ระหว่างปฎิบัติธรรมตามแนวสติปัฎฐาน๔ โยคีผู้ปฎิบัติธรรมต้องมีสติระลึกรู้ กำหนดจดจ่ออยู่กับสภาวะธรรม….

ระหว่างปฎิบัติธรรมตามแนวสติปัฎฐาน๔ โยคีผู้ปฎิบัติธรรมต้องมีสติระลึกรู้ กำหนดจดจ่ออยู่กับสภาวะธรรม ที่เกิดขึ้นจากฐานกาย เวทนา จิต และธรรมารมณ์ โดยกำหนดเพื่อรู้ เมื่อจิตรู้ (ตามความเป็นจริงแล้ว) จิตก็จะปล่อยวางสภาวธรรม รู้สักแต่ว่าสิ่งใดเข้ามากระทบ กาย ใจ หรือที่เรียกว่ารูปกับนาม

มรรค ๘ เป็นข้อปฏิบัติของกายที่เชื่อมต่อกับจิต ถ้าปฏิบัติก้าวหน้าจะสามารถแยกกายและจิตออกจากกันได้ เมื่อจิตละเอียด กายละเอียด แค่เสียงเข็มหล่นก็ดังเข้าไปในมโนทวาร ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่น ความอิจฉาริษยา ความอยากมีอยากเป็น หรือแค่ความนึกคิดลังเลสงสัย ที่เป็นกิเลส โยคีผู้ปฎิบัติจะมีความกระเพื่อมเพียงน้อยนิด

ทุกคนล้วนมีวิบากกรรมก่อให้เกิดเวทนาอย่างแรงกล้า โยคีต้องอดทนดูความเวทนาที่ไม่สามารถบังคับ
ให้เป็นดังใจได้ การชดใช้กรรมจะเกิดขึ้นในขณะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ
จิตมีหน้าที่ดู ความเป็นไปของเวทนา เมื่อกำหนดจนเวทนาดับ วิบากกรรมจะเป็นตัวแปรในทุกขณะจิต

การปฎิบัติกำหนดต่อเนื่องทุกอริยบท ต้องมีความเพียรความอดทนต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ กำหนดด้วยปัญญาค่อยๆพิจารณาธรรมมารมณ์ ปวดมีรูปร่างแบบ
ไหน ?ไม่มีรูปร่าง รู้สึก..เจ็บ..ปวด..ร้อน..โกรธ..เบื่อ..ง่วง..หดหู่..เบิกบาน..สุข ..ทุกข์ คือธรรมมารมณ์ที่โยคีต้องพิจารณา

กิเลสคืออะไร กิเลสคือความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ว่าจะเกิดมากี่ชาติโกรธ โลภ หลง จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้วนอยู่ในโลกของโลกีย์ เมาอยู่ในความประมาท

จะไม่มีความบังเอิญใดเกิดขึ้นในการปฎิบัติธรรม หรือแม้แต่ไม่เคยปฎิบัติ ทุกเรื่องราวเป็นเหตุเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว การเรียนรู้ที่จะให้ชีวิตมีกำไร ต้องลงมือปฎิบัติธรรมตามแนวสติปัฎฐาน๔

การกำหนดตามแนวสติปัฎฐาน๔ คือการกำหนดรู้ตามสภาวะธรรมทางกาย เรียกว่ากายานุปัสสนา มรรค๘คือองค์ของศีล สมาธิ ปัญญา ดูกาย ดูเวทนา จิตตามเฝ้าดูสภาวะธรรม เมื่อปฎิบัติจนนิ่งสงบจาก โกรธ โลภ หลง จิตจะมีกำลัง เกิดปัญญา เกิดความรู้สูงขึ้นเป็นลำดับขั้นที่เรียกว่าสภาวะของญาณจะมีกำลังไปตัดละจนกิเลสดับไม่เหลือเชื้อ เรียกว่านิพพาน

ส่วนการบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ เป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติธรรม เมื่อภาวนาไปเรื่อยๆจนสมาธิแนบแน่นเป็นหนึ่ง จะทำให้เกิดเป็นสมาบัติ แต่เชื้อของกิเลสยังไม่ดับเรียกว่า สมถะกรรมฐานในส่วนนี้จะเป็นเพียงเอาหินทับกิเลสไว้ ไม่ได้ถอนรากถอนโคนรากเหง้าของกรรม

การกำหนด
เป็นการอัพเกรด สภาวะธรรมจาก สัญชาตญาณ หรือ สัญญา ให้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ให้เป็นวิปัสสนากุศล
การที่โยคีจะกำหนด สภาวะธรรมได้ ต้องประกอบด้วย
อาตาปี คือเพียรใส่ใจในสภาวะธรรม ในอารมณ์นั้นๆ
สัมปชาโน คือมีความรู้ตัวอยู่ว่า มีสภาวธรรมใดเกิดขึ้นกับจิต
และ สติมา สามารถระลึกได้ว่า สภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับจิตนั้นคืออะไร ชื่อว่าอะไร แล้วจึง กำหนด (บริกรรม) ไปจนสภาวธรรมนั้นชัดเจน ว่าเกิดอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไร และดับไปอย่างไร

ถ้าโยดีไม่กำหนด การรู้อารมณ์ต่างๆ จะไม่ชัดเจน ไม่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน จะไม่ต่างจากสัตว์ที่ทั้งหลายเช่นแมว หรือ เสือ. ที่รู้ว่าตัวมันเองกำลังเดิน กำลังวิ่ง กำลังกิน กำลังนอนอยู่ การรู้ของสัตว์ทั้งหลายเป็นเพียงสัญชาตญาณ ไม่สามารถยกขึ้นเป็นวิปัสสนาได้
แต่การรู้ของมนุษย์สามารถพัฒนาหรืออัพเกรดได้

อานิสงส์วิปัสสนากรรมฐาน
๑ทำให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความจริง
๒ สามารถดับทุกข์ได้ตามกำลังการปฏิบัติ
๓ เป็นผู้มีปัญญามากทั้งปัจจุบันและภพชาติต่อไป
๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
๕ พ้นจากความโศก
๖ พันจากความร่ำไรรำพัน
๗ พ้นจากความคร่ำครวญ
๘. พ้นจากความความเสียใจ
๙ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
๑๐ ตัดกรรมเก่า (อกุศลกรรม)
๑๑ ไม่เพิ่มกรรมใหม่ (อกุศลกรรม)
๑๒ตัดภพตัดชาติ (กำหนด ๑ ครั้งตัด ๗ ชาติ เป็นการอนุมาน ไม่ได้หมายความว่า จะ ๗ ชาติ เป๊ะๆ)
๑๓. เป็นเหตุให้ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคล ตั้งแต่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
๑๔​ แม้ชาติปัจจุบันก็อยู่อย่างมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะรู้วิธีการดับทุกข์

โครงการวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ