นางวิสาขาสร้างบุพพาราม

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี
มากมายหลายอย่างนี้ มีอยู่ในโลก

เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก

ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี

เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ

ลืมเครื่องประดับ

ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา
มีบุตรมาก มีหลานมาก มีบุตรหาโรคมิได้

มีหลานหาโรคมิได้ ถือกันว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งในกรุงสาวัตถี

บรรดาบุตรหลานตั้งพันนั้น จะมีแม้สักคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า ถึงความตายในระหว่างวัยอันไม่สมควร มิได้มีแล้ว

ในงานมหรสพที่เป็นมงคล ชาวกรุงสาวัตถี จึงมักอัญเชิญนางวิสาขาให้บริโภคก่อน

ต่อมา ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อมหาชนแต่งตัวไปวิหารเพื่อฟังธรรม แม้นางวิสาขา บริโภคในที่ที่เขาเชิญแล้ว

ก็แต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ ไปวิหารกับด้วยมหาชน
ได้ยินว่า นางวิสาขานั้น เมื่อกำลังเดินไปวิหาร

นางคิดว่า
“การที่เราสวมเครื่องประดับมีค่ามากเห็นปานนั้นไว้บนศีรษะแล้วประดับอลังการจนถึงหลังเท้า เข้าไปสู่วิหาร นั้นเป็นการไม่สมควร

วิสาขา เก็บเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะ ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา

สดับธรรมแล้วในที่สุดการสดับธรรม
นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว

ฝ่ายหญิงคนใช้นั้นของนางลืมเครื่องประดับนั้นแล้ว ก็เมื่อบริษัทฟังธรรมหลีกไปแล้ว

ถ้าใครลืมของอะไรไว้ พระอานนทเถระย่อมเก็บงำของนั้น เพราะเหตุดังนี้ในวันนั้น
ท่านเห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์แล้วจึงทูลแด่พระศาสดาว่า

“นางวิสาขา ลืมเครื่องประดับไว้ แล้วกลับไปแล้ว พระเจ้าข้า.”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

“จงเก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่งเถิด อานนท์.”

พระเถระจึงยกเครื่องประดับนั้น เก็บคล้องไว้ข้างบันได

นางวิสาขาตรวจบริเวณวัด

ฝ่ายนางวิสาขา เที่ยวเดินไปภายในวิหาร กับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า

“จักดูสิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุผู้เตรียมตัวจะไป และภิกษุไข้เป็นต้น.”

ก็โดยปกติแล ภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ต้องการด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำมันเป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้นในภายในวิหารแล้ว

ย่อมถือภาชนะมีถาดเป็นต้น เดินเข้าไปหาอุบาสิกาเหล่านั้น ถึงในวันนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรก็ทำแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายนางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้แล้วก็ออกโดยประตูอื่น ยืนอยู่ที่อุปจารวิหารแล้ว พูดว่า

“แม่ จงเอาเครื่องประดับมา ฉันจักแต่ง.”

ในขณะนั้นหญิงคนใช้นั้นก็รู้ว่าตนลืมแล้ว
ออกมา จึงตอบว่า
“ดิฉันลืม แม่เจ้า.”
นางวิสาขา กล่าวว่า

“ถ้ากระนั้น จงไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น เจ้าอย่าเอามา ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั่นแล.”

นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่าพระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่พวกพุทธบริษัทลืมไว้ เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น.

ซื้อที่สร้างวัด

ฝ่ายพระเถระ พอเห็นนางคนใช้นั้น ก็ถามว่า
“เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร”

เมื่อหญิงคนใช้นั่นตอบว่า

“ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉัน จึงได้มา ”

พระอานนทเถระจึงกล่าวว่า

“ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น เจ้าจงเอาไป.”
หญิงคนใช้นั้นตอบว่า

“พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉัน สั่งมิให้นำเอาไป”

เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว กลับไปมือเปล่าแล้วแจ้งเนื้อความนั้นแก่นางวิสาขา

นางวิสาขา กล่าวว่า

“แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว ฉันบริจาคแล้ว แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ เป็นการลำบาก

ฉันจำหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้วจักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไป เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา.”

หญิงคนใช้นั้นไปนำเอามาแล้ว

นางวิสาขา ไม่แต่งเครื่องประดับนั้น สั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา เมื่อพวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า

“มีราคาถึง ๖ โกฏิ แต่สำหรับค่ากำเหน็จต้องถึงแสน ”

นางจึงวางเครื่องประดับไว้บนยานแล้วกล่าวว่า

“ถ้ากระนั้น พวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น.”

แต่เมื่อนำเครื่องประดับนั้นออกขายก็ไม่มีใครสามารถให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นได้ เพราะหญิงผู้สมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก

แท้จริง หญิง ๓ คนเท่านั้น ในปฐพีมณฑล ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ
นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑
นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลเสนาบดี ๑ ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑

เพราะฉะนั้น นางวิสาขา จึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า

“พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว

นับแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้ แต่หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า

จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา แต่ก็ไม่มีผู้อื่นจะสามารถรับไว้ได้

หม่อมฉันจึงให้รับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองมาแล้ว หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า”

พระศาสดา ตรัสว่า

“เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา.”

นางวิสาขา ทูลรับว่า “สมควรพระเจ้าข้า”

มีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิที่เป็นค่าเครื่องประดับนั้นซื้อเฉพาะที่ดิน

นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๙ โกฏิด้วยทรัพย์ของตนอีกต่างหาก

สร้างวัดเสร็จในเวลา ๙ เดือน

ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่งได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่า

ภัททิยะผู้จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิตเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังประตูด้านทิศอุดร.

ตามปกติ พระศาสดาทรงรับภิกษุในเรือนของนางวิสาขาแล้ว ก็เสด็จออกจากประตูทักษิณ

ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงรับภิกษาในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านปราจีนประทับอยู่ในบุพพาราม

ชนทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดำเนินมุ่งตรงประตูด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า “จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก.”

ในวันนั้น พอนางวิสาขาทราบว่า

“พระศาสดา เสด็จดำเนินบ่ายพระพักตร์ไปทางประตูด้านทิศอุดร”
จึงรีบไป ถวายบังคมแล้วทราบทูลว่า

“ทรงประสงค์จะเสด็จดำเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระเจ้าข้า”
พระศาสดา : อย่างนั้น วิสาขา.

วิสาขา : พระเจ้าข้า หม่อมฉันบริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระองค์ โปรดเสด็จกลับเถิด พระเจ้าข้า.

พระศาสดา : นี้ เป็นการไป ยังไม่กลับ วิสาขา.

นางวิสาขานั้น คิดว่า
“พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเห็นใคร ๆ ผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ เป็นแน่.”

จึงกราบทูลว่า

“ถ้ากระนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เข้าใจการงานของหม่อมฉัน กลับ แล้วจึงเสด็จจาริกเถิด พระเจ้าข้า.”

พระศาสดา : เธอพอใจภิกษุรูปใด จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา.

แม้นางจะพึงใจพระอานนทเถระก็จริง แต่คิดว่า

“พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ การงานของเราจักพลันสำเร็จ ก็เพราะอาศัยพระเถระนั้น”

ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระเถระไว้ พระเถระแลดูพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า

“โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับเถิด.”

ท่านได้ทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว ด้วยอานุภาพของท่าน พวกมนุษย์ผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหินระยะทางแม้ตั้ง ๕๐–๖๐ โยชน์

ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาทันในวันนั้นนั่นเอง แม้ยกไม้และหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบากเลย เพลาเกวียนก็ไม่หัก

ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง

พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือนแล้วจึงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี แม้การงานในปราสาทของนางวิสาขา ก็สำเร็จโดย ๙ เดือนเหมือนกัน.

นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล นางได้ยินว่า

“พระศาสดา เสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร” 

จึงทำการต้อนรับนำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว  รับปฏิญญาว่า

“พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันจัดทำการฉลองปราสาท.”

พระศาสดาทรงรับแล้ว

ทำบุญฉลองวัดบุพพาราม
นับแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้น ย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล


ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ