ผลของกรรม
พระเจ้าปายาสิ ผู้ครองเสตัพยนคร
มีมิจฉาทิฐิว่าคนและสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ
ผลวิบากของกรรมที่ทําดี หรือชั่วนั้นไม่มี
ครั้งนั้น พระเจ้าปายาสิ ได้สดับกิตติศัพท์อันงามของ
พระกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าและเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศด้านการแสดงธรรมได้วิจิตร
จึงเสด็จไปพบพระกุมารกสสปะเพื่อสนทนาธรรม
โดยพระเจ้าปายาสิ ตรัสถึงทิฐิดังกล่าวของพระองค์
ให้พระกุมารก้สสปะทราบ
พระกุมารกัสสปะจึงถามว่า
“มหาบพิตรมีเหตุผลประการใดที่สนับสนุนความเห็นเช่นนั้น”
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า
“มีญาติมิตรของโยมหลายคนที่ทําชั่วต่างๆ มากมาย
ต่อมาเมื่อพวกเขาเจ็บไข้ โยมเห็นว่าพวกเขาคงตายแน่
ก็ไปพบและสั่งพวกเขาว่าเมื่อไปลงนรกแล้ว
ขอให้กลับมา บอกว่านรกเป็นอย่างไร
พวกเขาเหล่านั้นล้วนแต่รับคํา แต่โยมรอมานานหลายปี แล้วก็ไม่เห็นว่า พวกเขาจะกลับมาเล่าเรื่องนรกให้ฟัง แสดงว่านรกไม่ มีอยู่จริง ”
พระกุมารกัสสปะตอบว่า
“เปรียบเหมือนโจรที่ทําผิด และถูกทางการจับกุมได้
ครั้นเมื่อถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ราชบุรุษก็นําตัวไปประหารชีวิต
โจรเหล่านั้นจะขอผัดผ่อนว่าขอกลับบ้าน
ไปเล่าให้ญาติมิตรฟังก่อน ว่าเวลาถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเป็นอย่างไร ก็คงไม่ได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้านเช่นนั้น
คนที่ทําชั่วพวกนั้น เมื่อต้องไปลงนรกก็เช่นเดียวกันนั้น”
พระเจ้าปายาสิตรัสต่อไปว่า
“ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง โยมเคยสั่งญาติมิตรของโยมหลายคน
ที่ทําดีต่างๆ มากมายว่าถ้าตายไปสู่สุคติในสวรรค์แล้ว
ขอให้กลับมาบอกว่าสวรรค์เป็นอย่างไร
พวกเขาเหล่านั้นล้วนแต่รับคํา แต่เมื่อพวกเขาตายไปหลายปีแล้ว ก็ไม่เห็นว่าพวกเขาจะกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ให้ฟัง แสดงว่าสวรรค์ไม่มีอยูจริง ”
พระกุมารกัสสปะตอบว่า
“เปรียบเหมือนผู้ที่เคยตกลงไปในหลุมอุจจาระจนมิดศีรษะ
ครั้นขึ้นจากหลุมอุจจาระนั้นมาได้ ก็ได้อาบนํ้าชําระเนื้อตัวจนสะอาดหมดจด แล้วนําเครื่องหอมมาชโลมตัวและนําผ้าสะอาดเนื้อดีมานุ่งห่ม
ผู้นั้นยอมจะเข็ดขยาดและไม่ยอมตกลงไปในหลุมอุจจาระนั้นอีก เพราะฝังใจว่าหลุมอุจจาระนั้นโสโครก
และมีกลิ่นเหม็น คนทั้งหลายก็ล้วนมีกลิ่นเหม็น
เปรียบได้กับหลุมอุจจาระ
ผู้ได้เป็นเทวดาเมื่อเข้าสู่สวรรค์แล้วก็ไม่อยาก
จะกลับมาหาคนทั้งหลายอีก
และอีกประการหนึ่ง มิติเวลาในสวรรค์คืนหนึ่งเท่ากับมิติเวลาในโลกมนุษย์นานนับร้อยปี
แม้พวกเขาระลึกได้ว่า ควรจะกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ให้ญาติมิตรที่เป็นคนได้ฟัง คนเหล่านั้นก็คงตายไปเสียก่อน”
พระเจ้าปายาสิตรัสต่อไปอีกว่า
“ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง โยมเห็นบรรดาสมณะผู้มีศีลธรรม
อันงามทั้งหลาย ล้วนแต่ดํารงชีพเป็นคนต่อไป
โดยไม่พบว่ามีท่านใดประสงค์จะฆ่าตัวตายทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นก็เห็นว่าในโลกหน้า ย่อมมีความสุขมากกว่าในโลกนี้แน่
หรือจะเป็นเพราะที่แท้แล้วท่านเหล่านั้นก็รู้วาโลกหน้าไม่มีอยู่จริง ”
พระกุมารกัสสปะตอบว่า
“เปรียบเหมือนผู้ที่เห็นว่าพ่อแม่ของเด็กแข็งแรงดี ย่อมมีลูก
ที่แข็งแรงดี จึงชิงผ่าเอาเด็กออกจากท้อง ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร เด็กนั้นก็จะไม่แข็งแรงและอาจไม่รอด
บุคคลผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมไม่ชิงสุกก่อนห่าม ฉันใดก็ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง การได้เกิดเป็นคนนั้นเป็นโอกาสอันประเสริฐที่จักได้เรียนรู้และพัฒนาสัมมาทิฐิ เพื่อบําเพ็ญความดีงามอันเป็นเหตุปัจจัยและพลังนําทาง ให้รู้เท่าทันถึงที่สุดแห่งทุกข์
และก้าวพ้นจากทุกข์นั้นได้
การฆ่าตัวตายเป็นบาป ที่ให้วิบากรุนแรงยิ่งและทําให้จิตที่ทุกข์ทรมานในขณะฆ่าตัวตายนั้น ต้องวนเวียนอยู่กับความมืดมนและวังวนแห่งทุกข์นั้นซํ้าแล้วซํ้าอีก
บุคคลผู้มีปัญญา เข้าใจความเป็นมาและเป็นไปแห่งชีวิตจึงไม่คิดฆ่าตัวตาย”
พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งต่อไปอีกว่า
“โยมเคยทดลองใช้กรรมวิธีต่างๆ ในการพิสูจน์ว่า
คนทั้งหลายมีดวงจิตอยู่จริงหรือไม่
โดยให้นําโจรผู้ร้ายหลายคนที่ทําผิดร้ายแรงและต้องโทษประหารชีวิตนั้น ไปประหารด้วยวิธีการต่างๆ กัน
ในขณะประหารชีวิต มีราชบุรุษหลายนาย ผู้มีสรรพวิทยาอันลํ้าลึกใช้สรรพวิทยานั้นในการตรวจสอบและเฝ้าสังเกตุว่า
จะมีดวงจิตออกจากร่าง ของผู้ถูกประหารชีวิตนั้นหรือไม่
แต่ก็ไม่พบเห็นดวงจิตนั้น จึงเชื่อว่าโลกหน้าไม่มีอยู่จริง
หากแต่คนและสัตว์ทั้งหลายเมื่อตายแล้วก็สูญไป”
พระกุมารกัสสปะตอบว่า
“เปรียบเหมือนคนที่ตาบอดแต่กำเนิด
แม้คนอื่นจะบอกว่าสัตว์นั้นๆ มีรูปร่างเช่นไร มีสีสันอย่างไร
ก็ไม่อาจรู้ตามได้ เพราะไม่ใช่วิสัยที่ตนจะเห็น
หรือแม้แต่คนที่ตาดี ก็มองเห็นได้อย่างจำกัด
ครั้นมีคนอื่นบอกว่าไปเมืองนั้นๆมา เป็นเช่นนั้นเช่นนี้
คนที่ไม่เคยไปเมืองนั้นๆ กลับแย้งว่าเมืองนั้นๆ
ไม่มีอยู่จริง เพราะตนมองไม่เห็น
หรือเมื่อมีคนเป่าแตร ผู้ที่ได้ยินเสียงแตร แต่มองไม่เห็นเสียงแตร จึงเถียงว่าไม่มีเสียงแตรเกิดขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง แม้แต่ในเวลาที่คนเราหลับและฝันไปว่า
ได้ไปยังที่แห่งนั้นแห่งนี้ เรายังไม่รู้ตัวเลยว่าดวงจิตของเรา
ออกจากร่างไปท่องเที่ยวดังในฝันนั้นตั้งแต่เมื่อใด
แล้วไฉนเล่าคนอื่นจะมาเห็นดวงจิตของเราได้
การรู้ว่าสิ่งทั้งปวงที่แท้แล้วเป็นไตรลักษณ์
คือ ล้วนแต่ไม่เที่ยง ไม่อาจทนอยู่ได้ และไม่มีตัวตนอยู่จริง
เป็นสัมมาทิฐิเพราะเป็นการเห็นตามความจริงว่า เป็นเช่นนั้น
แต่การเชื่อว่าคนหรือสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ
เป็นมิจฉาทิฐิเพราะแม้ชีวิตเป็นไตรลักษณ์ แต่เมื่อยังไม่หลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ยังชีวิตให้ดําเนินหมุนเวียนไปตามสังสารวัฏนั้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น โดยบังเอิญ หากแต่เป็นผลอันเกิดจากเหตุปัจจัย ที่สืบเนื่องกันทั้งสิ้น”
พระเจ้าปายาสิทรงตรึกตรองแล้ว
ก็มีศรัทธาเลื่อมใสในอรรถาธิบายของพระกุมารกัสสปะ
แสดงพระองค์เป็นอุบาสก
ขอนับถือพระรัตนตรัยไปตลอดพระชนม์ชีพ
——————————-
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ
จากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย
มหาวรรคเล่ม ๒ ภาค ๒,
ปายาสิราชัญญสูตร
ว่าด้วยทิฐิของพระยาปายาสิ