วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๓ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล
โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน)
เหตุการณ์ต่อมา เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)
เหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น
ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติได้ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล” (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยการเสนอของผู้แทนชาวศรีลังกา เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เพราะ
๑.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษยชาติ ด้วยการยกเลิกการแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ
๒.พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์
๓. พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
๔.ทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ สอนและถ่ายทอดให้ตามสติปัญญาของผู้ฟังโดยไม่ปิดบังอำพราง และสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน
แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ