ประวัติเมณฑกเศรษฐี แห่งเมืองภัททิยนคร
เมื่อพระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของท่านผู้มีบุญทั้ง ๖ ท่านคือ เมณฑกเศรษฐี ภรรยาของเศรษฐีชื่อว่า
จันทปทุมา
ลูกชายชื่อธนัญชัยเศรษฐี ลูกสะใภ้ชื่อสุมนาเทวี หลานสาวชื่อนางวิสาขา และทาสคนสนิทชื่อปุณณะ
จึงเสด็จไปยังเมืองภัททิยนคร พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงประทับอยู่ในเชตวัน เพื่อรอคอยการมาเข้าเฝ้าของท่านเศรษฐี
ท่านเมณฑกเศรษฐี ได้ฟังการพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเพื่อนว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว
ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมอันบริสุทธิ์
เมื่อท่านเศรษฐีฟังแล้วเกิดความปีติขนลุกชูชัน จากนั้นจึงชักชวนภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานสาว และคนรับใช้คนสนิทไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในขณะที่ทั้ง ๖ ท่าน กำลังนั่งยานออกจากภัททิยนคร เพื่อเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พวกเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนา เห็นเมณฑกคหบดีมาแต่ไกล ก็ทักทายไต่ถามว่า
“ท่านคหบดี ท่านจะรีบไปที่ไหนกัน”
พอรู้ว่า ท่านเศรษฐีพร้อมหมู่ญาติ กำลังไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กลัวว่าท่านเศรษฐีจะหันไปนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพากันกล่าวห้ามว่า
“ท่านเศรษฐี ท่านเป็นกิริยวาทะ จะไปเฝ้าสมณโคดมผู้เป็นอกิริยวาทะได้อย่างไรกัน พระสมณโคดมเป็นอกิริยวาทะ
แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
การไปเฝ้าพระสมณโคดมจะ
มีประโยชน์อะไร
ท่านอย่าได้ไปเข้าเฝ้าให้เสียเวลาเลย”
เนื่องจากเมณฑกเศรษฐีสั่งสมบุญมามาก และอธิษฐานจิตไว้อย่างดีว่า ขอให้ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงสามารถแยกแยะได้ด้วยตนเองว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นบุคคลผู้เลิศ และเป็นพระอรหันต์โดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น จึงมิได้ใส่ใจคำทักท้วงของพวกเดียรถีย์
ท่านสั่งให้นายสารถีรีบขับยานมุ่งหน้าตรงต่อเชตวันโดยเร็ว ขณะเดินทางก็
เจริญพุทธานุสตินึกถึงพุทธคุณไปด้วย ความปีติเลื่อมใสก็เกิดขึ้นในใจของท่านตลอดเวลา
เมื่อไปถึงได้รีบลงจากรถ เดินเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วนั่งรอฟังธรรมจากพระองค์ต่อไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาคือ ทรงประกาศทานกถาว่าด้วยประโยชน์ของการให้ทาน
ทานเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินทางไกลในสังสารวัฏ จะช่วยประคับประคองชีวิตให้มีความเป็นอยู่อย่างไม่อัตคัตขัดสน
ทรงแสดงสีลกถา ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการรักษาศีล ว่าการประพฤติสุจริต จะนำพาชีวิตไปสู่สวรรค์
ทรงแสดงสัคคกถา ว่าด้วยการเสวยสุขในสวรรค์ชั้นต่างๆ เพราะเป็นผลที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีลไว้เป็นอย่างดี
ทรงแสดงกามาทีนวกถา โทษของกามอันเศร้าหมอง ไม่ว่าจะเป็นกามอันเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ ยังเป็นสุขที่มีทุกข์เจือปนอยู่ ไม่ใช่ประโยชน์อย่างสูงสุด
กามคุณ ๕ นี้ ทำหน้าที่ตรึงใจหมู่สัตว์ให้ติดอยู่ในภพสาม จึงไม่สามารถพบสุขอันเป็นอมตะคือ พระนิพพานได้
ฉะนั้น เมื่อปรารถนาสุขอย่างยิ่ง ก็ต้องทิ้งเบญจกามคุณให้ได้
ประการสุดท้าย
ทรงแสดงเนกขัมมานิสังสกถาคือ
อานิสงส์ในการออกจากกาม เพราะจะเป็นทางมาแห่งการเสวยเอกันตบรมสุข จะเข้าถึงได้ใจจะต้องปลอดจากกามฉันทะ
ต้องปลดต้องปล่อยต้องวางจากสิ่งต่างๆ
ที่เคยยึดมั่นถือมั่น เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านเศรษฐีมีใจผ่องใสปลอดจากนิวรณ์แล้ว
จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ไปตามลำดับ ท่านเมณฑกเศรษฐี และคณะก็ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันกันทุกคน
ครั้นรุ่งเช้า เมื่อเจ้าหน้าที่จัดแจงภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหมู่ภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึง ท่านเมณฑกเศรษฐีและทุกคนในครอบครัวได้ช่วยกันประเคน
ภัตตาหารอันมีรสเลิศด้วยมือของตนเอง แล้วนั่งคอยอุปัฏฐากด้วยความเคารพเลื่อมใส ท่านได้ปวารณากับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ตราบใดที่พระองค์ยังประทับอยู่ที่ภัททิยนครนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแด่ภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประมุข ขอพระองค์ทรงเมตตามารับภัตตาหารของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดุษณีภาพ และอนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของท่านเศรษฐี
นอกจากนี้ เศรษฐีได้กราบทูลให้พระบรมศาสดาทราบ เกี่ยวกับเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงถูกพวกเดียรถียร์กล่าวโทษที่ไม่เป็นความจริง อีกทั้งห้ามตนเอง และครอบครัวไม่ให้มาเข้าเฝ้าอีกด้วย
พระบรมศาสดาตรัสว่า
“คฤหบดี คนส่วนมากไม่เห็นโทษของตน แม้มีอยู่มากมาย แต่ชอบกล่าวโทษของคนอื่น ทั้งๆ ที่ไม่มีจริง
ย่อมปกปิดโทษของตนเหมือนพรานล่านกปกปิดอัตภาพด้วยเครื่องปกปิด
เพราะโทษของบุคคลอื่นเห็นได้ง่าย ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้
เมณฑกคหบดีเห็นแจ้ง ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป
พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่นครภัททิยะตามอัธยาศัยแล้ว ไม่ได้ลาท่านเมณฑกคหบดี เสด็จพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปถะ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกคหบดีครั้นทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังถิ่นธุรกันดารมาก
จึงสั่งทาส และกรรมกรให้บรรทุกเกลือ น้ำมัน ข้าวสาร ของขบฉันลงในเกวียน
สั่งให้คนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน พาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย จะได้เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดที่รีดใหม่ๆ ที่น้ำนมยังอุ่นๆ
ในสถานที่ๆ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นเมณฑกเศรษฐีตามไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้าในระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไปถวายบังคม กราบทูลอาราธนาว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า
เพื่อเพิ่มเติมบุญกุศล และปีติปราโมทย์ในวันรุ่งขึ้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ เมณฑกะทราบโดยอาการดุษณีแล้ว ก็รีบกลับไปสั่งให้ข้าทาสบริวารช่วยกันตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตถวาย
วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังสถานที่จัดภัตตาหารของเมณฑกเศรษฐี ท่านเศรษฐีจึงสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน
ให้ช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ ครั้นภิกษุสงฆ์ได้ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็เกิดความรังเกียจ
จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้รับประเคนนมสดมาฉันได้ เมื่อเมณฑกะถวายภัตตาหาร และนมสดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดารอัตคัดขาดน้ำ ขาดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ขอประทานวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาต และอนุโมทนาในเจตนาอันบริสุทธิ์ของท่านเศรษฐี แล้วรับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปัญจโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส
ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดขาดน้ำ ขาดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้
คือภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร
ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว
ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ
ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน
ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก
สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า
ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นไว้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทอง และเงินเยี่ยงคฤหัสถ์”
เหตุที่ได้นามว่า เมณฑกเศรษฐี
เนื่องจากว่าเมื่อท่านแต่งงานมีครอบครัว และย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่ แพะทองคำประมาณเท่าช้าง ม้า และโคอุสภะได้ชำแรกแผ่นดิน เอาหลังดุนหลังกันผุดขึ้นมาในพื้นที่ประมาณ ๘ กรีส อยู่ด้านหลังบ้านของท่านเศรษฐีเอง
แพะเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยกำลังบุญของท่านเศรษฐี เป็นแพะกายสิทธิ์ที่สามารถนำความสมปรารถนามาให้กับเจ้าของ และผู้ที่มาขอสมบัติต่างๆ ได้
ในปากแพะจะมีกลุ่มด้ายอยู่ ๕ สีด้วยกัน เมื่อใครต้องการสิ่งของชนิดไหน ให้ดึงด้ายสีนั้น พอดึงด้ายเส้นนั้นออกมา สิ่งที่ตัวเองปรารถนาจะออกมาด้วย
กลุ่มด้าย ๕ สีที่ถักทอเป็นกลุ่มๆ คือ เส้นด้ายสีเขียว สีเหลืองทอง สีแดง สีขาวเงิน และสีส้ม แต่ละสีถักเป็นเชือกเป็นกลุ่มๆ อยู่ในปากแพะ ไม่ได้ห้อยออกมาข้างนอกอย่างเกะกะ
พอตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาในสิ่งใด แพะจะอ้าปากให้ สมมติว่าอยากได้ของกิน ต้องดึงด้ายสีเขียว ของกินจะออกมาทันที อาหารแต่ละชนิดจะออกมาเป็นห่อ และมีภาชนะใส่อย่างดีอีกด้วย
หรืออยากได้ทองคำเป็นแท่งๆ ต้องดึงเส้นด้ายสีเหลืองทอง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานอยากได้ทองคำไปประกอบสัมมาอาชีพ ทองคำเป็นแท่งๆ จะไหลออกมาจากปากของแพะทันที
เส้นด้ายสีแดงเป็นจำพวกเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับ อยากได้ชุดไหนอย่างไรได้ทั้งนั้น ด้ายสีขาวเงินจะเป็นเงินแท่ง เป็นกหาปณะ สามารถเอาไปจับจ่ายใช้สอยได้ทันที
ด้ายสีส้มจะเป็นจำพวกยารักษาโรค รวมทั้งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
แพะทองคำสามารถทำให้ชาวเมืองทั้งเมืองนั้นอยู่เป็นสุขได้ทั่วหน้า เพราะอานุภาพบุญของท่านเมณฑกะเศรษฐี แพะเพียงตัวเดียวสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งเมือง
เลี้ยงคนได้ทั้งชมพูทวีป ใครอยากได้อะไรไปอธิษฐานเอาตามกำลังบุญของตัว ไม่ต้องเข้าคิวรอให้เสียเวลา
เพราะแพะกายสิทธิ์ของท่านเศรษฐีมีเป็นฝูงๆ และมีขนาดต่างๆ กัน ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เศรษฐีจึงปรากฏนามว่าเมณฑกเศรษฐี เพราะมีแพะกายสิทธิ์ทองคำ เกิดขึ้นจากการได้ทำบุญไว้ในอดีตชาติดังนี้
…………………………………………………………………………….
บุญทานที่สะสมและสร้างไว้เสมอๆทำให้จิตมีกำลัง
มีอธิฐานบารมีดั่งเรื่องนี้
รออ่านต่อนะคะ
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ