ปฐมอนาถปิณฑิกสูตร

ปฐมอนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกคหบดี (อาพาธ)
            [๑๐๒๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
            สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ กราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนักท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า’ และเจ้าจงกราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด”

            บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งณ ที่สมควร         ได้กราบเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถ-บิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด” ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

            ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี  นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วถามท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”

            ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลยอาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏขอรับ”
            “คหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
            ๑. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระพุทธเจ้า หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสเช่นนั้นในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๒. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระธรรม หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสเช่นนั้นในพระธรรม ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๓. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระสงฆ์ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสเช่นนั้นในพระสงฆ์ ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๔. ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีศีลที่พระอริยะชอบใจ         ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นศีลที่พระอริยะชอบใจนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๕. ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาทิฏฐินั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๖. ประกอบด้วยมิจฉาสังกัปปะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาสังกัปปะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๗. ประกอบด้วยมิจฉาวาจาเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจาเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวาจานั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๘. ประกอบด้วยมิจฉากัมมันตะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมากัมมันตะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๙. ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาอาชีวะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๑๐. ประกอบด้วยมิจฉาวายามะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวายามะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๑๑. ประกอบด้วยมิจฉาสติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาสติ ก็ท่านพิจารณาเห็นสัมมาสตินั้นว่ามีอยู่ในตนเวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๑๒. ประกอบด้วยมิจฉาสมาธิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาสมาธินั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๑๓. ประกอบด้วยมิจฉาญาณะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านเพราะท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาญาณะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

            ๑๔. ประกอบด้วยมิจฉาวิมุตติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุตติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาวิมุตติ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวิมุตตินั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน”

            ขณะนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้สงบระงับไปโดยพลัน ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีอังคาสท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์  ด้วยอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับตนแล้ว จึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จวางมือจากบาตรแล้วจึงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

“ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว  มีศีลอันงามที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง  บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า           เป็นคนไม่ขัดสน  ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า  เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา  เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล  ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม”

            ครั้นท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะจากไป ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์เธอมาจากที่ไหนแต่ยังวัน”

            ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนท่านอนาถบิณฑิกคหบดีด้วยโอวาทนี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต               มีปัญญามาก ได้จำแนกองค์เครื่องบรรลุโสดาด้วยอาการ ๑๐ อย่าง”

พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย ๑) เล่มที่ ๑๙  ข้อ ๑๐๒๒  หน้า ๕๓๖
 …………………….
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ