วยพันนัย ประกอบด้วยอจลศรัทธาเป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ ยกชายม่านขึ้นแล้ว แล้วตั้งนางไว้ในตำแหน่งมารดาโดยการกล่าวว่า

“เจ้าจงเป็นมารดาของฉัน ตั้งแต่วันนี้ไป.”

วันนั้น นางวิสาขาได้ชื่อว่ามิคารมารดาแล้ว ภายหลังได้บุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า “มิคาระ.”

มหาเศรษฐีหลังจากประกาศยกย่องหญิงสะใภ้แล้วก็ไปหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า นวดฟั้นพระบาทด้วยมือ และจุมพิตด้วยปากและประกาศชื่อ ๓ ครั้งว่า

“ข้าพระองค์ชื่อมิคาระ พระเจ้าข้า” 

ดังนี้เป็นต้นแล้ว กราบทูลว่า

“พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ทราบ 

ตลอดกาลเพียงเท่านี้ ท่านที่บุคคลให้แล้วในศาสนานี้ มีผลมาก ข้าพระองค์ทราบผลแห่งทานในบัดนี้

ก็เพราะอาศัยหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทุกข์ทั้งปวง เมื่อหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์มาสู่เรือนี้

ก็มาแล้วเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์”
ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า :-

“ข้าพระองค์นั้น ย่อมรู้ทั่วถึงทานที่บุคคลให้
แล้ว ในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมากในวันนี้
หญิงสะใภ้คนดีของข้าพระองค์มาสู่เรือน เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ.”

นางวิสาขา ทูลนิมนต์พระศาสดาเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น.และในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง แม่ผัวของนางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

จำเดิมแต่กาลนั้น เรือนหลังนั้น ได้เปิดประตูแล้วเพื่อพระศาสนา

มิคารเศรษฐีทำเครื่องประดับให้ลูกสะใภ้
ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า

“สะใภ้ของเรามีอุปการะมาก เราจักทำบรรณาการให้แก่นาง เพราะเครื่องประดับของสะใภ้นั้นหนัก ไม่อาจเพื่อประดับตลอดกาลเป็นนิตย์ได้ เราจักให้ช่างทำเครื่องประดับอย่างเบา ๆ แก่นาง ควรแก่การประดับในทุกอิริยาบถ ทั้งในกลางวันและกลางคืน”

ดังนี้แล้ว จึงให้ช่างทำเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะอันมีราคาแสนหนึ่ง เมื่อเครื่องประดับนั้นเสร็จแล้ว

นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้ฉัน โดยความเคารพแล้ว ให้นางวิสาขาอาบน้ำด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ

ให้ยืนถวายบังคมพระศาสดา ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาแล้ว พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้ว เสด็จไปสู่วิหารตามเดิม.

นางวิสาขามีกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก

นับแต่นั้น นางวิสาขาก็ได้ทำบุญมีทานเป็นต้นอยู่ ได้พร ๘ ประการ จากสำนักพระศาสดา

ปรากฏประหนึ่งจันทเลขา (วงจันทร์) ในกลางหาว ถึงความเจริญด้วยบุตรและธิดาแล้ว ได้ทราบมาว่า
นางมีบุตร ๑๐ คน มีธิดา ๑๐ คน
บรรดาบุตร (ชายหญิง)เหล่านั้น คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน
มีธิดาคนละ ๑๐ คน
บรรดาหลานเหล่านั้น
คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน
มีธิดาคนละ ๑๐ คน จำนวนคน
ได้มีตั้ง ๘,๔๒๐ คน

เป็นไปด้วยสามารถแห่งความสืบเนื่องแห่งบุตรหลานและเหลน ของนางวิสาขานั้น อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

นางวิสาขาเอง ก็ได้มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี แม้กระนั้นชื่อว่าผมหงอกบนศีรษะแม้เส้นหนึ่งก็ไม่มี นางได้เป็นประหนึ่งเด็กหญิงรุ่นอายุราว ๑๖ ปี เป็นนิตย์

ชนทั้งหลาย เห็นนางมีบุตรและหลานเป็นบริวารเดินไปวิหาร ย่อมถามกันว่า
“ในหญิงเหล่านี้ คนไหน นางวิสาขา”

ชนผู้เห็นนางเดินไปอยู่ย่อมคิดว่า
‘บัดนี้ขอนางจงเดินไปหน่อยเถิด แม่เจ้าของเราเดินไปอยู่เทียว ย่อมงาม.”

ชนที่เห็นนางยืน หรือนั่ง หรือนอน ก็ย่อมคิดว่า

“บัดนี้ จงยืน หรือ จงนั่ง หรือ จงนอนหน่อยเถิด แม่เจ้าของเรายืนแล้ว นั่งแล้ว หรือ นอนแล้วแล ย่อมงาม.”

นางได้เป็นผู้มีชื่อว่างามในทุกอิริยาบถ ด้วยประการฉะนี้

ก็นางวิสาขานั้น ย่อมทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก พระราชาเมื่อทรงสดับว่า นางวิสาขา ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก

จึงมีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง ในเวลานางไปวิหารฟังธรรมแล้วกลับมา พระราชาจึงรับสั่งให้ปล่อยช้างไป

ช้างนั้นชูงวง ได้วิ่งรี่เข้าไปใส่นางวิสาขาแล้ว หญิงบริวารของนาง ๕๐๐ บางพวกวิ่งหนีไป บางพวกไม่ละนาง เมื่อนางวิสาขาถามว่า “เกิดอะไรกันนี่”

พวกหญิงบริวารจึงบอกว่า
“แม่เจ้า ได้ทราบว่า พระราชาทรงประสงค์จะทดลองกำลังแม่เจ้า จึงรับสั่งให้ปล่อยช้าง.”

นางวิสาขา คิดว่า

“จะมีประโยชน์อะไร ที่เราเห็นช้างนี้แล้ววิ่งหนีไป เราจะจับช้างนั้นอย่างไรหนอแล”

นางจึงคิดว่า
“ถ้าเราจับช้างนั้นอย่างมั่นคง ช้างนั้นจะพึงฉิบหาย”

ดังนี้แล้ว จึงเอานิ้ว ๒ นิ้ว จับงวงแล้วผลักไป ช้างไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ได้ซวนล้มลงที่พระลานหลวงแล้ว มหาชนได้สาธุการ

นางพร้อมกับบริวารได้กลับเรือนโดยสวัสดีแล้ว.

อานิสงส์ของอุโบสถศีล

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรวิสาขา อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

ดูกรวิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว

เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้

เพราะฉะนั้นแหละ หญิงหรือชายผู้มีศีล เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว กระทำบุญมีสุขเป็นกำไร ไม่มีใครติเตียน ย่อมเข้าถึงสวรรค์ ฯ

ทุกข์เพราะความรัก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล หลานผู้เป็นที่รักที่พอใจของนางวิสาขามิคารมารดาได้สิ้นชีวิตลง ได้ยินว่า เด็กหญิงนั้นสมบูรณ์ด้วยวัตร เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา

เป็นผู้ไม่ประมาท ได้กระทำการขวนขวายที่ตนจะพึงทำแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายผู้เข้าไปยังบ้านของอุบาสิกา ทั้งเวลาก่อนอาหารและหลังอาหาร ปฏิบัติคล้อยตามใจของยายตน

ด้วยเหตุนั้น มหาอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา เมื่อออกจากเรือนไปข้างนอก ได้มอบหน้าที่ทั้งหมดแก่เด็กหญิงนั้นนั่นแล แล้วจึงไป และเธอก็มีรูปร่างน่าชมน่าเลื่อมใส ดังนั้น

เธอจึงเป็นที่รักที่ชอบใจโดยพิเศษของวิสาขามหาอุบาสิกา เธอถูกโรคครอบงำจึงถึงแก่กรรม.

ลำดับนั้น มหาอุบาสิกาเมื่อไม่อาจจะอดกลั้นความโศก เพราะการตายของหลานได้ จึงเป็นทุกข์เสียใจ ให้คนเอาศพไปเก็บไว้แล้ว

ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมารดามีผ้าเปียก ผมเปียกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยง ด้วยคิดว่า ไฉนหนอในเวลาเราไปเฝ้าพระศาสดาจะพึงได้ความยินดีแห่งจิต

ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า

เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง นางวิสาขากราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละเสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียกมีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง เจ้าค่ะ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบว่า นางวิสาขายินดียิ่งในวัฏฏะ เพื่อจะทรงทำความเศร้าโศกของเธอให้เบาบางลงด้วยอุบาย จึงตรัส

ดูกรนางวิสาขา ท่านปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ 

วิสาขา : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ ฯ

พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ที่ตายลงทุกวันๆ

วิสาขา : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง๑ คนบ้าง ตายลงทุกวันๆ

พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ ฯ

อุบาสิกาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเกิดความสังเวช ปฏิเสธว่า

วิสาขา : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นสำหรับหม่อมฉัน ฯ

พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐
ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐
ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑
ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก
ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์

เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี
มากมายหลายอย่างนี้ มีอยู่ในโลก

เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก

ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี