อ่านหนังสือวันละหน้า : สอบไม่ผ่าน

อ่านหนังสือวันละหน้า
สอบไม่ผ่าน

นักปฎิบัติเช่นเราต้องต่อสู้กับอารมณ์ของความความพลัดพราก
จิตใจเศร้าหมองหดหู่ เมื่อทราบว่าผู้อันเป็นที่รักจากไป

ความโศกเศร้ามีกำลังมากกว่าสติ ทำให้ร้องไห้ตลอดเวลา

รู้สึกว่าเป็นอะไรถึงเสียใจขนาดนี้
โทรศัพท์หาพระวิปัสสนาจารย์
ปรึกษาท่านว่าอารมณ์เช่นนี้คืออะไร

ท่านเมตตาเทศน์ให้ฟังว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าดับขันถ์ปรินิพพาน มิใช่เพียงพระอานนท์ที่เกาะสลักประตูร่ำไห้

พระสงฆ์ทั้งหลายที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็รำ่ไห้

ในเวลาเดียวกันเหล่าเทวดาทั้งหลายก็สยายผม
เกลือกกลิ้งกับอากาศร่ำไห้ ดั่งอากาศเป็นแผ่นดิน

มีเพียงพระ อรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีความเศร้าโศก
พระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ใช่พระอรหันต์จึงร่ำไห้เศร้าโศก

แม่ชีถามท่านว่า อารมณ์นี้เกิดจากอะไร เพราะเป็นคนอดทน
อดกลั้น แต่กลั้นอารมณ์นี้ไม่ไหว มันแอบเข้ามาเมื่อไหร่ไม่รู้

ท่านว่ามันคืออุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ยึดถือผูกพันธ์ มันไม่ได้แอบเข้ามาแต่มันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว อุปาทานตัวนี้
มีความพอใจ ไม่พอใจผูกอยู่ เมื่อเห็นอะไร
ที่ไม่ถูกใจจึงเกิดความหดหู่

————————————–

ความเป็นมนุษย์ที่ฝึกสติตลอดเวลา ใช่ว่าจะละอารมณ์เช่นนี้ได้ เมื่อไหร่ที่ขาดสติ ปล่อยให้อุปาทานมีกำลังมากกว่า ย่อมถูกครอบงำด้วยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เป็นธรรมดา

ทุกข์ในอริยสัจ มี ตัณหา อุปทาน ที่ต้องฝึกละ
และดับจนกว่าจะไม่เหลือเชื้อ

ข้อสอบที่อ่านผ่านการสวดธัมจักรเป็นเวลา
หลายสิบปี เพิ่งเข้าใจ เพิ่งเข้าไปในใจ
เช่นนี้เองจึงสอบไม่ผ่าน คร่ำครวญน่าเวทนา
——————————————————
อุปาทาน
อุปาทาน  ความยึดมั่น,   ความถือมั่นยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลส   หรือความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามอำนาจของตัณหา  หรือความยึดมั่นถือมั่นตามความพึงพอใจของตัวของตน  มี ๔ ประการ คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ ยึดมั่นใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ(สัมผัส) เนื่องด้วยตัณหาความกำหนัดในสิ่งต่างๆเหล่านั้นด้วยอำนาจของกิเลส

ไม่รู้ด้วยอวิชชาว่าสังขารเหล่านั้นทั้งหลายทั้งปวงล้วนอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์
มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา เป็นธรรมดา  จึงควบคุมไม่ได้อย่างแท้จริง

(กามุปาทาน – ความยึนมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

๒.ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความเห็น  ความเชื่อ  ความคิด  หรือในทฤษฎีของตัวของตน

จึงไม่เชื่อหรือแอบต่อต้านในสิ่งต่างๆที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยไปกับความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรือทฤษฎีของตัวของตนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นจิตจึงไม่ยอมศึกษาหรือพิจารณาอย่างจริงจังในความคิดความเห็นอื่นๆที่ถูกต้องและดีงามแต่ขัดแย้งกับความเชื่อความเห็นเดิมๆของตน   เกิดความรู้สึกต่อต้าน ขัดแย้ง ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงความเชื่อความเข้าใจของตัวของตนโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา

จึงทำให้ไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจในสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงที่เป็นไปของธรรมหรือสิ่งนั้นๆได้อย่างปรมัตถ์หรือถูกต้องดีงาม
(ทิฏฐุปาทาน – ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ  : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด) และพรต(ข้อที่พึงถือปฏิบัติ)  แต่เป็นการยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส ดังเช่น ตามความเชื่อหรือตามการปฏิบัติที่ทำตามๆกันต่อมาแต่ไม่ถูกต้องโดยงมงายด้วยอวิชชา

เช่น พ้นทุกข์ได้โดยถือศีลแต่ฝ่ายเดียวไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา,  ปฏิบัติแต่สมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลต่างๆจากสมาธิโดยตรงจึงขาดการวิปัสสนา,

อ้อนวอนบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนาๆ,  ทรมานตนเพื่อบรรลุธรรม,  คล้องพระเพื่อคงกระพัน โชคลาภ,  ทำบุญแต่ฝ่ายเดียวเพื่อหวังมรรคผล,  ล้างบาปได้

(สีลัพพตุปาทาน  – ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ

โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล
: จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในคำพูด(วาทุ-วาทะ)ที่ใช้แสดงความเป็นของตัวเป็นของตน  จึงเกิดการไปหลงคิดหลงยึดหรือจดจำ(สัญญา)เอาอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริงโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา

กล่าวคือ เกิดความหลงยึดเนื่องจากวาทะการพูดจาเพื่อใช้สื่อสารกันให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในสิ่งต่างๆในทางโลกโดยไม่รู้ตัวและซึ่งย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างประจำสม่ำเสมอในการดำรงชีวิต

จึงเกิดการซึมซับแล้วซึมซ่านไปย้อมจิตให้หลงไปยึด ไปหลงในคำพูดต่างๆเหล่านั้นว่า เป็นจริงเป็นจังอย่างจริงแท้แน่นอน เช่น คำพูดในการแสดงความเป็นเจ้าของ  เช่น นี่บ้านฉัน  นั่นรถฉัน  แฟนฉัน  สมบัติฉัน  นี่ของฉัน

จิตจึงไปหลงยึดด้วยอวิชชาความเคยชินในคำพูดที่แสดงความเป็นตัวของตนเหล่านั้น ที่ใช้สื่อสารเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในทางโลกๆเข้าไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เป็นประจำด้วยอวิชชา

(อัตตวาทุปาทาน  ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ

: จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

สิ่งต่างๆทั้ง๔ เหล่านี้  ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว  เริ่มเป็นไปตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน หรือเป็นไปดังนี้เสียนานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น  โดยไม่เคยคิดที่จะหยุดยั้งกระบวนการจิตเหล่านี้เลย เนื่องเพราะความ

ไม่รู้(อวิชชา)นั่นเอง จึงปล่อยให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติของปุถุชนหรือสรรพสัตว์ทั่วไป

ดังนั้นอุปาทานนี้จึงมีอยู่แล้วตามที่ได้สั่งสมมาแต่ช้านานดังข้างต้น  แต่ในสภาพที่นอนเนื่องอยู่ ยังไม่ได้ถูกกระตุ้นเร่งเร้าด้วยเหตุปัจจัยใดๆ  จึงอยู่ในสภาพที่เรียกกันทั่วๆไปว่า ดับ อยู่   กล่าวคือ นอนเนื่องอยู่อยู่ในสภาพของอาสวะกิเลส   หรือกิเลสที่นอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตนั่นเอง

เมื่ออุปาทานที่นอนเนื่อง ในรูปของอาสวะกิเลสชนิดหนึ่ง  เกิดการถูกกระตุ้นปลุกเร้า  เหตุปัจจัยโดยตรงที่ปลุกเร้าก็คือตัณหา อันเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง กล่าวคือ  เมื่อเกิดตัณหาความอยากหรือไม่อยากใน เวทนา (ความรู้สึกรับรู้อันเกิดแต่การผัสสะ)

อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในจิตแล้ว   สิ่งเหล่านั้นยังเป็นเพียงแค่ความปรารถนาอันเกิดมาแต่เวทนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเป็นเพียงนามธรรมอยู่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

โดยธรรมชาติของจิต จึงต้องเกิดปฏิกริยาต่อตัณหาเหล่านั้นตามอุปาทานที่สั่งสมไว้ดังข้างต้น  โดยการตั้งเป้าหมายหรือการที่ต้องยึดมั่น ก็เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหรือสัมฤทธิ์ผลเป็นตัวเป็นตนขึ้นตามความต้องการ ให้เป็นไปตามตัณหาความปรารถนาของตัวของตนนั้นๆที่เกิดขึ้น

ก็เพื่อให้ตัวตนของตนได้รับความพึงพอใจจากการได้รับการตอบสนองอันเป็นไปตามตัณหาความอยากนั่นเอง   อันเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติในการดำรงคงชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย    และในทางธรรมะก็จัดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมชาติ

เพียงแต่เป็นธรรมชาติที่ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นของสรรพสัตว์โดยถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน

เมื่ออุปาทานเกิดขึ้น  ที่หมายถึง อุปาทานที่สั่งสมนอนเนื่องอยู่ได้ถูกปลุกเร้าให้ผุดขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยตัณหาเป็นปัจจัยแล้ว  สิ่งต่างๆที่ดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปต่อจากนั้นในจิต

จึงย่อมถูกครอบงำไว้ด้วยกำลังของอุปาทาน ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญโดยไม่รู้ตัว  จึงไม่เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามความเป็นจริง

แต่เห็นและอยากให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญแต่ฝ่ายเดียวและโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา   จึงผูกมัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์มาตลอดกาลนาน
———————————
ไม่มีใครดีเลย เราดีคนเดียว

เมื่อวานนี้เป็นอดีตไปแล้ว

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

อย่าเอาความยึดมั่นถือมั่น มาทำร้ายจิต
ให้เศร้าหมองอีกเลย

กราบพระวิปัสสนาจารย์ที่ให้ความสว่างเกิดขึ้นในจิต ด้วยความเคารพอย่างสูง

ดร.แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ