ปุโรหิตกินขี้แพะ
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง
ได้ยินมาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้เรียนจบวิชาดีดกรวด
วันหนึ่ง ได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส ออกบวชถวายชีวิตในพระศาสนา แต่กลับเกียจคร้าน
วันหนึ่งเธอไปสรงน้ำกับเพื่อนภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี
ขณะพักผ่อนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ มีหงส์ขาว ๒ ตัวบินผ่านมา เธอจึงบอกเพื่อนกันว่าสามารถที่จะเอาก้อนกรวดดีดไปที่นัยน์ตาของหงส์ตัวหลังทำให้ตกลงมาที่เท้า
พระเพื่อนกันไม่เชื่อ ท่านจึงบอกว่าจะทำให้ตาบอดทั้ง ๒ ข้างเลย จากนั้นก็ดีดก้อนกรวดทะลุนัยน์ตาทั้งสองข้างทันทีทำให้หงส์ตกลงมาที่เท้าได้จริง ๆ
ในขณะนั้น พวกภิกษุเดินผ่านมาพอดี เมื่อทราบเรื่องจึงพากันติเตียนภิกษุรูปนั้นแล้วพาตัวเธอไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที
พระศาสดาทรงตำหนิภิกษุนั้นแล้วตรัสกะเหล่าภิกษุเหล่านั้นว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นหรอก ที่ภิกษุรูปนี้ฉลาดในศิลปะการดีดกรวด แม้ในครั้งก่อน เธอก็มีความสามารถอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน”
จากนั้น ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี
พระองค์ มีปุโรหิตคนหนึ่งเป็นคนที่พูดมากไม่รู้จักกาละเทศะ เมื่อได้เวลาพูดก็จะพูดไม่หยุด
พระราชาทรงคิดหาอุบายที่จะดัดนิสัยปุโรหิตคนนี้
ครั้งนั้น ในเมืองพาราณสี มีบุรุษง่อยเปลี้ยคนหนึ่งได้เรียนจบวิชาดีดกรวด
พวกเด็กชาวบ้านจับเขาขึ้นไว้บนรถแล้วช่วยกันเข็นและลากเขาไปไว้ที่ใต้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้ประตูพระนครพาราณสี จ้างให้เขาช่วยดีดก้อนกรวดให้ทะลุใบไม้ทำเป็นรูปช้างบ้าง ม้าบ้าง
เขาก็ทำตามที่เด็กน้อยเหล่านั้นจ้างให้ดีดเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เลี้ยงชีพด้วยความสามารถในด้านวิชาชีพนั้น
ขณะนั้น พระเจ้าพาราณสีเสด็จพระดำเนินผ่านไปสู่อุทยานได้เสด็จมาถึงตรงนั้น พวกเด็กก็ตกใจกลัวพากันหนีไป ทิ้งชายเปลี้ยไว้แต่เพียงผู้เดียวที่ตรงนั้น
พระราชาประทับนั่งในราชรถทอดพระเนตรเห็นเงาต่าง ๆ เป็นรูปใบไม้ก็ทรงมหัศจรรย์พระทัยตรัสถามว่า
“ใครกันหนอ ที่มีความสามารถทำได้ขนาดนี้”
พวกราชบุรุษจึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ นี้เป็นฝีมือของบุรุษเปลี้ยที่นอนอยู่ที่โคนต้นไทร พระเจ้าข้า”
พระราชาทรงแย้มพระโอษฐ์เมื่อทรงนึกอุบายอย่างหนึ่งได้ จึงมีรับสั่งให้บุรุษเปลี้ยมาเข้าเฝ้าแล้วมีรับสั่งถามเขาว่า
“ในวังของเรามีพราหมณ์ปุโรหิตคนหนึ่ง เขาพูดมากเหลือเกินจนคนอื่นไม่มีโอกาสจะพูดได้เลย เธอสามารถทำให้เขาหยุดพูดได้หรือไม่”
บุรุษเปลี้ยกราบทูลว่า
“ถ้าได้ขี้แพะประมาณทะนานหนึ่ง หม่อมฉันรับรองได้เลยว่า เขาจะต้องเงียบสนิทอย่างแน่นอน พระเจ้าข้า”
พระราชาจึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษหามบุรุษเปลี้ยคนนั้นเข้าไปในวัง ให้เขานั่งในม่านโดยเจาะช่องม่านเอาไว้ตรงกับที่นั่งของพราหมณ์ปุโรหิตโดยมีขี้แพะแห้งหนึ่งทะนานวางไว้ตรงใกล้ ๆ บุรุษเปลี้ยนั้น
ในเวลาประชุมว่าราชการ เมื่อพระราชาทรงเริ่มการประชุม ในขณะนั้นนั่นเอง
พราหมณ์ปุโรหิตก็เริ่มแสดงวาทะว่าตนเองรู้ทุกเรื่องเหมือนเดิม
บุรุษเปลี้ยจึงลงมือดีดขี้แพะเข้าปากเขาทันที
ปุโรหิตแม้จะกลืนขี้แพะเข้าไปก็ยังไม่ยอมหยุดอีก
พออ้าปากจะพูดก็ถูกยิงกระหน่ำใส่จนกระทั่งหมดขี้แพะแห้งทั้งทะนาน
เมื่อขี้แพะหมดแล้ว บุรุษเปลี้ยจึงส่งสัญญาณให้พระราชาทรงทราบทันที
พระราชาจึงตรัสกะปุโรหิตาจารย์ว่า
“ท่านอาจารย์ ตัวท่านขนาดกลืนขี้แพะลงไปตั้งทะนานยังไม่รู้ตัวเลยเพราะความที่ตนเองเป็นคนพูดมากนั่นเอง บัดนี้ ตัวท่านคงไม่สามารถจะกลืนขี้แพะมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว ขอท่านจงดื่มน้ำประยงค์ถ่ายและอาเจียนเอาขี้แพะออกมาเถิด ท่านปุโรหิตเอ๋ย”
ตั้งแต่นั้นมา พราหมณ์ก็กลายเป็นเหมือนมีปากที่ถูกปิดเอาไว้ แม้จะถูกใครถามก็เงียบไม่ยอมคุยกับใครเลย
พระราชาทรงดำริว่า บุรุษเปลี้ยนี้ทำให้เราสบายหูจริง ๆ
จึงได้พระราชทานบ้านถึง ๔ หลัง ในทิศทั้ง ๔ ซึ่งสามารถเก็บส่วยได้ถึงแสนกษาปณ์
วันหนึ่ง อำมาตย์ได้เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ เป็นความจริงที่เดียวที่มนุษย์ในโลกนี้ ควรเรียนวิชาการความรู้เพื่อเอาไว้ประกอบอาชีพ เพราะแม้เพียงศิลปะดีดกรวดก็ยังทำให้บุรุษง่อยเปลี้ยคนนี้ได้สมบัติถึงขั้นนี้”
จากนั้น ได้กล่าวคาถานี้ว่า
ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ย่อมทำประโยชน์ให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง
ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรบุรุษง่อยเถิด
เขาได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศก็ด้วยการดีดมูลแพะ
อำมาตย์กล่าวสรรเสริญคุณของวิชาความรู้ว่า
“ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด บุรุษง่อยผู้นี้ได้รับพระราชทานบ้านตั้ง ๔ หลัง ใน ๔ ทิศ ด้วยการดีดขี้แพะ จะพูดไปทำไมถึงความรู้อื่น ๆ ว่าจะไม่มีคุณค่าเล่า”
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประชุมชาดกนี้ว่า
“บุรุษง่อยคือภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปนี้ พระราชาคืออานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตคือเราตถาคตนั่นเอง”
ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการศึกษาว่าเป็นเหมือนอาวุธ จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนำไปใช้ถูกที่ถูกเวลา
..การพูดสื่อสารถึงอารมณ์ผู้พูด..
..พูดให้คนเกลียดใช้เวลาไม่นาน..
..พูดให้คนพอใจตนเอง..
..บางครั้งไม่พูดมีค่ามากกว่า..
..ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ..