วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๗ หาทางตรัสรู้ด้วยวิธีสุดโต่ง

 

วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๗ หาทางตรัสรู้ด้วยวิธีสุดโต่ง
๑. บำเพ็ญเพียรทางจิตจนสุดโต่ง
หลังจากพระมหาบุรุษออผนวช ก็เสด็จจาริกไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ ๗ ประกอบด้วย

รูปฌาน ๔ ได้แก่
๑.ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ประกออบ ๕ คือ วิตก(ความนึกคิด) วิจาร(การพิจารณาอารมณ์) ปิติ(ความอิ่มใจ) สุขและเอกัดคตา(ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว)

๒.ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

๓.ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ประกอบ ๒ สุข เอกัคคตา

๔.จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ประกอบ ๒ คือ อุเบกขา (ความวางเฉย) และเอกัคคตา
อรูปฌาน ๓ ได้แก่

๑.อากาสนัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดอากาศ (space) อันอนันต์

๒.วิญญาณัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดวิญญาณอนันต์

๓.อากิญจัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใด ๆ

สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส พระองค์ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จ อรูปฌาน อีก๑ ขั้น ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด จึงครบสมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔ และอรูปฌานอีก ๔) นั่นคือ

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใด ๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

ผลปรากฏว่าสิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป

๒.บำเพ็ญเพียรทางกายจนสุดโต่ง
พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้ให้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศีรษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ (ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก (จมูก) และช่องพระโอฐ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร (หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง พระอัฏฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ) ล้มลงในที่นั้น

หลอมรวมให้เป็นหนึ่ง
เมื่อพระองค์ทดลองบำเพ็ญเพียรทั้งทางกายและทางจิตอย่างยิ่งยวด แต่ก็ไม่สามารถบรรลุได้ จึงทรงหลอมรวมวิธีการทั้ง ๒ คือทั้งทางกายและทางจิตเข้าด้วยกัน ไม่ให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ทางกายต้องเสวยพระกระยาหารให้มีกำลังเสียก่อน แล้วใช้อิริยาบถนั่ง ตั้งกายตรง (นั่งคู้บัลลังค์) แบบสบายตามธรรมชาติของกาย ไม่นั่งนานเกินไป

ทางจิต พระองค์บำเพ็ญเพียรให้จิตมีกำลังที่พอดี โดยใช้เพียงแค่ให้จิตเป็นสมาธิระดับฌานต้นเท่านั้น อันนี้ก็สามารถเรียกได้ว่าทางสายกลาง เพราะใช้ความเพียรทางกายขนาดกลาง ความเพียรทางจิตก็ขนาดกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป นั่นจึงเป็นเหตุให้พระองค์ประสบความสำเร็จ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

จิตที่มีสภาวะเหนือโลก
แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ