โทษของความอิจฉา

โทษของความอิจฉา

ในอดีตกาล สมัยศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสป ภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในวัดหมู่บ้านหนึ่ง ท่านเป็นผู้มีศีล สงบเสงี่ยม เรียบร้อย หมั่นบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ ได้อุบาสกผู้มีทรัพย์ ผู้หนึ่งคอยปฏิบัติบำรุงให้อยู่เป็นสุขเสมอมา
ต่อมามีพระอรหันต์ท่านหนึ่ง จากป่าหิมพานต์ จาริกผ่านหมู่บ้านนั้น อุบาสกเห็นท่านแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงรับบาตร นิมนต์ให้นั่งในเรือน ถวายอาหารด้วยความเคารพ สดับธรรมกถาเล็กน้อยแล้ว ไหว้พระเถระแล้วกล่าวว่า

“พระคุณเจ้า นิมนต์ไปพักที่วัดใกล้บ้านของกระผมเถิด ตอนเย็นพวกกระผมจะไปเยี่ยมท่าน”

พระอรหันต์รูปนั้น จึงไปสู่อาวาสที่อุบาสกแนะนำ นมัสการภิกษุเจ้าอาวาสแล้ว สนทนาปราศรัยกันเล็กน้อยพอให้เกิดความคุ้นเคย ท่านเจ้าอาวาสถามว่า

“ฉันอาหารมาเรียบร้อยแล้วหรือ”
“เรียบร้อยแล้วครับท่าน” พระอาคันตุกะตอบ
“ท่านได้อาหารจากที่ไหนล่ะ” เจ้าอาวาสถาม
“ได้ที่บ้านของกุฎุมพีใกล้อาวาสนี้เองครับท่าน”

พระอรหันต์ ถามถึงเสนาสนะอันตนจะพึงได้เพื่อพักอยู่ชั่วคราว เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสแล้ว ก็จัดแจงปัดกวาดให้เรียบร้อย เก็บบาตรไว้ในที่ควรวาง นั่งเข้าฌาน และผลสมาบัติ

(ผู้ได้ฌาน และชำนาญในการเข้า ย่อมเข้าฌานได้เสมอทุกเวลาที่ต้องการ ส่วนผลสมาบัตินั้นแปลว่า เข้าเสวยรสแห่งอริยผลที่ตนได้แล้ว พระอริยเจ้าตั้งแต่โสดาบันเท่านั้นจึงจะเข้าได้ ปุถุชนเข้าไม่ได้)

พอถึงเวลาเย็น อุบาสกก็ให้คนถือพวงดอกไม้ และน้ำมันสำหรับเติมประทีปไปยังอาวาส พบภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสก่อน นมัสการแล้วถามว่า

“พระคุณเจ้า มีพระอาคันตุกะมาพักรูปหนึ่งไม่ใช่หรือ?”
“มีอุบาสก” พระตอบ
“ท่านพักอยู่ที่ไหนครับ?”
“โน้น อยู่กุฏิโน้น”

อุบาสกผู้มีศรัทธาเลื่อมใสไปหาพระอรหันต์ ฟังธรรมเทศนาอยู่จนค่ำ จุดประทีปสว่างไสวแล้วนิมนต์พระเถระทั้ง ๒ รูป เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น แล้วกลับไป

ฝ่ายพระภิกษุเจ้าอาวาสยังเป็นปุถุชน ยังมีกิเลสตัวโลภะคือความโลภ และความริษยาคือ ทนเห็นคนอื่นได้ดีแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ เห็นอุบาสกเอาใจใส่เคารพนบนอบต่อพระอรหันต์เช่นนั้น คิดว่า

“ถ้าพระรูปนี้อยู่ที่นี่นาน ก็จะทำให้อุบาสกไม่เคารพนับถือเราอย่างเช่นเคย คงจะโอนความเคารพนับถือไปให้พระอาคันตุกะเสียหมด เราควรแสดงอาการไม่พอใจให้ปรากฏ เพื่อไม่ให้เขาพักอยู่ที่นี่นาน”

คิดดังนี้แล้วก็ลงมือทำ คือ เมื่อพระอรหันต์ผู้เป็นแขกมาเยือน มาสนทนาด้วย ก็ไม่ยอมพูดด้วย พระอรหันต์เห็นอาการเช่นนั้น ก็รู้และเข้าใจได้ในทันทีว่า

เจ้าอาวาสรูปนี้เกิดความริษยาเข้าแล้ว จึงคิดในใจว่า “พระเถระ เจ้าอาวาสนี้ไม่รู้หรอกว่า เราไม่ติดไม่ห่วงใยในลาภ ในตระกูล หรือความเป็นใหญ่ในหมู่คณะ” ดังนี้แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน มีความสุขอยู่ในฌานและในผลสมาบัติ

วันรุ่งขึ้น ก่อนออกบิณฑบาต เจ้าอาวาสไปตีระฆัง แต่ถ้าตีตามปกติ เกรงพระขีณาสพจะไปด้วย จึงเอาหลังเล็บเคาะระฆัง ไปเคาะประตูเหมือนกัน แต่เคาะด้วยหลังเล็บนั่นเอง เป็นทำนองว่าได้ทำแล้ว ไปเรือนของอุบาสกแต่เพียงผู้เดียว

อุบาสกรับบาตร นิมนต์ให้นั่ง พลางถามว่า “ท่านพระอาคันตุกะไปไหนเสียเล่า ทำไมจึงไม่มาด้วย?”

เจ้าอาวาสตอบอย่างประชดประชันแดกดันว่า

“อาตมาไม่ทราบความประพฤติ ความเป็นไปของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของท่าน อาตมาตีระฆังก็แล้ว เคาะประตูก็แล้ว ก็ยังเงียบอยู่ เมื่อวานคงฉันอาหารอันประณีตในบ้านท่านอิ่มหมีพีมันแล้วหลับเพลินไปกระมัง? ภิกษุอย่างนี้ ท่านยังเลื่อมใสได้ลงหรือ?”

ฝ่ายพระขีณาสพ ออกจากฌานและผลสมาบัติ กำหนดบิณฑบาตของตนแล้ว ทรงบาตรจีวรเหาะไปทางอากาศแต่ไปที่อื่น

อุบาสกนิมนต์เจ้าอาวาสให้ฉันข้าวปายาสอันปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดเรียบร้อยแล้ว รับบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็มแล้วกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ! พระเถระอาคันตุกะเห็นจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาไม่ได้ ขอฝากข้าวปายาสนี้ไปถวายด้วยเถิด”

เจ้าอาวาสรับบาตรมาแล้ว เดินทางกลับวัด เดินไปคิดไปว่า

“ถ้าภิกษุอาคันตุกะได้บริโภคมธุปายาสอันอร่อยเช่นนี้ เราจับคอฉุดให้ออกจากวัดไปก็คงไม่ไป ถ้าเราเอาข้าวปายาสนี้ให้คนอื่น อุบาสกก็คงจะรู้ภายหลัง ถ้าทิ้งลงในน้ำ เนยใสจะลอยเป็นแผ่นอยู่เหนือน้ำ ถ้าทิ้งไว้บนแผ่นดิน พวกนก กา ก็จะพากันมาล้อมกิน สิ่งที่เราทำก็ไม่เป็นความลับ เราควรทิ้งข้าวปายาสนี้ในที่ใดหนอ”

มองไปเห็นไฟกำลังไหม้ซังข้าวอยู่ในนาแห่งหนึ่ง คุ้ยถ่านขึ้นมา เทข้าวปายาสลงไปแล้วกลบด้วยขี้เถ้าแล้วกลับวัด เมื่อไปถึงวัดไม่เห็นพระอาคันตุกะ จึงฉุกคิดว่า

“ชะรอยภิกษุนั้นจะเป็นพระขีณาสพผู้ได้ เจโตปริยญาณ (กำหนดรู้ใจผู้อื่น)รู้ใจของเราแล้วจึงไปเสียที่อื่น โอ เพราะปากท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมหนักอันไม่ควรเสียแล้ว”

ทันใดนั้น ความเสียใจอย่างใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นแก่ท่านตั้งแต่วันนั้นมา ร่างกายของท่านก็ซูบซีดผ่ายผอม คล้ายเป็นมนุษย์เปรต มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกไม่นานก็มรณภาพไปเกิดในนรก หมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลาหลายแสนปี

ด้วยอำนาจแห่งเศษกรรมนำให้เกิดเป็นยักษ์อีก ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องเลยสักวันเดียว ได้กินรกคนเต็มท้องอยู่มื้อหนึ่งแล้วก็ตายในวันนั้น

ไปเกิดเป็นสุนัขอีก ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้อาหารเต็มท้องเช่นเดียวกัน มาได้เต็มท้องเอาวันสุดท้ายคือวันตายได้กินอาเจียนของคนๆ หนึ่งแล้วตาย

เขายังท่องเที่ยวเสวยวิบากแห่งกรรมในสังสารวัฏอีกนาน

ในชาติสุดท้าย เกิดเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่ง ณ หมู่บ้านชาวประมงในแคว้นโกศลซึ่งอยู่รวมกันประมาณ ๑.๐๐๐ ครอบครัว

ในวันที่เด็กถือปฏิสนธิชาวประมงทั้งหมดเที่ยวหาปลา แต่ไม่มีใครได้ปลาเลยสักตัวเดียว แม้แต่ตัวเล็กๆ ตั้งแต่วันนั้นมา หมู่บ้านชาวประมงก็เสื่อมโทรมลงมากทีเดียว

ขณะที่เขาอยู่ในท้องมารดา หมู่บ้านชาวประมงถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง ถูกพระราชาลงโทษปรับสินไหม ๗ ครั้ง ชาวประมงทั้งหลายจึงลำบากแร้นแค้นลงเรื่อยๆ

ชาวประมงประชุมกัน คิดกันว่า ก่อนหน้านี้ พวกเราไม่เคยลำบากเช่นนี้เลย เดี๋ยวนี้พวกเราย่ำแย่ มีเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิด เกิดขึ้นอย่างน่าพิศวง ในหมู่พวกเราต้องมีตัวกาลกรรณีเป็นแน่ ทำอย่างไรจึงจะค้นหาตัวกาลกรรณีในหมู่พวกเราได้

ตกลงแยกออกเป็น ๒ พวก คือฝ่ายละ ๕๐๐ ครอบครัว เมื่อแยกแล้วมารดาของเขาอยู่ในกลุ่มใด กลุ่มนั้นก็ลำบากแร้นแค้น ส่วนอีกกลุ่มก็เจริญรุ่งเรืองดี เขาแยกกลุ่มออกไปเรื่อยๆ จนเป็นกลุ่มน้อย จะน้อยเพียงใด กลุ่มที่เขาอยู่ก็ย่ำแย่ ในที่สุดเหลือ

ครอบครัวของเขาเพียงครอบครัวเดียว คนอื่นๆ เขาทำมาหากินได้ตามปกติ คนทั้งหลายจึงรู้ว่าคนในครอบครัวนี้เป็นกาลกรรณี จึงขับไล่ โบยตีให้ออกไป
พ่อแม่ของเขาเลี้ยงชีพด้วยความแร้นแค้นฝืดเคืองเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องอดทน

ธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูก แม้รู้ว่าเป็นเหตุให้ตนต้องลำบากเพียงใด เมื่อครรภ์แก่ก็คลอด ณ ที่แห่งหนึ่ง พ่อแม่ของเขาเลี้ยงเขามาด้วยความลำบากและอดทนจริงๆ จนเขาเติบโตพอวิ่งเล่นได้

เห็นว่าควรปล่อยเขารับชะตากรรมของเขาเองได้แล้ว คนอื่นๆ เป็นอันต้องอดทนลำบากกับเขามามากแล้ว จึงมอบภาชนะดินเผาไว้ในมือ พลางกล่าวว่า

“ลูกเอ๋ย เจ้าจงถือภาชนะนี้ไปที่เรือนหลังนั้นเถิด”

หลอกลูกให้ไปขอทานแล้วหนีไป เด็กน้อยต้องอยู่อย่างว้าเหว่ เลี้ยงตัวเองด้วยความยากลำบาก สุดจะพรรณนาได้ แต่ธรรมดาของท่านผู้เกิดมาเป็นภพสุดท้าย ใครๆ ไม่อาจทำลายได้ ย่อมไม่ประสบภัยพิบัติถึงเสียชีวิตด้วยเหตุใดๆ

เพราะอุปนิสัยแห่งอรหัตผลรุ่งเรืองอยู่ในหทัยของท่านเหมือนดวงประทีปอยู่ในที่ครอบครองอันมิดชิด ลมไม่อาจพัดไฟให้ดับได้

เด็กน้อยเที่ยวหากินตามประสาเด็กที่ไม่มีคนเลี้ยงค่ำไหนนอนนั่น ไม่ได้อาบน้ำไม่ได้แต่งตัว ไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้า มีชีวิตอยู่อย่างเศร้าหมองลำเค็ญจนอายุ ๗ ขวบ

วันหนึ่ง กำลังเลือกเก็บเม็ดข้าวสุกกินทีละเม็ดในที่ที่คนล้างหม้อแล้วเขาไว้ใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่งพอดี พระสารีบุตรออกบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีเดินมาพบเข้า เห็นแล้วรำพึงว่า

เด็กคนนี้น่าสงสารนักเป็นเด็กที่ไหนหนอ คิดดังนี้แล้วยิ่งสงสารมากขึ้นจึงเรียกให้เข้าหา ถามว่า พ่อแม่อยู่ไหน เขาเกิดที่บ้านไหน เขาเล่าเรื่องของตัวเองเท่าที่จำได้ให้พระเถระฟัง

“เธอจะบวชไหม?” พระสารีบุตรถามด้วยความกรุณา
“กระผมอยากบวช ขอรับ แต่คนกำพร้าพ่อแม่อย่างผมใครจะบวชให้เล่า?
“เราจะบวชให้เอง”
“ขอบพระคุณขอรับท่าน”

พระเถระ พาเด็กน้อยวัย ๗ ขวบ ไปยังเชตวันวิหาร ให้ของกิน อาบน้ำให้เอง และบวชให้เป็นสามเณรก่อน เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ให้อุปสมบท ท่านมีชื่อว่า “โลสกติสสะ” แม้บวชแล้วก็เป็นผู้มีลาภน้อยไม่มีบุญในเรื่องลาภ เพราะเคยทำลายลาภของพระอรหันต์ในชาติก่อน

แม้ในคราวที่พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทาน (ทานที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีทานใดเสอมเหมือน) อันเป็นทานใหญ่ยิ่งของเมืองสาวัตถีพระโลสกติสสะก็ไม่ได้ฉันเต็มท้อง

ท่านได้อาหารเพียงพอสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น ใครใส่บาตรท่านแม้เพียงข้าวต้มกระบวยเดียว ก็ปรากฏเสมือนเต็มเสอมขอบปากบาตร คนอื่นๆ เห็นเข้าแล้วคิดว่า บาตรของภิกษุรูปนี้เต็มแล้ว จึงถวายองค์หลังๆ ต่อไป

ท่านทราบเหมือนกันว่า คงจะเป็นวิบากกรรมนำให้เป็นเช่นนี้ จึงไม่ประมาท หมั่นเจริญวิปัสสนา ต่อมาได้บรรลุอรหัตผลอันเป็นผลสุดยอดของการบำเพ็ญเพียรแต่ยังคงมีลาภน้อยอยู่นั่งเอง

เพราะขาดอาหาร สังขารของท่านจึงร่วงโรยทรุดโทรมเร็วก่อนเวลาอันควร จนวันที่ต้องนิพพาน พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรทราบเรื่องนี้ จึงดำริว่า

“วันนี้พระโลสกติสสะจะนิพพาน เราควรให้อาหารแก่เขาจนเพียงพอ”

คิดดังนี้แล้ว พาท่านไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี แม้จะพบผู้คนมากมายแต่พระสารีบุตรก็ไม่ได้แม้แต่การยกมือไหว้จากมหาชน ทานจึงพาพระโลสกะกลับไปยังโรงฉัน บอกให้นั่งลงที่นั่นก่อน ท่านเองจะออกไปใหม่

คราวนี้ประชาชนชวนกันถวายของมากมาย ท่านรีบแบ่งอาหารที่ได้แล้วส่งกลับไปให้พระโลสกะซึ่งรออยู่ที่โรงฉัน แต่คนที่นำอาหารไป เกิดลืมว่าให้ถวายแก่พระชื่ออะไร จึงกินเสียเองหมด เมื่อพระสารีบุตรกลับมาถึงวัด พระโลสกะไปไหว้

“คุณได้ฉันอาหารแล้วหรือยัง?” พระเถระถาม
“ยังเลยครับท่าน” พระโลสกะตอบ

พระเถระถามทราบเรื่อง รู้สึกสลดใจมากว่า กำลังแห่งกรรมเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เห็นเวลายังพอมีอยู่จึงกล่าวว่า

“เอาเถอะคุณ คุณนั่งอยู่ที่นี่แหละ ผมจะออกไปใหม่
ท่านรีบไปยังพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาให้รับบาตรพระเถระแล้วทรงเห็นว่า ไม่ใช่เวลาที่จะถวายของคาว จึงถวายแต่ของหวาน เช่น เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พระเถระรีบกลับไป เรียนพระโลสกะมาให้รีบฉัน พระโลสกะ ครั้นจะไม่ฉันก็เกรงใจพระเถระ
“มาเถิด โลสกะ มาฉันเถิด ผมจะยืนถือบาตรให้ คุณนั่งฉัน ถ้าผมไม่ถือบาตรไว้ในบาตรต้องไม่มีอะไร”

ด้วยกำลังฤทธิ์ของพระเถระ ด้วยบุญบารมีของพระเถระ ของ ๔ อย่างนั้นไม่หายไป พระโลสกะฉันตามต้องการจนอิ่มและนิพพานในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นิพพานของพระโลสกะด้วย รับสั่งให้ปลงศพของท่าน คือเผาแล้วให้เก็บอัฐิธาตุบรรจุเจดีย์ไว้เป็นที่บูชาของมหาชน

สาธุ สาธุ สาธุ

แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ