บัณฑิตจอบเหี้ยน
ในสมัยพุทธกาล มีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่งชื่อจิตตหัตถ์ มีอาชีพเลี้ยงโค วันหนึ่งโคเกิดหายไป เขาจึงไปเที่ยวหาในป่า และได้พบโคในเวลาเที่ยง เมื่อต้อนโคเข้าฝูงเสร็จแล้ว
เขารู้สึกหิว เขาจึงเข้าไปสู่วิหารแห่งหนึ่งอันเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ ด้วยหวังว่าจะได้อะไรกินบ้าง
ฝ่ายพระภิกษุ เมื่อเห็นเขาหิวจึงให้อาหารที่เหลือจากการฉัน ในเวลานั้นพระภิกษุมีอาหารเหลือเฟือมาก ด้วยมีลาภสักการะที่อาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้า
เมื่อเขากินอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้วจึงถามพระภิกษุว่า วันนี้ไปรับกิจนิมนต์มาหรือ แต่คำตอบที่ได้รับ ทำให้ทราบว่าแม้วันธรรมดาก็มีฉันอย่างนี้เสมอ
จิตตหัตถ์ได้ฟังก็คิดว่า
“เราตื่นแต่เช้าทำงานทั้งวัน ก็ยังไม่ได้อาหารประณีตอย่างที่เหลือจากพระภิกษุในวันนี้ ถ้าเช่นนั้นเราจะเป็นคฤหัสถ์ทำไม ออกบวชเสียดีกว่า”
เมื่อคิดดังนี้แล้ว เขาจึงขอบวชกับพระภิกษุ หลังจากบวชเขาได้อาศัยลาภสักการะ ไม่นานนักสรีระก็อ้วนท้วนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะบวช พระจิตตหัตถ์เคยแต่งงานมาแล้ว และภรรยาก็ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยความคิดถึงภรรยา เขาจึงขอสึกออกไป ครั้นไปทำงานหนักเข้าก็สูบผอมลงอีก จึงกลับมาหาพระภิกษุเพื่อขอบวช เขาบวชๆ สึกๆ อยู่อย่างนี้ถึง 6 ครั้ง
จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงที่สึกไปเป็นฆราวาส หลังกลับจากทำงานในป่า จิตตหัตถ์ก็เดินเข้าไปในเรือน ด้วยคิดจะนำผ้ากาสายะไปบวชอีก บังเอิญเห็นภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์นอนหลับอยู่
ภาพที่เห็นคือ ผ้านุ่งของเธอหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกจากปากที่อ้าอยู่ เสียงกรนดังครืดๆ อาการนั้นปรากฏแก่จิตตหัตถ์เหมือนศพที่ขึ้นพอง เขาคิดว่า
“สรีระนี้ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ เราบวชมามากมายหลายครั้งแล้ว แต่เพราะอาศัยสรีระนี้จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ ครั้งนี้เราจะออกบวชแล้วไม่กลับมาอีก”
เมื่อจิตตหัตถ์เดินออกจากบ้านไปแล้ว ก็บ่นพึมพำไปด้วยว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์” และขณะเดินไปนั่นเอง เขาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่อถึงวิหารก็ขอบวชเหมือนเช่นเคย
พระภิกษุทั้งหลายเอือมระอากับการบวชของเขาเต็มที จึงกล่าวว่า
“จิตตหัตถ์ พวกเราบวชให้ท่านไม่ได้อีกแล้ว ความเป็นสมณะของท่านไม่มีประโยชน์อะไรเลย ท่านบวชๆ สึกๆ จนหัวเหมือนหินลับมีดแล้ว”
แต่จิตตหัตถ์ก็อ้อนวอนขอบวชอีกครั้งเดียวเท่านั้น ในที่สุดพระภิกษุจึงบวชให้อีก นับเป็นครั้งที่ 7 การบวชครั้งนี้เขามีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่สึกอีก
และก็สมความตั้งใจ เขาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ภายในเวลา 2 – 3 วันเท่านั้น แต่ด้วยความที่เคยเป็นคนโลเล เมื่อถึงคราวเอาจริงจึงไม่ค่อยมีใครเชื่อ เมื่อเห็นพระจิตตหัตถ์บวชนานวันเข้า เพื่อนภิกษุด้วยกันจึงถามเชิงล้อเลียนว่า
“จิตตหัตถ์ ยังไม่ถึงวันสึกอีกหรือ ทำไมครั้งนี้จึงชักช้าอยู่เล่า”
พระจิตตหัตถ์ ตอบว่า
“เมื่อก่อนนี้ข้าพเจ้ามีความเกี่ยวข้องอยู่ แต่บัดนี้ข้าพเจ้าตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว”
เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่าพระจิตตหัตถ์พูดอวดมรรคอวดผล จึงไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย จิตตหัตถ์บุตรของเราไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้พระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง บัดนี้บุตรของเราละบุญและบาปได้แล้ว”
ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้หยาบนัก กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้ กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชถึง 7 ครั้ง สึกถึง 6 หน”
ขณะนั้นองค์พระศาสดาเสด็จมาทรงสดับกถานั้นด้วย จึงตรัสว่า
“ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักรวาลนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย กิเลสนี้เองสามารถทำบุรุษอาชาไนยผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแม้เช่นเราให้มัวหมองได้ ไม่ต้องกล่าวถึงคนเหล่าอื่น เราเองก็เคยอาศัยข้าวฟ่าง ลูกเดือยเพียงครึ่งทะนานและจอบเหี้ยน จนต้องบวชแล้วสึกถึง 6 หน”
พระภิกษุเกิดความสงสัยว่าเรื่องราวเป็นเช่นไร พระศาสดาจึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตของพระองค์ดังนี้
ในอดีตกาลมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ กุททาลบัณฑิต อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เขาออกบวชเป็นนักพรตภายนอกพระพุทธศาสนา และอาศัยอยู่ ณ หิมวันตประเทศมา 8 เดือน พอถึงฤดูฝนแผ่นดินชุ่มชื้น เขาคิดว่า
“ในเรือนของเรามีข้าวฟ่างและลูกเดือยอย่างละครึ่งทะนาน และจอบเหี้ยนอีกอันหนึ่ง เราพอทำการเพาะปลูกได้ อย่าให้ข้าวฟ่างและลูกเดือยต้องเสียไปเลย”
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วเขาจึงสึกออกมาเพาะปลูก เมื่อเมล็ดพืชแก่ก็เก็บเกี่ยว แล้วเก็บไว้ทำพันธุ์ทะนานหนึ่ง นอกนั้นนำมาบริโภคแล้วออกบวชอีก 8 เดือน พอถึงฤดูฝนแผ่นดินชุ่มชื้นก็สึกอีก ทำเช่นนี้ ถึง 7 ครั้ง
ในครั้งที่ 7 เกิดสังเวชสลดใจคิดว่า
“เราควรจะทิ้งข้าวฟ่าง ลูกเดือย และจอบเหี้ยนในที่ใดที่หนึ่งที่จะหามันไม่เจออีก”
ตอนแรกเขาจะทิ้งในแม่น้ำคงคา แต่แล้วกลับกลัวว่าตัวเองจะลงไปงมในภายหน้าได้ จึงนำผ้าห่อข้าวฟ่างและลูกเดือย ไปพันเข้ากับจอบ จับด้ามจอบเวียนเหนือศีรษะ 3 รอบแล้ว หลับตาเหวี่ยงลงไปในแม่น้ำคงคา เสร็จแล้วจึงลืมตาขึ้นดู เมื่อไม่เห็นว่าโยนลงไปตกที่ใด จึงเปล่งเสียงดังขึ้นสองครั้งว่า
“เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”
ขณะนั้นบังเอิญพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จกลับจากการปราบปัจจันตชนบท
สั่งให้ทหารปลูกค่ายพักที่ริมฝังแม่น้ำคงคา ตกเย็นพระองค์เสด็จลงในแม่น้ำเพื่อสรงสนานพระวรกาย
ได้ยินเสียงตะโกนของกุททาลบัณฑิต ทรงไม่พอพระทัย เพราะโดยปกติคำพูดที่ว่า “ชนะแล้ว ชนะแล้ว” ย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระราชา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเสด็จเข้าไปหาพร้อมตรัสถามว่า
“เราทำการย่ำยีศัตรูมาเดี๋ยวนี้ด้วยเข้าใจว่า เราชนะแล้ว แต่ท่านกลับร้องว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว หมายความว่ากระไร” กุททาลบัณฑิตทูลตอบว่า
“พระองค์ทรงชนะโจรภายนอก แต่ความชนะของพระองค์อาจกลับแพ้ได้ ส่วนข้าพระองค์ชนะโจรภายในคือความโลภ แล้วจักไม่แพ้อีก การชนะโจรภายในคือความโลภดีกว่าการชนะโจรภายนอก”
จากนั้นกุททาลบัณฑิตก็กล่าวคาถาย้ำว่า
“ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นยังไม่ดี ส่วนความชนะใดไม่กลับมาแพ้อีก ชัยชนะนั้นถือว่าดี”
เมื่อกล่าวจบ กุททาลบัณฑิตมองดูแม่น้ำคงคา ทำกสิณมีน้ำเป็นอารมณ์ (อาโปกสณิ) ให้เกิดขึ้น แล้วจึงบรรลุคุณพิเศษ ลอยขึ้นสู่อากาศ
พระราชาเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใส ขอบรรพชา ไพร่พลและพระราชาอื่นๆ ในแคว้นใกล้เคียงทรงสดับเรื่องราว แล้วเสด็จออกมาบวชตามถึง 7 พระองค์
หลังจากเล่าเรื่องนี้ให้เหล่าพระภิกษุที่สงสัยในการตรัสรู้ธรรมของพระจิตตหัตถ์ฟังแล้ว พระศาสดาได้ตรัสในที่สุดว่า
“ภิกษุทั้งหลาย กุททาลบัณฑิตในกาล..นั้นคือเราในบัดนี้…ขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นของหยาบนัก!”
………………………………………………………
“ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นยังไม่ดี ส่วนความชนะใดไม่กลับมาแพ้อีก ชัยชนะนั้นถือว่าดี”
สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่สิ่งที่เราคิด
อย่าใช้อคติในใจตัดสินใครเพียงแค่เห็น..
กำจัดอคติเราดีกว่าเฝ้าดูความผิดคนอื่น
สอบสวนใจตนเท่าลมหายใจ
ชนะใจตนเองเป็นสุขทุกเมื่อ
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ