วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๙ เลือกสถานที่และตั้งสัตยาธิษฐาน
ทิศทางมีผลต่อการตรัสรู้
เช้าวันวิสาขบูชาเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว พระองค์ทรงรับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย ตอนบ่าย มีพราหมณ์ผู้หนี่งมีนามโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้าคา ๘ กํา เดินสวนทางมา พอพบพระมหาบุรุษก็นําเอาหญ้าคาทั้ง ๘ กํานั้น น้อมเข้ามาถวาย สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ทรงรับหญ้าคาทั้ง ๘ กําน้ันแล้ว เสด็จไปถึงท่ีใกล้บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงกระทำประทักษิณ ๓ รอบ จากนั้นจึงเสด็จไปที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ หยุดยืนประดิษฐานทรงพระจินตนาการปรารภเพื่อจะทอดซึ่งหญ้าคา ๘ กํา เพื่อกระทําเป็นรัตนบัลลังก์ ลําดับนี้พระคันถรจนาจารย์ได้อธิบายโดยพิศดารว่า
ในขณะน้ัน พื้นดินด้านทิศเหนือ ได้สําแดงอาการปานประหน่ึงจะกราบทูลให้ทราบว่า พื้นที่นี้มิใช่ท่ีอันจะต้ังรัตนบัลลังก์ พื้นดินก็บันดาลทรุดตำ่เอียงลง เหมือนล้อเกวียนอันบุคคลวางหงายไว้ แล้วมีคนขึ้นไปเหยียบ เมื่อเหยียบข้างหนึ่ง ข้างที่เหยียบก็เอียงลงไป ฝั่งตรงข้ามก็กระดกขึ้น
จึงเสด็จไปยืนผินพระพักต์ไปทางทิศตะวันตก ทิศใต้ แผ่นดินก็บันดาลทรุดเอียง ดุจเดียวกัน จึงทรงก็เข้าพระทัยว่าทิศ ทั้ง ๓ นี้มิใช่ที่ควรจะตั้งพระรัตนบัลลังก์แห่งพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้าทั้งปวง จึงเสด็จ ไปปูลาดหญ้าคาข้างทิศตะวันออก แห่งต้นพระมหาโพธิ์
ผลปรากฏว่า พื้นดินก็ตั้งมั่นมิได้กัมปนาท หวาดไหว ไม่ทรุดเอียงเหมือนทิศอื่นๆ ก็เข้าพระทัยว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นท่ีตั้งพระรัตนบัลลังก์แห่งพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าท้ังปวง แต่ปางก่อน เป็นที่อันขจัดเสียซึ่งมาร และเสนามารทั้งหลาย จากนั้นจึงทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอจงบังเกิดเป็นรัตนบัลลังก์ปรากฏในท่ีน้ี
ขณะนั้นวชิรอาสน์รัตนบัลลังก์ มีประมาณสูง ๑๔ ศอก ก็อุบัติบังเกิดด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ ปรากฏพร้อมในลําดับสัตยาธิษฐาน อย่างน่าอัศจรรย์
ชีวิตแลกพระสัมมาสัมโพธิญาณ
พระองค์ประทับบนรัตนบัลลังก์ แล้วตั้งสัจจะอธิษฐานความเพียรไม่ถอยหลังว่า
“แม้เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที เมื่อยังไม่บรรลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสียเป็นไม่มีเลย”
อธิบายความว่า แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไปก็ตามที ถ้ายัง ไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่ขอลุกจากที่นั่ง จะยอมนั่งตายไปเลย ข้อความนี้มีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณอันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม อันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท”
พระองค์ทรงแนะนำพุทธบริษัท ๔ ให้เกิดความกล้าหาญ เกิดความเพียรพยายาม พร้อมทั้งยืนยันผลการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไว้ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้เธอทั้งหลายจะพึงเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้น ด้วยความรู้ยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย”
แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ