สมัยหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ กรุงราชคฤห์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องการแสวงหาพรหมจรรย์ อุปมาด้วยเรื่องผู้มีความต้องการแสวงหาแก่นไม้ไว้ว่า
บุรุษคนหนึ่ง ปรารถนาจะแสวงหาแก่นของต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ แต่เขาละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอาไปเพียงกิ่งและใบ เข้าใจว่าเป็นแก่นไม้ เพราะความที่ไม่รู้จักว่าส่วนใดเป็นแก่นแท้ของต้นไม้นั้น เปรียบเสมือนกุลบุตรผู้ออกจากเรือน แสวงหาพรหมจรรย์ เพื่อกระทําที่สุดแห่งทุกข์ ครั้นบวชแล้วยังยินดีอยู่ ด้วยลาภยศ สรรเสริญ สุข ชื่อว่ายังเป็นผู้ประมาทภิกษุนั้นเพียงได้ถือ เอาเพียงกิ่งและใบของพรหมจรรย์เท่านั้น แล้วตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลาย รู้จักการแสวงหาพรหมจรรย์ที่แท้จริง ดังต่อไปนี้
สะเก็ดพรหมจรรย์
กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีล แต่เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เราเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ภิกษุอื่นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาทเพราะความถึงพร้อมแห่งศีล เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาถากเอาเพียงสะเก็ดของต้นไม้นั้นถือไป สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงสะเก็ดของพรหมจรรย์
เปลือกของพรหมจรรย์
กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นสมบูรณ์ด้วยศีล เจริญสมาธิ ถึงพร้อมด้วยสมาธิ แต่ยกตนข่มผู้อื่นว่า เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่นไม่มีจิตตั้งมั่น เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธิ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ ตั้งอยู่เขาถากเอาเปลือกของต้นไม้นั้นถือไป สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงเปลือกของพรหมจรรย์
กระพี้แห่งพรหมจรรย์
กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เขาย่อมยังญาณทัสสนะ คือ มีความรู้ความเห็นให้สําเร็จ เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะ เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ภิกษุอื่นไม่รู้ไม่เห็น เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาถากเอากระพี้ (ส่วนของเนื้อไม้ที่อยู่ระหว่างเปลือกกับแก่น) ของต้นไม้นั้น สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงกระพี้ของพรหมจรรย์
แก่นของพรหมจรรย์
กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และญาณทัสสนะแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมถึงซึ่งวิโมกข์ (ความหลุดพ้น) บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาเลือกถากเอาแก่นของต้นไม้ นั้นถือไป
กุลบุตรผู้นี้รู้จักสะเก็ด เปลือก และกระพี้ของต้นไม้นั้น เลือกถากเอาแต่แก่นไม้ถือไป เขาได้แก่นไม้ตามประสงค์ กิจที่จะทําด้วย แก่นไม้นี้จักสําเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด ภิกษุพึงพากเพียรให้ถึงพร้อม ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ก็ย่อมสําเร็จประโยชน์อันเป็นผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา บรรลุถึงพระนิพพาน พ้นจากสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
-บาลี จตุกุก. อ. ๒๑/๓๓/๒๕.
ภิกษุทั้งหลาย !
พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ มิใช่เพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ
มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า
เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ที่แท้ พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อละ
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทซึ่งทุกข์ แล.
………………………………………………..
น้อมกราบอาราธนาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
เพื่อประโยชน์ เพื่อความเจริญแห่งพุทธศาสนาตลอด5,000ปี
กราบอนุโมทนา สาธุ
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ