ประวัติโฆสกเศรษฐี

ประวัติโฆสกเศรษฐี

นายโกตุหลิกะทิ้งลูกตอนที่๑

เมื่อเกิดอหิวาตกโรค

ใน “แคว้นอัลลปกัปปะ”

ชายผู้หนึ่งชื่อว่า “โกตุหลิกะ” จึงปรึกษาภรรยาผู้มีบุตรอ่อนชื่อ “นางกาลี”
ว่า “เราอย่าอยู่ในที่นี้เลย”

จึงเตรียมเสบียงอาหารเดินทาง
ไปเมืองโกสัมพี

ต่อมาเสบียงหมด เพราะเดินทางลำบาก
จนผัวบอกกับเมียว่า

“ลูกเรานี้ทิ้งเสียเถิด เรามีชีวิตอยู่ก็จะมีลูกอีกได้”

เมียกล่าวว่า
“ไม่อาจทิ้งได้ ลูกเหมือนดวงใจฉัน
เราจะเปลี่ยนกันอุ้มไปเถิด”

เวลาเมียอุ้ม ได้กอดลูกไว้กับอกประคับประคองเหมือนพวงดอกไม้ 

เมื่อผัวอุ้มก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก ขณะที่เมียเผลอจึงวางลูกไว้บนใบไม้ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง

พอเมียรู้เข้าจึงวิ่งกลับไปทันทีด้วยความห่วงลูกอย่างสุดซึ้ง

เมื่อมาถึงปรากฏว่าลูกได้ตายเสียแล้ว ด้วยความเหนื่อยอ่อน

เมียร้องไห้คิดถึงลูกด้วยความรักสงสารอย่างจับใจประดุจว่าน้ำตาจะเป็นสายเลือด ผัวพูดปลอบโยนเมียว่า

“เธออย่าร้องไห้เลย  ทำอย่างไรลูกก็ไม่ฟื้น เราเดินทางต่อไปเถิด! เรามีชีวิตอยู่ก็จะมีลูกอีก” 

คนพาลคิดเพียงเท่านั้น

เมื่อเดินทางถึงเมืองโกสัมพี นายโคบาลกำลังทำมงคลแก่โคของเขา โดยนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันอาหาร สองผัวเมียได้เข้าไปบ้านนี้คิดว่า

“เมื่อเขาทำบุญแล้วก็คงจะทำทานบ้าง?”

 เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันข้าวมธุปายาสเรียบร้อยและกล่าวอนุโมทนาแล้ว นายโคบาลก็รับประทานข้าวมธุปายาส

และให้ข้าวมธุปายาสแก่สุนัขตัวเมียตัวหนึ่งของเขาที่นอนอยู่ใต้ตั่ง นายโกตุหลิกะเห็นดังนั้นก็นึกในใจว่า

“สุนัขตัวนี้มีวาสนาดีหนอ! มันได้กินข้าวมธุปายาสอย่างเอร็ดอร่อยและอยู่บนบ้านอย่างสบาย เราเป็นคนแต่กลับหิวโหยเหลือเกิน! ยังไม่ได้กินข้าวมธุปายาสเหมือนสุนัขตัวนี้”

นายโคบาลเมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็จัดข้าวมธุปายาสให้แก่สองผัวเมียจำนวนมาก เพราะเห็นว่ากำลังหิวโหย นางกาลีรับประทานข้าวมธุปายาสพอสมควร

แบ่งให้ผัวรับประทานมาก เพราะเห็นว่าหิวมาหลายวัน นายโกตุหลิกะทานอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย ก็สิ้นใจตายในคืนวันนั้น

ด้วยจิตจดจ่อว่าสุนัขตัวนี้ดีนะได้อยู่อย่างสบาย จึงไปปฏิสนธิในท้องสุนัขตัวนั้น

นางกาลีเผาศพของสามี แล้วรับจ้างทำงานที่บ้านนายโคบาล ได้ข้าวสารและกับข้าวพอสมควร จึงได้หุงข้าวถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วอุทิศส่วนกุศลให้สามี นางคิดว่า

“บ้านนี้มีพระมาทุกวัน เรารับจ้างทำงานที่บ้านนี้ได้ค่าจ้างแล้ว จะได้ถวายอาหารแก่พระปัจเจกพุทะเจ้าและจะได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่สามี”

คิดเช่นนี้แล้ว นางจึงได้ตัดสินใจรับจ้างทำงานที่บ้านนี้ตลอดมา

สุนัขตัวนั้นออกลูกเป็นตัวผู้ตัวเดียว
นายโคบาลรักมากให้กินนมของแม่มันแล้วยังให้กินนมโคอีก

พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้ามาฉันอาหารที่บ้าน
ก็ให้ข้าวมันปั้นหนึ่ง มันโตเร็วมากและ

รักพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก มันจะตามนายโคบาลที่ออกไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่บรรณศาลาทุกวัน มันจะนอนหมอบใกล้ๆ กระดิกหาง

ฟังนายโคบาลคุยกับพระปัจเจกพุทธเจ้า เหมือนกับรู้ภาษามนุษย์

วันหนึ่ง นายโคบาลไม่มีเวลาว่าง จึงให้มันไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้ามาที่บ้าน มันรีบวิ่งไปโดยเร็ว พอถึงบรรณศาลามันเห่าอยู่หน้าบรรณศาลา

พระปัจเจกพุทธเจ้าออกมาดูนึกว่านายโคบาลมาหา เห็นแต่สุนัข ท่านก็กลับเข้ากุฏิ มันยิ่งเห่าใหญ่

พระปัจเจกพุทธเจ้าคิดว่า

“นายโคบาลคงให้มันมาตาม”

จึงห่มจีวร มันดีใจมากทำท่าวิ่งกลับ ท่านเดินตามมันไป ท่านคิดว่า

“นายโคบาลให้มาตามเราจริงไหมหนอ?”

ท่านจึงทดลองเดินแยกไปทางอื่น ไม่ไปทางบ้านของนายโคบาล แต่สุนัขกลับไปยืนขวางหน้าเห่าไม่ยอมให้ท่านไปทางนั้น 

เมื่อท่านเดินต่อมันก็คาบจีวรดึงกลับมา ท่านจึงเดินตามมัน มันมีท่าทางดีใจมาก รีบวิ่งออกหน้ามาถึงบ้าน

นายโคบาลออกมาต้อนรับ ปูอาสนะให้ท่านนั่งแล้วกล่าวว่า

“ได้การละ! ผมให้มันไปนิมนต์ท่าน มันไปนิมนต์ได้มาแล้ว วันต่อไปถ้าผมไม่มีเวลาไปหาท่าน ผมก็จะให้มันไปนิมนต์ท่าน”

กาลต่อมา พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้พ้นทุกข์ภัยทั้งปวง บอกนายโคบาลว่า

“จีวรเก่าแล้วต้องทำจีวรใหม่”

ซึ่งท่านไม่อาจทำคนเดียวได้ จึงต้องไปทำที่ภูเขาคันธมาทน์

สุนัขฟังนายโคบาลคุยกับพระปัจเจกพุทธเจ้า และมันรู้ว่าท่านจะจากมันไป มันอาลัยนัก! คอยดูอยู่ว่าท่านจะไปเมื่อไร?

วันหนึ่ง เมื่อท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นายโคบาลได้ถวายผ้าขาวพับหนึ่งเพื่อทำจีวร เมื่อท่านรับแล้วก็ลานายโคบาล 

เดินออกจากบ้านเหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์สุนัขแลดูท่านแล้วก็หอนด้วยความอาลัยรักอย่างยิ่ง! พอท่านลับสายตา

มันก็ขาดใจตายด้วยความรักและความอาลัยในพระเมตตาของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก

เนื่องจากจิตเป็นกุศล จึงได้เกิดเป็นเทพบุตรชั้นดาวดึงส์ มีนางเทพอัปสร ๑ พันเป็นบริวาร ได้เสวยสมบัติใหญ่ เพราะเป็นสัตว์ที่ซื่อตรง เทพบุตรกระซิบเบาๆ เสียงดังไป ๑๖ โยชน์

ถ้าพูดธรรมดาเสียงจะกลบเทพนครทั้งสิ้น ด้วยอานิสงส์การเห่าพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความรัก เทพบุตรตนนี้จึงได้ชื่อว่า

“โฆสกเทพบุตร”

เขาเสวยทิพยสมบัติได้ไม่นาน ก็จุติเพราะความสิ้นไปของกุศลได้ไปเกิดในท้องของหญิงโสเภณีในนครโกสัมพี

ขอย้อนมากล่าวถึงนางกาลี ภรรยาของนายโกตุหลิกะ ได้ถวายทานแก่พระอริยะบุคคลพระปัจเจกพุทธเจ้าเสมอ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ เมื่อสิ้นอายุแล้ว เกิดเป็นลูกสาวเศรษฐีในชนบทเมืองโกสัมพี

ถูกทิ้งครั้งที่ ๑
หญิงโสเภณีที่โฆสกเทพบุตรมาปฏิสนธิ ได้คลอดลูกชายในเวลากลางคืน แล้วถูกนำไปทิ้งที่กองขยะเพราะ

“ธรรมดาของหญิงโสเภณีจะไม่เลี้ยงลูกชาย”

สุนัขบ้าง? กาบ้าง? ไม่เข้ามาทำอันตรายทารก เพราะอานิสงส์ที่เขารัก ในพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงธรรมอันเลิศสุดประเสริฐ

หญิงคนหนึ่งไม่มีลูก เห็นทารกในกองขยะคิดว่า

“ใครหนอเอาทารกมาทิ้ง? คงจะเกิดเมื่อคืนนี้เอง! เป็นผู้ชายด้วย”

จึงเกิดความรักเหมือนลูกและนำไปเลี้ยงไว้
วันนั้น

เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพีเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงโกสัมพีแต่เช้า พบปุโรหิตจึงถามว่า

“ท่านอาจารย์ได้ตรวจดาวที่จะให้เกิดเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายแล้วหรือ?”

ปุโรหิตกล่าวว่า

“สิ่งอื่นนั้นไม่มีท่านมหาเศรษฐี แต่เด็กที่ได้มาเกิดเมื่อคืนนี้ จะได้เป็นเศรษฐีในเมืองนี้”

ขณะนั้นภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่ สงสัยว่าภรรยาของเราคลอดเมื่อคืนนี้หรือเปล่า?

จึงให้คนใช้ไปบ้านดูก็รู้ว่ายังไม่คลอด เศรษฐีร้อนใจมาก! สงสัยว่าใครจะมาเป็นเศรษฐีแทนลูกของเรา?

จึงให้คนใช้ชื่อกาลีมาหา และให้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปนะแล้วสั่งว่า

“เธอจงไปนำเด็กที่เกิดเมื่อคืนนี้มา”

นางกาลีถามหาจนพบทารกที่กองขยะ จึงขอซื้อเด็กมาให้เศรษฐี เขาเห็นเด็กหน้าตาดี ผิวพรรณดี คิดว่า

“ถ้าลูกของเราเกิดเป็นหญิงจะให้แต่งงานกับผัวเป็นเศรษฐี เมียก็เป็นเศรษฐีเหมือนกัน ไม่มีปัญหา ถ้าลูกเราเกิดเป็นชายจะต้องฆ่าเด็กคน

นี้เสีย! เพราะเด็กจะแย่งตำแหน่งเศรษฐีลูกของเรา!” จึงเลี้ยงเด็กคนนั้นไว้ก่อน

ถูกทิ้งครั้งที่ ๒

ต่อมาลูกของเศรษฐีคลอดมาเป็นผู้ชาย จึงสั่งนางกาลีว่า

“ให้นำเด็กนี้ไปนอนไว้ที่ปากคอกโค ที่บ้านคนที่เขาเลี้ยงโคจำนวนร้อยๆ เจตนามุ่งหมายอย่างแรงกล้า เพื่อให้โคเหยียบเด็กคนนี้ให้ตายเสีย แล้วให้ดูจนรู้ว่าเด็กคนนี้ตายหรือไม่?”

นางกาลีทำตามคำสั่งทุกประการ

พอนายโคบาลเปิดประตู โดยปกติ
โคอสุภะ ซึ่งเป็นนายฝูงจะออกภายหลัง แต่กลับออกก่อนโคอื่นๆ ทั้งหมด ได้ยืนคร่อมเด็กทารกไว้ !

โคทั้งหลายได้เบียดเสียดโคอสุภะออกไป นายโคบาลคิดว่าวันนี้โคอสุภะออกก่อนและยืนนิ่งอยู่ที่ประตูคอก

มีเหตุอะไรหนอ? จึงเดินไปดูเห็นทารกนอนอยู่ มีความรักเหมือนลูก คิดว่าเราได้ลูกชายแล้วนำไปเลี้ยงไว้

ถูกทิ้งครั้งที่ ๓
นางกาลีกลับมาบอกเศรษฐีว่า เด็กยังไม่ตาย นายโคบาลผู้รักเด็กทารกได้นำไปเลี้ยง เขาจึงให้เงินไปซื้อเด็กกลับมาอีก
เศรษฐีสั่งนางกาลีว่า

“เจ้าจงเอาเด็กคนนี้ไปนอนที่ทางเกวียน เมื่อเกวียนผ่านมา โคก็จักเหยียบมันตาย เจ้าจงดูว่ามันตายหรือไม่?”

นางกาลีก็ทำตามคำสั่งของท่านเศรษฐี ผู้มีจิตเคียดแค้นริษยาทุกประการ

เกวียนเล่มแรกพอเดินทางมาใกล้เด็ก โคก็หยุด ไม่ยอมเดิน? เมื่อเจ้าของตีก็สลัดแอกออก หัวหน้ากองเกวียนนำกลับมาเทียมใหม่ก็ไม่ยอมเดินจนสว่าง

นายกองเกวียนเห็นทารก แล้วนำไปสู่เรือนด้วยความยินดีว่าเราได้ลูกชายแล้ว

ถูกทิ้งคร้ังที่ ๔

นางกาลีกลับมาบอกเศรษฐีว่า

“นายกองเกวียนนำเด็กน้อยไปเลี้ยงไว้”

เศรษฐีให้เงินไปซื้อเด็กกลับมา
เศรษฐีคิดว่า

“ทิ้งทารกในที่มีคน คนก็ช่วย ต้องทิ้งที่ไม่มีคนจึงตายสมใจ”

จึงบอกนางกาลีว่า

“จงเอาทารกนี้ไปวางไว้ข้างพุ่มไม้ป่าช้าผีดิบ ให้สุนัข กา หรือ อมนุษย์มากินซากศพ ก็จะกินทารกนี้ไปด้วย เจ้าต้องดูว่าตายหรือไม่แล้วจึงกลับมา”

นางกาลีทำตามนั้น
ขณะบรรดาแร้ง กา สุนัข เข้ามาห้อมล้อมทารกนั้น แต่ไม่มีสัตว์ใดทำอันตรายทารกได้

เพราะผลบุญที่เขามีความรักและเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติที่เกิดเป็นสุนัข

มีเจ้าของแพะได้ต้อนแพะผ่านป่าช้าผีดิบ แพะแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งเดินผ่านไปที่ทารกนอนอยู่ได้คุกเข่าลงให้ทารกดูดนม

เจ้าของแพะไล่อย่างไรก็ไม่ออก จึงเดินเข้าไปดู ได้เห็นทารกน้อยกำลังดูดนมแพะอย่างหิวโหยเหลือประมาณ

คิดว่าแพะเราดีเหลือเกินที่ให้นมแก่ทารก แล้วนำทารกกลับบ้าน และคิดว่าเราได้ลูกชายแล้ว

ถูกทิ้งครั้งที่ ๕

นางกาลีกลับมาบอกเศรษฐีว่า

“เจ้าของแพะได้นำเด็กไปเลี้ยง”

เศรษฐีจึงให้เงินไปซื้อเด็ก และนำกลับมา

เศรษฐีคิดว่า

“เมื่อทิ้งเด็กไว้นานก็มีคนช่วย ต้องทิ้งแล้วตายทันทีจึงจะตายสมใจเรา ต้องเอาไปทิ้งที่หน้าผาที่ทิ้งโจร”

จึงบอกนางกาลีว่า

“เจ้าจงเอาเด็กนี้ไปหน้าผาที่ทิ้งโจร จงปีนขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วโยนมันลงมา ให้มันกระทบหินระหว่างที่ตกลงมาก็จะตาย จงดูว่ามันตายหรือไม่ตายแล้จึงกลับมา”

นางกาลีได้ทำตามนั้น
นางปีนขึ้นหน้าผาที่สูงสุด แล้วหลับตาโยนเด็กลงมา เด็กลอยลิ่วตกลงที่ยอดไผ่ เผอิญมีพุ่มกระพังโหมหนาทึบ เด็กจึงสลบไปเพราะกระเทือนมาก

นางได้เดินหาเด็กว่าตกตายที่ตรงไหน? แต่หาไม่พบ ช่างจักสานไปตัดไม้ไผ่กับลูกชาย พบเด็กฟื้นขึ้นร้องไห้อยู่บนยอดไผ่ เกิดความรักเหมือนลูก จึงนำไปเลี้ยงไว้ นางกาลีกลับมารายงานว่า

“ช่างจักสานนำไปเลี้ยงไว้”

ถูกทิ้งครั้งที่ ๖
เศรษฐีให้เงินไปซื้อเด็กกลับมา เศรษฐีได้พยายามทุกวิถีทาง ที่จะฆ่าเด็กคนนี้หลายครั้งแต่ก็ยังไม่ตาย

เด็กโตขึ้นมีชื่อว่า “โฆสกะ”

บุตรของเศรษฐีก็โตขึ้นมาไล่เลี่ยกัน แต่มีความสามารถน้อยกว่า จึงเรียกโฆสกะว่า “พี่” ด้วยความเต็มใจ

เศรษฐีให้ลูกของตนเรียนหนังสือ ส่วนโฆสกะไม่ให้เรียน เพราะเกลียดนัก ถ้าโฆสกะทำอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเศรษฐีจะเฆี่ยนตีอย่างมาก

ลูกของตนผิดมาก ก็จะเฆี่ยนน้อย ด้วยอำนาจเลือกที่รักมักที่ชัง ! โฆสกะจึงกลัวพ่อมาก

เศรษฐีหาอุบายฆ่าโฆสกะตลอดเวลา จึงไปหาช่างปั้นหม้อผู้เป็นสหาย ถามว่าเมื่อไรจะปั้นหม้อเขาตอบว่า

“พรุ่งนี้”

จึงมอบเงินให้ ๑ พันกหาปณะ แล้วกล่าวว่า

“ฉันมีอวชาตบุตรอยู่คนหนึ่ง พรุ่งนี้ฉันจะให้มาหาท่าน ท่านจับแขน แล้วฟันให้ขาดสองท่อนโยนเข้าไปในเตาเผาหม้อ กว่าท่านจะเผาหม้อเสร็จ กระดูกก็ละเอียดอยู่ในเตาเผา ไม่มีใครสามารถรู้ว่ามีคนตายอยู่เตานี้”

ช่างปั้นหม้อว่า

“สบายมาก เรื่องนี้ไม่ยากเลย จะจัดการให้”

วันรุ่งขึ้น เศรษฐีได้สั่งให้โฆสกะไปหาช่างหม้อแล้วบอกว่า

“จงทำงานที่พ่อสั่งเมื่อวานให้เสร็จ ลูกรีบไปเดี๋ยวนี้เลย”

โฆสกะจึงรีบไปบ้านช่างหม้อ ฝ่ายลูกชายเศรษฐีกำลังเล่นโยนหลุมกับเพื่อน เมื่อเห็นโฆสกะจึงถามว่าจะไปไหน

โฆสกะว่าจะเอางานของพ่อไปบอกช่างปั้นหม้อ บุตรเศรษฐีบอกว่าเขาแพ้พนันมาหลายตาแล้ว ให้พี่เล่นแก้มือให้เขาอยู่ที่นี่

แล้วเขาจะเอางานพ่อไปให้ช่างหม้อเอง (รับอาสาทำแทนโฆสกะ !)

โฆสกะจึงบอกว่า

“น้องจงบอกช่างหม้อว่าจงทำงานที่พ่อสั่งเมื่อวานนี้ให้เสร็จ พี่จะโยนหลุมแก้มือให้”

ลูกเศรษฐีรีบเดินทางไปบ้านช่างปั้นหม้อ
โฆสกะเล่นอยู่จนเย็นไม่เห็นน้องกลับมา จึงกลับบ้านนึกว่า

“พ่อตีแน่ ! พ่อตีแน่ !”
พอถึงบ้าน เศรษฐีถามว่าไม่ได้ไปบ้านช่างหม้อหรือ
เขาบอกว่า

“น้องขอไปแทน ให้ผมเล่นโยนหลุมแก้มือให้”
พอรู้เข้าเศรษฐีเร่าร้อนมาก ออกวิ่งไปบ้านช่างหม้อ พร้อมตะโกนว่า
รอสักครู่อ่านตอนต่อไปนะคะ

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ