..ธรรมธัชบัณฑิต ตอนที่ 3..(ตอนจบ)
ลำดับนั้นพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนฉัตตปาณี ท่านเป็นผู้ไม่ริษยาหรือ
กราบทูลว่า ขอเดชะ ถูกแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ริษยา
ท่านเห็นเหตุอะไรจึงเป็นผู้ไม่ริษยา
ฉัตตปาณีกราบทูลว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงโปรดสดับเถิด เมื่อจะกล่าวถึงเหตุของการไม่ริษยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า :
ข้าแต่ราชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้จองจำปุโรหิต เพราะหญิงเป็นเหตุ
ปุโรหิตนั้นให้ข้าพระองค์ตั้งอยู่ในประโยชน์แล้วเพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ริษยา
อธิบายความแห่งคาถานั้นว่า (รายละเอียดปรากฏในพันธนโมกขชาดก)
ข้าพระองค์นี้แหละ เมื่อก่อนเป็นพระราชาในกรุงพาราณสีนี้เอง เช่นกับพระองค์ ให้จองจำปุโรหิต
เพราะสตรีเป็นเหตุ คือ ครั้งหนึ่งช่างกัลบกฉัตตปาณีนี้เป็นพระราชา ถูกพระเทวีผู้ลักลอบกับพวกข้าบาทมูล ๖๔ นายผู้หวังจะให้พระโพธิสัตว์ ซึ่งไม่สนใจตนให้พินาศ ทูลยุยงให้จองจำ
ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ถูกจองจำไปเฝ้า จึงกราบทูลโทษของพระเทวีตามเป็นจริง ได้รอดพ้นเอง ได้ทูลให้ปลดปล่อยพวกข้าบาทมูลที่รับสั่งให้จองจำนั้นทั้งหมด
ถวายโอวาทว่าข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงนิรโทษให้แก่พวกข้าบาทมูลเหล่านั้น และพระเทวีเถิด พระเจ้าข้า
ก็ในกาลนั้นพระราชาฉัตตปาณีนั้น คิดว่าเราละเลยสนมหนึ่งหมื่นหกพัน คลอเคลียอยู่กับพระเทวีเพียงนางเดียวเท่านั้นด้วยอำนาจกิเลส ยังไม่สามารถจะให้นางอิ่มหนำได้
ขึ้นชื่อว่าการโกรธต่อหญิงทั้งหลายที่ให้เต็มได้ยาก อย่างนี้ก็เช่นกับการโกรธผ้านุ่งที่เศร้าหมองว่า เหตุใดผ้าจึงเศร้าหมอง
และเป็นเช่นกับการโกรธอาหารที่บริโภคแล้วกลับเป็นคูถ ว่าทำไมจึงกลับเป็นคูถ ต่อแต่นี้ไปเราขออธิษฐานว่า ยังไม่บรรลุอรหัตตราบใด ขอความริษยาจงอย่าเกิดแก่เรา
เพราะอาศัยกิเลสตราบนั้น ตั้งแต่นั้นมาพระราชามิได้ทรงริษยาเลย ฉัตตปาณีกัลบกกล่าวว่าเพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงไม่ริษยา หมายถึงความข้อนี้
ลำดับนั้นพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนท่านฉัตตปาณี ท่านเห็นอารมณ์อันใดจึงเป็นผู้ไม่ดื่มน้ำเมา ฉัตตปาณีเมื่อจะกราบทูลถึงเหตุนั้นจึงกล่าวคาถานี้ว่า :
ข้าแต่มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าเมาแล้วจึงได้กินเนื้อบุตร
ข้าพระพุทธเจ้าถูกความโศกถึงบุตรนั้นกระทบแล้วจึงเว้นการดื่มน้ำเมา
อธิบายความในคาถานั้นว่า ข้าแต่มหาราชเมื่อครั้งก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าพาราณสีเช่นเดียวกับพระองค์ ขาดน้ำเมาเสียแล้วก็ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตไปได้
แม้อาหารที่ไม่มีเนื้อก็ไม่สามารถบริโภคได้ ที่พระนครไม่มีการฆ่าสัตว์ในวันอุโบสถ พ่อครัวซื้อเนื้อมาเก็บไว้แต่วัน ๑๓ ค่ำแห่งปักษ์ เนื้อนั้นเก็บไว้ไม่ดี สุนัขจึงกินเสียหมด
พ่อครัวหาเนื้อในวันอุโบสถไม่ได้ จึงปรุงอาหารมีรสเลิศต่าง ๆ สำหรับพระราชายกขึ้นไปบนปราสาท แต่ไม่อาจนำเข้าไปได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระเทวีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระเทวีวันนี้ข้าพระองค์หาเนื้อไม่ได้ จึงไม่อาจนำพระกระยาหารที่ไม่มีเนื้อเข้าไปถวายได้ ข้าพระองค์จะทำอย่างไรดี
พระเทวีตรัสว่า นี่แน่ะเจ้า โอรสของเราเป็นที่รักโปรดปรานของพระราชา พระราชาทรงเห็นโอรสของเราแล้วก็จะทรงจุมพิตสรวมกอดโอรสนั้นเพลินจนไม่ทรงทราบว่า เนื้อมีหรือไม่มีสำหรับพระองค์
เราจะแต่งตัวโอรสแล้วให้นั่งบนพระเพลาของพระราชา เวลาที่พระองค์ทรงหยอกล้อพระโอรส ท่านจึงค่อยนำพระกระยาหารเข้าไปถวาย
พระเทวีตรัสดังนั้นแล้วจึงตกแต่งพระราชกุมารโอรสของพระองค์ให้นั่งบนพระเพลาของพระราชา ในเวลาที่พระราชาทรงหยอกล้อเล่นกับพระโอรส
พ่อครัวจึงนำพระกระยาหารเข้าไปถวาย พระราชาทรงเมาสุรา ไม่ทรงเห็นเนื้อในถาด จึงตรัสถามว่า เนื้ออยู่ไหน พ่อครัวกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์หาเนื้อไม่ได้เพราะวันนี้เป็นวันอุโบสถ ไม่มีการฆ่าสัตว์ จึงตรัสว่า
ชื่อว่าเนื้อสำหรับเราหาได้ยากนักหรือ จึงทรงหักคอพระโอรสที่นั่งอยู่บนพระเพลา จนถึงสิ้นชีพิตักษัย โยนไปข้างหน้าพ่อครัวตรัสว่า จงไปปรุงมาโดยเร็ว
พ่อครัวได้ทำตามรับสั่ง พระราชาได้เสวยพระกระยาหารด้วยเนื้อพระโอรสแล้ว มิได้มีผู้สามารถร่ำไห้ทัดทานแม้แต่คนเดียว เพราะกลัวพระราชา พระราชาครั้นเสวยเสร็จแล้วเสด็จเข้าห้องบรรทม ทรงตื่นบรรทมตอนใกล้รุ่ง ทรงสร่างเมาแล้วรับสั่งว่า จงนำโอรสของเรามา
ในกาลนั้นพระเทวีหมอบกันแสงร่ำไห้อยู่ ณ แทบพระบาท เมื่อพระราชาตรัสถามว่า กันแสงเรื่องอะไร
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์เมื่อวานนี้พระองค์ทรงฆ่าพระโอรสแล้วเสวยพระกระยาหารกับเนื้อพระโอรสเพคะ พระราชาทรงกันแสงด้วยความโศกถึงพระโอรส
ทรงเห็นโทษในการดื่มน้ำเมาว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแก่เรา เพราะอาศัยการดื่มน้ำเมา แล้วทรงกำฝุ่นขึ้นมาทาพระพักตร์
ทรงอธิษฐานว่า ตั้งแต่นี้ไปเรายังไม่บรรลุพระอรหัตตราบใด เราจักไม่ดื่มสุราตราบนั้น ตั้งแต่นั้นมาพระองค์มิได้ทรงดื่มน้ำเมาอีกเลย
ลำดับนั้นพระราชาตรัสถามฉัตตปาณีว่า ฉัตตปาณีท่านเห็นอารมณ์อะไรหรือ จึงไม่มีความรัก ฉัตตปาณีเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า :
ข้าพระองค์เป็นพระราชาพระนามว่ากิตวาสโอรสของข้าพระองค์ทำลายบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วสิ้นชีวิต
ข้าพระองค์ไม่มีความรักเพราะโอรสนั้นเป็นเหตุความในคาถานั้นว่า
ข้าแต่มหาราชเมื่อครั้งก่อนข้าพระองค์เป็นพระราชาพระนามว่า กิตวาส ในกรุงพาราณสี โอรสของข้าพระองค์ได้ประสูติ ครั้นประสูติแล้ว โหรเห็นลักษณะพระโอรสแล้วทำนายว่า ข้าแต่มหาราช พระอาญาไม่พ้นเกล้า
พระโอรสนี้จักอดน้ำสิ้นพระชนม์ พระเจ้าข้า
พระชนกชนนีทรงขนานนามพระโอรสนั้นว่า ทุฏฐกุมาร กุมารนั้นครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งอุปราช
พระราชาโปรดให้พระกุมารตามเสด็จ ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างเสมอ และเพราะเกรงพระโอรสจะอดน้ำตาย จังรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีไว้ในที่นั้น ๆ ภายในพระนครในประตูทั้งสี่ด้าน
รับสั่งให้สร้างมณฑปไว้ตามสี่แยกเป็นต้น แล้วให้ตั้งตุ่มน้ำดื่มไว้
วันหนึ่งพระกุมารแต่งพระองค์เสด็จประพาสอุทยานแต่เช้าตรู่ พบพระปัจเจกพุทธเจ้าในระหว่างทาง
มหาชนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วต่างก็กราบไหว้สรรเสริญและประคองอัญชลีแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น
พระกุมารนั้นคิดว่า พวกที่ไปกับคนเช่นเราพากันกราบไหว้สรรเสริญประคองอัญชลีแด่พระสมณะโล้นนี้ ทรงพิโรธ ลงจากช้างเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสถามว่า
สมณะท่านได้ภัตตาหารแล้วหรือ
พระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า ได้แล้ว พระกุมาร
พระกุมารจึงแย่งบาตรจากมือพระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุ่มลงบนพื้นดินเหยียบย่ำยีภัตตาหารให้แหลกไป
พระปัจเจกพุทธเจ้าแลดูหน้าพระกุมารนั้น คิดว่าสัตว์ผู้นี้จะวอดวายเสียแล้วหนอ
พระกุมารตรัสว่า สมณะเราเป็นโอรสของพระเจ้ากิตวาส มีนามว่าทุฏฐกุมาร ท่านโกรธเรา มองดูตาเรา จะทำอะไรเรา
พระปัจเจกพุทธเจ้า บาตรแตกแล้วจึงเหาะขึ้นสู่เวหาไปสู่เงื้อมเขานันทมูล ณ หิมวันตประเทศ เบื้องทิศอุดร
ขณะนั้นเองกรรมชั่วของพระกุมารก็ให้ผลทันตา พระกุมารมีพระวรกายเร่าร้อนพลุ่งพล่าน ตรัสว่า ร้อนเหลือเกินล้มลง ณ ที่นั้นเอง น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ ณ ที่นั้น ๆ ก็เหือดแห้ง สระนั้นหลายก็แห้งผาก พระกุมารสิ้นชีพิตักษัยในที่นั้นเอง ไปบังเกิดในนรกอเวจี
พระราชาทรงสดับเรื่องราวนั้นแล้ว ถูกความโศกถึงพระโอรสครอบงำ ทรงดำริว่า ความโศกของเรานี้เกิดขึ้นแต่สิ่งที่เรารัก หากเราจะไม่มีความรักแล้ว ความโศกก็จะไม่เกิดขึ้น
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขึ้นชื่อว่าความรักในสิ่งใด ๆ ทั้งที่มีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณ อย่าได้เกิดขึ้นแก่เราเลย
ทรงอธิษฐานดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นไปก็ไม่มีความรักเลย
ลำดับนั้นพระราชตรัสถามฉัตตปาณีว่า ดูก่อนฉัตตปาณีท่านเห็นอารมณ์อันใดเล่า จึงเป็นผู้ไม่โกรธ ฉัตตปาณีเมื่อจะกราบทูลความนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า :
ข้าพระองค์เป็นดาบสชื่อว่าอรกะ
เจริญเมตตาจิตเจ็ดปีอยู่ในพรหมโลก เจ็ดกัปเพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ไม่โกรธ
ความในคาถานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เป็นดาบสชื่ออรกะ เจริญเมตตาจิต เจ็ดปี แล้วอยู่ในพรหมโลกถึงเจ็ดสังวัฏฏกัป วิวัฏฏกัป ข้าพระองค์นั้นจึงไม่เป็นผู้โกรธ เพราะประพฤติสั่งสมเมตตาภาวนาสิ้นกาลนาน
เมื่อฉัตตปาณีกราบทูลองค์ ๔ ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาได้ทรงให้สัญญาที่นัดหมายไว้แก่บริษัท ทันใดนั้นเองเหล่าอำมาตย์มีพราหมณ์และคหบดีเป็นต้น
ต่างลุกฮือกันขึ้นกล่าวว่า แน่ะ เจ้าคนกินสินบน โจรผู้ชั่วร้าย เจ้าไม่ได้กินสินบนแล้ว จึงคิดจะฆ่าบัณฑิต
ต่างช่วยกันจับมือและเท้ากาฬกะเสนาบดีพาลงจากพระราชนิเวศน์ ทุบศีรษะด้วยก้อนหินและไม้ค้อนคนละไม้ละมือ จนถึงแก่ความตาย จึงจับเท้าลากไปทิ้งไว้ที่กองหยากเยื่อ
ตั้งแต่นั้นมาพระราชาทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ครั้นสวรรคตแล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า กาฬกะเสนาบดีในครั้งนั้นได้เป็น เทวทัตในครั้งนี้ฉัตตปาณีอุบาสกได้เป็นสารีบุตร ส่วนธัมมัทธชปุโรหิต คือเราตถาคตนี้แล
จบ ธรรมธัชบัณฑิตชาดก
…………………………………………………
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ที่วัดเชตวันมหาวรวิหาร เมืองสาวัตถี
..ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ..