บรรพชิต เมื่อวิ่ง ก็ไม่งาม ย่อมได้แต่ความครหาอย่างเดียวเท่านั้นว่า
‘ทำไม สมณะรูปนี้ จึงวิ่งไปเหมือนคฤหัสถ์ แต่ย่อมงาม ด้วยการเดินอย่างอาการของผู้สงบเสงี่ยม
สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม ย่อมถูกเขาติเตียนอย่างเดียวว่า ‘ทำไม หญิงคนนี้ จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ย่อมงามด้วยการเดินอย่างธรรมดา
พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวกเหล่านั้นเมื่อวิ่งไป ย่อมไม่งาม.
พราหมณ์ : ก็เหตุอื่นอีกอย่างหนึ่ง เป็นไฉน? แม่.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดา ถนอมอวัยวะน้อยใหญ่เลี้ยงดูธิดา
เพราะว่า พวกฉัน ชื่อว่าเป็นสิ่งของอันมารดาบิดาพึงขาย มารดาบิดาเลี้ยงฉันมา ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลอื่น
ถ้าว่า ในเวลาที่พวกฉันวิ่งไป เหยียบชายผ้านุ่งหรือลื่นล้มลงบนพื้นดิน
มือหรือเท้าก็จะพึงหัก พวกฉันก็จะพึงเป็นภาระของตระกูลนั้นแล ส่วนเครื่องแต่งตัว เปียกแล้วก็จักแห้ง ดิฉันกำหนดเหตุนี้ จึงไม่วิ่งไป พ่อ.
พราหมณ์สวมมาลัยทองให้
พวกพราหมณ์เห็นความถึงพร้อมแห่งฟัน ในเวลานางพูด จึงให้สาธุการแก่นางว่า
“สมบัติเช่นนี้ พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย”
แล้วกล่าวว่า
“แม่ พวงมาลัยนี้ สมควรแก่เธอเท่านั้น”
ดังนี้แล้ว จึงได้คล้องพวงมาลัยทองนั้นให้
ลำดับนั้น นางจึงถามพวกเขาว่า
“พ่อทั้งหลาย พวกท่านมาจากเมืองไหน”
พราหมณ์ : จากเมืองสาวัตถี แม่.
วิสาขา : ตระกูลเศรษฐี ชื่อไร”
พราหมณ์ : ชื่อมิคารเศรษฐี แม่.
วิสาขา : บุตรของท่านเจ้าพระคุณ ชื่อไร?
พราหมณ์ : ชื่อปุณณวัฒนกุมาร แม่.
นางวิสาขานั้น รับรองว่า “ตระกูลของเรา เสมอกัน”
ดังนี้แล้ว จึงส่งข่าวไปแก่บิดาว่า
“ขอคุณพ่อและคุณแม่ จงส่งรถมาให้พวกดิฉัน.”
ก็ในเวลามา นางเดินมาจริง ถึงอย่างนั้น
นับแต่เวลาที่ประดับด้วยมาลัยทองคำแล้ว ย่อมไม่เหมาะที่จะเดินไปเช่นนั้น
บิดาของนางวิสาขานั้นก็ส่งรถไป ๕๐๐ คัน.นางวิสาขานั้นกับบริวารขึ้นรถไป พวกพราหมณ์ทั้งแปดก็ได้พบไปท่านเศรษฐีด้วยกัน
ที่นั้น
ท่านเศรษฐี ถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า
“พวกท่านมาจากไหน”
พราหมณ์ : มาจากเมืองสาวัตถี ท่านมหาเศรษฐี.
เศรษฐี : เศรษฐีชื่อไร”
พราหมณ์ : ชื่อปุณณวัฒนกุมาร.”
เศรษฐี : ทรัพย์มีเท่าไร”
พราหมณ์ : ๔๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐ”
เศรษฐีรับคำ ด้วยคิดว่า
“ทรัพย์เท่านั้น เทียบทรัพย์ของเรา ก็เท่ากับกะบิเดียว แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดในเรื่องอื่น นอกจากเรื่องที่นางทาริกาได้มีผู้ดูแล”
เศรษฐีนั้นทำสักการะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ให้พักอยู่วัน ๒ วัน แล้วก็ส่งกลับ.
พราหมณ์กลับเมืองสาวัตถี
เมื่อพวกพราหมณ์เหล่านั้นเดินทางกลับถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ก็เข้าไปแจ้งเรื่องราวต่อท่านมิคารเศรษฐีว่า
“พวก ข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว.”
มิคารเศรษฐีเศรษฐี : ลูกสาวของใคร”
พราหมณ์ : ของธนัญชัยเศรษฐี.
มิคารเศรษฐีนั้นคิดว่า
“นางเป็นทาริกาแห่งตระกูลใหญ่ เมื่อท่านเศรษฐีตกลงแล้ว ควรที่เราจะนำนางมาโดยเร็วทีเดียว”
ดังนี้แล้ว กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลเพื่อไปในเมืองนั้น.
พระปเสนทิโกศลทรงดำริว่า
“ตระกูลท่านธนัญชัยเศรษฐีนั้นเราได้นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อยู่อาศัยในเมืองสาเกต เราควรจะทำความยกย่องแก่ตระกูลนั้น”
ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งว่า “แม้เรา ก็จักไปด้วย”
มิคารเศรษฐีทูลว่า : “ดีละ พระเจ้าข้า”
ดังนี้แล้ว ส่งข่าวไปบอกแก่ธนัญชัยเศรษฐีว่า
“ข้าพเจ้าจักโดยเสด็จมากับพระราชา พลของพระราชามาก ท่านสามารถรับรองชนประมาณเท่านั้นหรือไม่”
ฝ่ายท่านธนัญชัยเศรษฐีก็ได้ส่งข่าวตอบไปว่า แม้ถ้าพระราชาจะเสด็จมาสัก ๑๐ พระองค์ ขอจงเสด็จมาเถิด.”
มิคารเศรษฐี พาเอาคนที่เหลือในนครใหญ่ถึงเพียงนั้นไป เหลือไว้เพียงคนเฝ้าเรือน หยุดพักในหนทางกึ่งโยชน์แล้ว ส่งข่าวไปว่า
“พวกข้าพเจ้ามาแล้ว.”
ธนัญเศรษฐีกับธิดาจัดสถานที่ต้อนรับ
ธนัญชัยเศรษฐีก็ได้จัดส่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปตามธรรมเนียม แล้วปรึกษากับธิดาว่า
“แม่ ได้ยินว่า พ่อผัวของเจ้า มากับพระเจ้าโกศล เราควรจัดเรือนหลังไหน
สำหรับพ่อผัวของเจ้านั้น
หลังไหนสำหรับพระราชา
หลังไหน สำหรับชนอื่น ๆ มีอุปราชเป็นต้น.”
เศรษฐีธิดาผู้ฉลาด มีญาณเฉียบแหลมดุจยอดเพชร ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป สมบูรณ์แล้วด้วยอภินิหาร จัดแจงเรื่องดังกล่าวโดยสั่งการว่า
“ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเรือนหลังโน้นเพื่อพ่อผัวของเรา หลังโน้นเพื่อพระราชา หลังโน้น เพื่ออุปราชเป็นต้น”
ดังนี้แล้ว ให้เรียกทาสและกรรมกรมา จัดการว่า
“พวกท่าน เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่พระราชา เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่อุปราชเป็นต้น พวกท่านนั่นแล จงดูแลแม้สัตว์พาหนะมีช้างและม้าเป็นต้น
แม้คนผูกม้าที่มาด้วย ก็จงดูแลให้ได้ชมมหรสพในงานมงคล.”
ถามว่า : “เพราะเหตุไรนางจึงจัดอย่างนั้น”
ตอบว่า : เพราะคนบางคน อย่าได้เพื่อพูดว่า เราไปสู่ที่มงคลแห่งนางวิสาขา
ไม่ได้อะไรเลย ทำแต่กิจมีการเฝ้าม้าเป็นต้น ไม่ได้เที่ยวตามสบาย.”
ว่าด้วยเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์
ในวันนั้นแล บิดาของนางวิสาขา ให้เรียกช่างทองมา ๕๐๐ คนแล้วกล่าวว่า
“พวกท่านจงทำเครื่องประดับ ชื่อมหาลดาปสาธน์แก่ธิดาของเรา”
ดังนี้ สั่งให้ให้ทองทำมีสีสุกพันลิ่ม
และเงิน แก้วมณี แก้วมุกดา ประพาฬ
และเพชรเป็นต้น พอสมกับทองนั้น.
พระราชาประทับอยู่ ๒-๓ วันแล้ว ทรงส่งข่าวไปแก่ธนัญชัยเศรษฐีว่า
“เศรษฐีคงไม่สามารถทำการเลี้ยงดูพวกเราได้ตลอดไป ขอเศรษฐีจงกำหนดเวลาส่งตัวของนางทาริกาเถิด.”
ฝ่ายเศรษฐีนั้น ส่งข่าวไปทูลพระราชาว่า
“บัดนี้ ฤดูฝนมาถึงแล้ว ใคร ๆ ไม่อาจเพื่อเที่ยวไปตลอด ๔ เดือนได้ การที่หมู่พลของพระองค์ประสงค์จะได้วัตถุใด ๆ ที่สมควร วัตถุนั้น ๆ
ทั้งหมดเป็นภาระของข้าพระองค์ พระองค์ผู้สมมติเทพจักเสด็จไปได้ในเวลาที่ข้าพระองค์ส่งเสด็จ.”
นับแต่นั้นมานครสาเกตได้เป็นนครที่ครึกครื้นราวกะมีนักษัตรเป็นนิตย์.
ส่วนเครื่องประดับยังไม่เสร็จก่อน ผู้ควบคุมงานมาแจ้งแก่เศรษฐีว่า
“สิ่งอื่นที่ต้องการมีอยู่อย่างบริบูรณ์ เว้นแต่ฟืนสำหรับหุงต้มอาหารเพื่อหมู่พลมีไม่พอ.”
เศรษฐี กล่าวว่า
“ไปเถิดพ่อทั้งหลาย พวกท่านจงรื้อขนเอาโรงช้างเก่า ๆ เป็นต้นและเรือนเก่าในนครนี้หุงต้มเถิด.”
เมื่อหุงต้มอยู่อย่างนั้น ล่วงไปแล้วอีกกึ่งเดือน ผู้ควบคุมงานก็มาแจ้งแก่ทานเศรษฐีอีกครั้งว่า
“ฟืนไม่มี.”
เศรษฐีกล่าวว่า
“พวกท่านจงเปิดเรือนคลังผ้าทั้งหลาย แล้วเอาผ้าเนื้อหยาบ ทำเป็นเกลียวชุบลงไปในตุ่มน้ำมัน ใช้เพื่อหุงภัตเถิด.”
ชนเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้น ตลอดกึ่งเดือน ระยะเวลา ๔ เดือนผ่านไปแล้วโดยลักษณะนี้.และแล้วการทำเครื่องประดับก็สำเร็จลง
เครื่องประกอบในมหาลดาปสาธน์
มหาลดาปสาธน์นั้นประกอบไปด้วย เพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน. แก้วมณี ๓๓ ทะนาน
ในงานส่วนที่ต้องใช้ด้ายนั้น นายช่างก็จัดทำด้วยเงิน เครื่องประดับนั้นเมื่อสวมที่ศีรษะแล้วยาวลงมาจนจดหลังเท้า.
ลูกดุมที่เขาประกอบเป็นแหวนในที่นั้น ๆ ทำด้วยทอง ห่วงทำด้วยเงิน แหวนวงหนึ่ง
ที่ท่ามกลางกระหม่อม หลังหูทั้ง ๒ วง ที่หลุมคอ ๑ วง ที่เข่าทั้งสอง ๒ วง ที่ข้อศอกทั้งสอง ๒ วง ที่ข้างสะเอวทั้งสอง ๒ วง ดังนี้
ก็ในเครื่องประดับนั้น เขาทำนกยูงตัวหนึ่ง
ขนปีกทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน
ได้มีที่ปีก
เบื้องขวาแห่งนกยูงนั้น อีก ๕๐๐ ขน
ได้มีที่ปีกด้านซ้าย
จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี คอและแววหางก็เหมือนกัน ก้านขนทำด้วยเงิน ขาก็เหมือนกัน
นกยูงนั้น สถิตอยู่ท่ามกลางกระหม่อมแห่งนางวิสาขา ปรากฏประหนึ่งนกยูงยืนรำแพนอยู่บนยอดเขา
เสียงแห่งก้านขนปีกพันหนึ่งเป็นไปประหนึ่งทิพยสังคีต และประหนึ่งเสียงกึกก้องดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕
ชนทั้งหลายผู้เข้าไปสู่ที่ใกล้เท่านั้น จึงจะทราบว่า นกยูงนั้นไม่ใช่ยกยูงจริง เครื่องประดับมีค่า ๙ โกฏิ ท่านเศรษฐีให้ค่าหัตถกรรม (ค่ากำเหน็จ) แสนหนึ่ง.
หญิงถวายจีวรย่อมได้มหาลดาปสาธน์
ถามว่า “ก็เครื่องประดับนั่น อันนางวิสาขานั้นได้แล้ว เพราะผลแห่งกรรมอะไร”
แก้ว่า “ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
นางถวายจีวรสาฎก แก่ภิกษุ ๒ หมื่นรูปแล้ว ได้ถวายด้ายบ้าง เข็มบ้าง เครื่องย้อมบ้าง ซึ่งเป็นของตนนั่นเอง นางได้แล้วซึ่งเครื่องประดับนี้ เพราะผลแห่งจีวรทานนั้น
จีวรทานของหญิงทั้งหลาย ย่อมถึงที่สุดด้วยเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์
จีวรทานของบุรุษทั้งหลาย ย่อมถึงที่สุดด้วยบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์.”
เศรษฐีจัดไทยธรรมให้นางวิสาขา
มหาเศรษฐี ทำการตระเตรียมเพื่อธิดาโดยตลอด ๔ เดือนอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะให้สิ่งของแก่ธิดานั้น ได้ให้เกวียนเต็มด้วยกหาปณะ๕๐๐ เล่ม
ได้ให้เกวียนเต็มด้วยภาชนะทองคำ ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยภาชนะเงิน ๕๐๐ เล่ม ด้วยภาชนะทองแดง ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยภาชนะสำริด ๕๐๐ เล่ม
เต็มด้วยผ้าด้ายผ้าไหม ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยเนยใส ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยน้ำมัน ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยน้ำอ้อย ๕๐๐ เล่ม
เต็มด้วยข้าวสารแห่งข้าวสาลี ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยเครื่องอุปกรณ์ มีไถและผาล เป็นต้น ๕๐๐ เล่ม.
ได้ยินว่า ความคิดอย่างนี้ได้มีแก่มหาเศรษฐีนั้นว่า
“ในที่แห่งธิดาของเราไปแล้ว นางอย่าได้ส่งคนไปสู่ประตูเรือนของคนอื่นว่า “เราต้องการด้วยวัตถุชื่อโน้น”
เพราะฉะนั้น มหาเศรษฐีจึงได้สั่งให้ให้เครื่องอุปกรณ์ทุกสิ่ง (แก่ธิดาของตน)
มหาเศรษฐีได้ให้รถ ๕๐๐ คัน ตั้งนางสาวใช้รูปงามผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ
พร้อมสรรพ
ไว้บนรถคันละ ๓ คน ๆ ได้ให้นางปริจาริกา ๑ ๕๐๐ คน ด้วยสั่งว่า
“พวกเจ้าเท่านี้คนจงให้ธิดาของเราอาบ เท่านี้คนให้บริโภค เท่านี้คนแต่งตัว เที่ยวไป.”
ครั้งนั้น มหาเศรษฐีประสงค์จะให้โคแก่ธิดา ท่านจึงสั่งบุรุษว่า
“พนาย พวกท่านจงไป จงเปิดประตูคอกแล้วจงตีกลองต้อนแม่โคให้ออกจากคอก เมื่อฝูงแม่โคออกไปอยู่ในที่ยาว ๓ คาวุต (๑๒ กิโลเมตร) กว้างประมาณ ๑ อุสภะ (๕๐ เมตร) ก็จงปิดคอก”
พวกเขาทั้งหลายก็ได้ไปกระทำตามนั้น ดังนั้นแม่โคทั้งหลายก็ได้ยืนเบียดกันและกันในที่ยาวประมาณ ๓ คาวุต กว้างประมาณ ๑ อุสภะ ด้วยประการอย่างนี้.
ครั้นเมื่อมหาเศรษฐีสั่งให้ปิดประตูคอกว่า
“โคเท่านั้น พอแล้วแก่ธิดาของข้าพเจ้า พวกเจ้าคงปิดประตูเถิด.”
เมื่อเขาปิดประตูคอกแล้ว แต่เพราะผลบุญของนางวิสาขาในอดีตมาส่งผล
โคตัวมีกำลังและแม่โคนมทั้งหลายก็กระโดดออกไปจากคอกที่ปิดแล้ว เข้าไปรวมอยู่กับฝูงโคที่จะมอบให้แก่นางวิสาขา
แม้เมื่อพวกผู้ดูแลฝูงวัวกำลังห้ามอยู่นั่นแล โคผู้ที่แข็งแรง ๖ หมื่นตัว และแม่โคนม ๖ หมื่นตัว รวมทั้ง ลูกโคตัวที่มีกำลังแข็งแรง จำนวนเท่ากัน ก็ออกไปจากคอกแล้ว
ถามว่า
“ก็โคทั้งหลายออกจากคอกไปอย่างนั้น เพราะผลแห่งกรรมอะไร”
แก้ว่า “เพราะผลแห่งทานที่นางวิสาขาถวายแล้วแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ห้ามอยู่ ๆ .”
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
นางเป็นน้องสุดท้องของธิดาทั้ง ๗ ของพระเจ้ากิกิ มีพระนามว่าสังฆทาสี
เมื่อถวายเบญจโครสทานแก่ภิกษุ ๒ หมื่นรูป
แม้เมื่อภิกษุหนุ่มและสามเณรปิดบาตรห้ามอยู่ว่า “พอ พอ” ก็ยังรับสั่งว่า
“นี่อร่อย นี่น่าฉัน” แล้วได้ถวายอีก เพราะผลแห่งกรรมนั้น โคเหล่านั้น แม้ผู้ดูแลจะห้ามอยู่ ก็ออกไปรวมกับฝูงโคของนางแล้วอย่างนั้น.
ในเวลาที่เศรษฐีให้ทรัพย์เท่านี้แก่ธิดาแล้ว ภริยาของเศรษฐีได้พูดว่า
“ทุกสิ่งอันท่านจัดแจงแล้วแก่ธิดาของเรา แต่คนใช้ชายหญิง ผู้ทำการรับใช้ ท่านมิได้จัดแจง ข้อนั้นเพระเหตุไร”
เศรษฐี ตอบว่า “ที่เราไม่จัดแจง เพื่อที่จะได้รู้ถึงคนผู้มีความรักและชังในธิดาของเรา เพราะจะให้เราบังคับพวกที่ไม่ประสงค์จะไปกับธิดานั้นแล้วส่งไปนั้น เราทำไม่ได้
แต่ในเวลาจะขึ้นยานไปนั่นแล เราจะพูดว่า
“ใครอยากไปกับนางวิสาขานั้นก็จงไป ผู้ไม่อยากไป ก็อย่าไป.”
ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า
“ธิดาของเรา จักไปพรุ่งนี้แล้ว”
จึงนั่งในห้องเรียกให้ธิดานั่งในที่ใกล้แล้วให้โอวาทว่า
“แม่ ธรรมดาหญิงผู้อยู่ในสกุลผัว รักษามรรยาทอย่างนี้และอย่างนี้ จึงจะควร
มิคารเศรษฐีนี้แม้นั่งในห้องถัดไปก็ได้ยินโอวาทที่ธนัญชัยเศรษฐีสอนแก่ธิดา
ตอนต่อไปสนุกมากค่ะ
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ