บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง
๑. บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและทำตอบแทน
บุพการี หมายถึง บุคคลผู้ทำอุปการะแก่คนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
บุพการี เป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เป็นลักษณะ
บุพการี ทำอุปการะก่อนทั้งตามหน้าที่และมิใช่หน้าที่ของตน โดยไม่หวังผลตอบแทน
บุพการี ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ
๑. มารดาบิดา
๒. อุปัชฌาย์อาจารย์
๓. พระมหากษัตริย์
๔. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๑. มารดาบิดา ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะท่านทั้งสอนเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ
มีเมตตาจิต บำรุงเลี้ยงดูบุตรธิดาของตนให้ได้รับความสุข คอยห้ามไม่ให้ทำความชั่ว คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยาคม จัดหาภรรยาหรือสามีให้ตามสมควร มอบทรัพย์สมบัติให้
พ่อแม่ได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ของลูก ต้องสังเกตุคำว่า พระอรหันต์ของลูก หมายความว่า พ่อแม่เปรียบเหมือนพระอรหันต์ก็จริง แต่เป็นพระอรหันต์เฉพาะของลูกตนเองเท่านั้น
ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ของคนทั่วไป คุณของพ่อแม่จึงปรากฏว่ายิ่งใหญ่เฉพาะกับลูกเท่านั้น
แตกต่างจากพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นทั้งพระอรหันต์ของลูก (กรณีที่ท่านมีลูก) และเป็นพระอรหันต์สำหรับคนทั่วไปด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษษ์ คุณของท่านจึงมีมากกว่า จึงยิ่งใหญ่กว่าพ่อแม่
ในกรณีที่กล่าวว่า พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก ก็พิจารณาในทำนองเดียวกับความเป็นพระอรหันต์ของลูก
๒. อุปัชฌาย์อาจารย์ ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะท่านเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม มีเมตตาจิต อนุเคราะห์ศิษย์ด้วย ๕ ประการ
คือ แนะนำให้รู้ว่าประโยชน์มิใช่ประโยชน์ บอกศิลปวิทยาให้แจ่มแจ้ง บอกศิลปวิทยาไม่ปิดบัง ประกาศเกียรติคุณศิษย์ให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ป้องกันศิษย์ในทุกสถาน
อุปัชฌาย์อาจารย์จึงมีคุณในระดับที่สูงขึ้นมา แต่ก็มีคุณเฉพาะกับลูกศิษย์เท่านั้น อาจารย์อาจมีลูกศิษย์ได้มาก มีเยอะ อาจมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ยกตัวอย่างผู้ที่ระลึกถึงคุณของอาจารย์ คือพระสารีบุตร ที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านระลึกถึงคุณของพระอัสสชิ ทุกคืนก่อนนอนท่านจะเข้าญาณดูว่า พระอัสสชิอยู่ในทิศใด ท่านก็จะนอนหันศรีษะไปทางทิศนั้น
๓. พระมหากษัตริย์ ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม มีเมตตาจิต ทรงประกอบด้วยศีลธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ทรงปกครองพสกนิกร โดยไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ เพื่อมุ่งประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลักสำคัญอย่างแท้จริง
พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีคุณสูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะเป็นผู้ปกครองประเทศ ปกครองประชาชน ด้วยทศพิธราชธรรม ประชาชนที่พระองค์ปกครองย่อมมีมากกว่า
เมื่อเทียบระหว่างอาจารย์กับศิษย์ มีภาระที่กระทำที่เรียกพระราชกรณียกิจ ดูจากพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.๙ และพระบรมราชินีนาถ
ที่ทรงบำเพ็ญโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์
เห็นประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยามเป็นประการสำคัญ ด้วยความรัก ด้วยความเมตตา ที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงเสียสละ ทำให้เราเคารพ รัก ศรัทธา ทั้ง ๒ พระองค์เป็นอย่างมาก
เราจึงระลึกถึงคุณของพระองค์ที่มีต่อเราและประชาชน อย่างหาที่สุดไม่ได้
๔. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะพระองค์ทรงอาศัยพระเมตตาจิต ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ตามเห็นตามด้วยกำลังสติปัญญาความสามารถของผู้นั้น
ทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาท ๓ ประการ คือ ให้เว้นจากการทำชั่วทุกอย่างทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้ประพฤติชอบ ให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส
ผู้มีคุณสูงสุดคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะสอนให้เราดับทุกข์ เพิ่มสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้าแล้ว
คำสอนของพระองค์ยังสามารถทำให้เราสามารถพ้นจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง โดยไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารได้อีกด้วย
บุพพการีที่๓ ประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ช่วยให้เรามีความสุขได้เฉพาะชาตินี้ แต่พระพุทธเจ้าช่วยได้ถึงชาติหน้า และชาติต่อๆไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้ที่รู้จักบุญคุณของผู้อื่นที่ทำแล้วแก่ตน
กตเวที หมายถึง บุคคลที่ตอบแทนบุญคุณของผุ้อื่นที่ได้กระทำแก่ตน
กตัญญูกตเวที หมายถึง บุคคลผุ้ระลึกถึงอุปการคุณที่ผู้อื่นได้กระทำไว้แก่ตน แล้วกระทำตอบแทนอุปการคุณนั้น
กตัญญูกตเวที ต้องเป็นผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำความดีของผู้อื่นและแสดงออกเพื่อบุชาคุณความดีนั้น
กตัญญูกตเวที ต้องตอบแทนอุปการคุณของท่าน เท่าที่จะกระทำได้ ตามโอกาสและความสามารถจะอำนวย
กตัญญูกตเวที ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ ๑. บุตรธิดา ๒. สัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ๓. ราษฎร ๔. พุทธบริษัท
เหตุที่เรียกบุคคล ๒ ประเภท คือ บุพการีและกตัญญูกตเวทีว่า เป็นบุคคลหาได้ยาก เพราะ คนเรานั้นถูกอวิชชาและตัณหาครอบงำ มุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว เมื่อตนเองได้รับความสุขแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะทำตนให้เป็นบุพการีได้ ส่วนผู้ที่ได้รับอุปการะจากผู้อื่นแล้ว โดยมากมักรู้จักแต่คุณ ไม่รู้จักตอบแทน จึงเป็นการยากที่จะทำตนให้เป็นกตัญญูกตเวทีได้
——————————————————
หนาวเย็นเท่าไหร่ก็ต้องอดทน
หวาดกลัวแค่ไหนก็ต้องมีสติ
รักโดยไม่ครอบครอง คือรักที่ไม่มีข้อแม้
เสียสละได้ทุกอย่างเพื่อลูกทุกคน
เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ฐานะแม่ และฐานะอุบาสิกา
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ