โอวาท ๑๐ ข้อของ
ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐีนั้น สอนธิดาอย่างนั้นแล้ว ให้โอวาท๑๐ ข้อนี้ว่า
แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว
๑.ไม่ควรทำไฟภายในออกไปภายนอก
๒.ไม่ควรทำไฟภายนอกเข้าไปภายใน
๓.พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น
๔.ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
๕.พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้
๖.พึงนั่งให้เป็นสุข
๗.พึงบริโภคให้เป็นสุข
๘.พึงนอนให้เป็นสุข
๙ พึงบำเรอไฟ
๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน
ในวันรุ่งขึ้น ท่านเศรษฐีจึงเรียกประชุมเสนาทั้งหมดแล้วแต่งตั้งกุฎุมพีผู้ใหญ่ ๘ คน ให้เป็นผู้ค้ำประกันผู้เป็นธิดาของตนในท่ามกลางราชเสนาแล้ว กล่าวว่า
“ถ้าโทษเกิดขึ้นแก่ธิดาของเราแล้ว พวกท่านพึงเป็นผู้ชำระความ”
ดังนี้แล้ว ประดับธิดาด้วยเครื่องประดับชื่อมหาลดาปาสธน์ ซึ่งมีค่าได้ ๙ โกฏิ ให้ทรัพย์ ๔๕ โกฏิเป็นค่าจุณสำหรับอาบ
(เหมือนเป็นค่าตอบแทนแก่ตระกูลสามี)
ให้ขึ้นสู่ยานแล้ว ให้คนเที่ยวตีกลองประกาศในบ้านส่วย ๑๔ ตำบลอันเป็นของตน เท่าอนุราธบุรี รอบเมืองสาเกตว่า
“ชนผู้อยากไปกับธิดาของเรา ก็จงไป.”
ชาวบ้าน ๑๔ ตำบลนั้นพอได้ยินเสียงประกาศ จึงออกไปจนหมดสิ้น ไม่เหลือใคร ๆ เลยด้วยคิดว่า
“จักมีประโยชน์อะไรแก่พวกเราในที่จะอยู่ที่นี้ ในเวลาที่แม้เจ้าของเราก็ไปเสียแล้ว”
ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐี ทำสักการะแด่พระราชาและมิคารเศรษฐีแล้ว ก็ตามไปส่งธิดากับคนเหล่านั้นหน่อยหนึ่ง.
มิคารเศรษฐี นั่งในยานน้อยไปข้างหลังยานทั้งหมด เห็นหมู่พลที่ติดตามนางวิสาขาแล้ว จึงถามว่า “นั่นพวกไหน”
พวกคนใช้ตอบว่า : พวกนั้นเป็นทาสหญิงทาสชาย ผู้รับใช้ขอหญิงสะใภ้ของท่าน.
มิคารเศรษฐี : ใครจักเลี้ยงดูคนจำนวนมากเท่านั้นได้ พวกท่านจงโบยคนพวกนั้นแล้วไล่ให้หนีไป พวกที่ไม่หนีก็จงฉุดออกไปจากที่นี้.
แต่ทางวิสาขากล่าวว่า
“หลีกไป อย่าห้าม พลนั่นแล จักให้ภัตแก่พล.”
แม้เมื่อนางกล่าวอย่างนั้น เศรษฐีก็ยังกล่าวว่า
“แม่ เราไม่มีความต้องการด้วยชนเหล่านั้น ใครจักเลี้ยงคนเหล่านี้ได้”
ดังนี้แล้ว จึงไล่คนเหล่านั้นให้หนีไปโดยให้ขว้างปาด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น
เมื่อเหลือคนจำนวนเท่าที่ตนต้องการแล้วเศรษฐีจึงพาพวกที่เหลือไป ด้วยคิดว่า
“เราพอละ ด้วยคนจำนวนเท่านี้.”
นางวิสาขาถึงกรุงสาวัตถี
ครั้งเวลาถึงประตูนครสาวัตถี นางวิสาขาคิดว่า
“เราจักนั่งในยานที่ปกปิดเข้าไปหรือหนอ? หรือจะยืนบนรถเข้าไป.”
ที่นั้นนางได้ตกลงในอย่างนี้ว่า
“เมื่อเราไปด้วยยานที่ปกปิด ความวิเศษแห่งเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์จักไม่ปรากฏ”
นางยืนบนรถแสดงตนแก่ชาวนครทั้งสิ้น เข้าไปสู่นครแล้ว ชาวกรุงสาวัตถี เห็นสมบัติของนางวิสาขาแล้ว จึงพูดกันว่า
“นัยว่า หญิงนั่นชื่อวิสาขา สมบัติเห็นปานนี้ นี้สมควรแก่นางแท้.”
นางวิสาขานั้น เข้าไปสู่เรือนของเศรษฐี ด้วยสมบัติมาก ด้วยประการฉะนี้ ก็ในวันที่นางมาถึง ชาวนครทั้งสิ้น ได้ส่งบรรณาการไปให้นางวิสาขาตามกำลังของตน ด้วยคิดว่า
“ธนญชัยเศรษฐี ได้ต้อนรับมากมายแก่พวกเราเมื่อพวกเราไปยังเมืองท่าน”
นางวิสาขานั้นก็ได้ให้บรรณาการที่เขาส่งมานั้น ทำให้เป็นประโยชน์ทุกอย่างแก่ตระกูลอื่น ๆ ในนครนั้นนั่นแหละ.
นางกล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก เหมาะแก่วัยของคนเหล่านั้น ๆ ว่า
“ท่านจงให้สิ่งนี้แก่คุณแม่ของฉัน จงให้สิ่งแก่คุณพ่อของฉัน จงให้สิ่งนี้แก่พี่ชายน้องชายของฉัน จงให้สิ่งนี้แก่พี่สาวน้องสาวของฉัน”
ดังนี้แล้ว ส่งบรรณาการไป ได้ทำชาวนครทั้งหมดให้เป็นเหมือนพวกญาติ ด้วยประการฉะนี้.
ต่อมาในระหว่างตอนกลางคืน นางลาตัวเป็นแม่ม้าอาชาไนยของนางได้ตกลูก นางให้พวกทาสีถือประทีปไปในที่นั้นแล้วอาบน้ำให้นางลาด้วยน้ำอุ่น ให้ทาด้วยน้ำมัน แล้วได้ไปสู่ที่อยู่ของตนตามเดิม.
มิคารเศรษฐี เมื่อทำอาวาหมงคลของบุตรนั้นก็หาได้คำนึงถึงพระตถาคต แม้พระองค์จะประทับอยู่ในวิหารที่ใกล้ไม่
แต่เศรษฐีนั้นมีความเลื่อมใสในอเจลกะ (สมณะเปลือย) อยู่นานมาแล้วจึงคิดว่า
“เราจักทำสักการะ แม้แก่พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ดังนี้แล้ว
วันหนึ่งจึงให้คนหุงข้าวปายาสข้นบรรจุในภาชนะใหม่ หลายร้อยสำรับ ให้นิมนต์พวกอเจลกะ ๕๐๐ คน เชิญเข้าไปในเรือนแล้ว จึงส่งข่าวแก่นางวิสาขาว่า
“สะใภ้ของฉันจงมาไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย.”
ตำหนิพ่อผัวบริโภคของเก่า
นางเป็นอริยสาวิกาผู้โสดาบัน พอได้ยินคำว่า “อรหันต์” ก็เป็นผู้ร่าเริงยินดี มาสู่ที่บริโภคแห่งอเจลกะเหล่านั้น แลดูอเจลกะเหล่านั้นแล้ว คิดว่า
“ผู้เว้นจากหิริโอตตัปปะอย่างนี้ย่อมชื่อว่าพระอรหันต์ไม่ได้ เหตุไร พ่อผัวจึงให้เรียกเรามา”
นางจึงติเตียนเศรษฐีแล้ว ก็ไปที่อยู่ของตนตามเดิม.
พวกอเจลกะ (คนผู้ถือลัทธิเปลือยกาย) เห็นอาการของนางวิสาขานั้นแล้ว จึงติเตียนเศรษฐีเป็นเสียงเดียวกันว่า
“คฤหบดี ท่านไม่ได้หญิงอื่นแล้วหรือ จึงให้สาวิกาของสมณโคดมซึ่งเป็นนางกาลกิณีตัวสำคัญเข้ามาในที่นี้? จงขับไล่นางออกจากเรือนนี้โดยเร็ว”
เศรษฐีนั้นคิดว่า
“เราไม่อาจให้ขับไล่นางออกไป ด้วยเหตุเพียงถ้อยคำของท่านเหล่านี้เท่านั้น นางเป็นธิดาของสกุลใหญ่”
ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า
“พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ธรรมดาเด็ก รู้บ้างไม่รู้บ้าง ท่านทั้งหลายนิ่งเสียเถิด”
ครั้นเมื่อส่งอเจลกะเหล่านั้นไปแล้ว ก็นั่งบนอาสนะอันมีค่ามาก บริโภคข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยในถาดทองคำ
ในสมัยนั้น พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ก็ได้เข้าไปสู่เรือนหลังเศรษฐีนั้นแล้ว
นางวิสาขายืนพัดพ่อผัวอยู่ เห็นพระเถระรูปนั้นว่า คิดว่า
“การที่เราจะบอกพ่อผัว นั้นไม่ควร ”
นางจึงได้เลี่ยงออกไปยืนโดยลักษณะที่พ่อผัวนั้นจะเห็นพระเถระได้ แต่เศรษฐีนั้นเป็นพาล
แม้เห็นพระเถระ ก็แกล้งทำเป็นเหมือนไม่เห็น ก้มหน้าบริโภคอยู่นั่นเอง.
นางวิสาขารู้ว่าพ่อผัวของตนแม้เห็นพระเถระ ก็ไม่เอาใจใส่จึงกล่าวว่า
“นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า”
เศรษฐีนั้น แม้อดกลั้นได้ในเวลาที่พวกนิครนถ์บอกให้ไล่นางวิสาขาออกไปจากเรือน แต่ในครั้งนี้ก็ทนไม่ได้จึงกล่าวว่า
“ท่านทั้งหลายจงนำข้าวปายาสนี้ไปเสียจากที่นี้ จงขับไล่นางนั่นออกจากเรือนนี้ นางคนนี้ทำให้เราเป็นผู้ชื่อว่าเคี้ยวกินของไม่สะอาด ในกาลมงคลเช่นนี้.”
แต่ทาสและกรรมกรทั้งหมดในเรือนนั้น ล้วนเป็นคนของนางวิสาขา จึงไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ ใครจักกล้าจับนางที่มือหรือที่เท้า แม้ผู้ที่กล้าจะกล่าวด้วยปากก็ไม่มี.
นางวิสาขาฟังคำของพ่อผัวแล้ว กล่าวว่า
“คุณพ่อ ดิฉันจะไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คุณพ่อมิได้นำดิฉันมา เหมือนนำนางกุมภทาสีมาแต่ท่าน้ำ
ธรรมดาธิดาของมารดาบิดาผู้ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่อออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุนั้นแล ในเวลาจะมาที่นี้
คุณพ่อของฉันจึงได้เรียกกุฎุมพี ๘ คนมา พูดว่า
“ถ้าโทษเกิดขึ้นแก่ธิดาของเราแล้ว พวกท่านพึงเป็นผู้ชำระความ” ดังนี้ คุณพ่อจงให้เรียกท่านเหล่านั้นมาแล้วให้ชำระโทษของดิฉัน.”
เศรษฐีคิดว่า “นางวิสาขานี้ พูดดี”
จึงให้เรียกกุฎมพีทั้ง ๘ มาแล้วบอกว่า
“นางทาริกานี้ ว่าฉันผู้นั่งรับประทานข้าวปายาสมีน้ำข้นในถาดทองคำ
ในเวลามงคลว่าเป็นผู้กินของไม่สะอาด พวกท่านจงพิจารณาโทษนางวิสาขานี้
แล้วจงคร่านางออกไปจากเรือนนี้.”
กุฎมพี : จริงอย่างนั้นหรือ? แม่
วิสาขา : ฉันไม่ได้พูดอย่างนั้น เมื่อพระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง
ยืนอยู่ที่ประตูเรือน พ่อผัวของฉัน กำลังรับประทานขาวมธุปายาสมีน้ำน้อย
ไม่ใส่ใจถึงพระเถระนั้น ฉันคิดว่า
‘พ่อผัวของเรา ไม่ทำบุญในอัตภาพนี้ บริโภคแต่บุญเก่าเท่านั้น
จึงได้พูดว่า ‘นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า ’
ดิฉันจะมีโทษอะไร เพราะเหตุนี้เล่า”
กุฎมพี : ท่านเศรษฐี โทษเพราะเหตุนี้ มิได้มี ธิดาของข้าพเจ้ากล่าวชอบ เหตุไร ท่านจึงโกรธ”
เศรษฐี : ท่านทั้งหลาย โทษอันนี้ เป็นอันพ้นไปก่อน แต่คืนหนึ่ง ในมัชฌิมยาม นางวิสาขานี้มีคนใช้ชายหญิงแวดล้อมแล้ว ได้เข้าไปหลังเรือน.
กุฎมพี : จริงอย่างนั้นหรือแม่.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย ดิฉันไม่ได้ไปเพราะเหตุอื่น ก็เมื่อนางลาแม่ม้าอาชาไนยตกลูกแล้วใกล้เรือนนี้ ดิฉันคิดว่า
‘การที่นั่งเฉยไม่เอาเป็นธุระเสียเลย ไม่สมควร’
จึงให้คนถือประทีปไปกับพวกหญิงคนใช้ ให้ทำการดูแลแก่แม่ลาที่ตกลูกแล้ว
ในเพราะเหตุนี้ ดิฉันจะมีโทษอะไร”
กุฎมพี : ท่านเศรษฐี ธิดาของพวกข้าพเจ้าทำสิ่งที่แม้พวกหญิงคนใช้ไม่พึงทำในเรือนของท่าน ท่านยังเห็นโทษอะไร ในเพราะเหตุนี้”
เศรษฐี : ท่านทั้งหลาย แม้ในเรื่องนี้ จะไม่มีโทษ ก็ช่างเถอะ.แต่ว่า บิดาของนางวิสาขานี้ เมื่อกล่าวสอนนางวิสาขานี้ ในเวลาจะมาที่นี้ ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อซึ่งลี้ลับปิดบัง
เราไม่ทราบเนื้อความแห่งโอวาทนั้น นางจงบอกเนื้อความแห่งโอวาทนั้นแก่เรา.ก็บิดาของนางนี้ได้บอกว่า ‘
ไฟในไม่พึงนำออกไปภายนอก’ พวกเราอาจหรือหนอ เพื่อจะไม่ให้ไฟแก่เรือนคุ้นเคยทั้งสองฝ่ายแล้วอยู่ได้.”
ชนะความพ่อผัว
กุฎมพี : จริงอย่างนั้นหรือแม่.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันมิได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า
‘แม่ เมื่อเจ้าเห็นโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามีของเจ้าแล้ว อย่านำไปกล่าว
ณ ภายนอกเรือน เพราะขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟชนิดนี้ ย่อมไม่มี.
เศรษฐี : ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นยกไว้ก่อน ก็บิดาของนางวิสาขานี้กล่าวว่า
‘ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน พวกเราอาจเพื่อจะไม่ไปนำไฟมาจากภายนอกหรือในเมื่อไฟใน (เรือน) ดับ.
กุฎุมพี : จริงอย่างนั้นหรือแม่.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉัน ไม่ได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า
‘ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลาย ในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามี เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นพูดแล้ว มาพูดอีกว่า
‘คนชื่อโน้นพูดกล่าวโทษอย่างนี้ของท่านทั้งหลาย’
เพราะขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟนั่น ย่อมไม่มี.
นางวิสาขาได้พ้นโทษ เพราะเหตุนี้อย่างนี้
ก็นางพ้นโทษในเพราะเหตุนี้ฉันใด แม้ในโอวาทที่เหลือ นางก็ได้พ้นโทษฉันนั้นเหมือนกัน.ดังนี้
อรรถาธิบายข้อโอวาทอื่น
ก็ในโอวาทเหล่านั้น พึงทราบอธิบายดังนี้:-
ก็คำที่บิดาของนางสอนว่า
“แม่ เจ้าควรให้แก่ชนทั้งหลายที่ให้ เท่านั้น”
ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายเอาเนื้อความนี้ ว่า
“ควรให้ แก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ส่งคืนเท่านั้น.”
แม้คำว่า “ไม่ควรให้ แก่คนที่ไม่ให้”
นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า
“ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอา เครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ไม่ส่งคืน.”
ก็แลคำว่า “ควรให้แก่คนทั้งที่ ให้ทั้งที่ไม่ให้”
นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า
“เมื่อญาติและมิตรยากจน มาถึงแล้ว ชนเหล่านั้น อาจจะใช้คืน หรือไม่อาจก็ตาม ให้แก่ญาติ และมิตรเหล่านั้นนั่นแหละ ควร.”
แม้คำว่า "พึงนั่งเป็นสุข" นี้
ธนญชัยเศรษฐี กล่าวหมายความว่า
“การนั่งในที่ ๆ เห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามีแล้วต้องลุกขึ้น ไม่ควร.”
ส่วนคำว่า “พึงบริโภคเป็นสุข” นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าว หมายความว่า
“การไม่บริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี เลี้ยงดูท่าน เหล่านั้น รู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้น
ทุก ๆ คนได้แล้วหรือยังไม่ได้ แล้วตนเองบริโภคทีหลัง จึงควร.”
แม้คำว่า "พึงนอนเป็นสุข" นี้
เศรษฐีกล่าว หมายความว่า
“ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว ตนเองนอนทีหลัง จึงควร.”
คำว่า “พึงบำเรอไฟ” นี้
ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า
“พึงบำเรอทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามี ให้เป็นเหมือนฤๅษีบำเรอไฟ จึงควร.”
แม้คำว่า “พึงนอบน้อมเทวดาภายใน”
นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า
“พึงนอบน้อมแม่ผัวพ่อผัวและสามี ให้เป็นเหมือนเทวดาจึงสมควร.”
มิคารเศรษฐีได้ฟังเนื้อความแห่งโอวาท ๑๐ ข้อนี้ อย่างนั้นแล้ว ไม่เห็นคำโต้เถียง ได้แต่นั่งก้มหน้าแล้ว.
ครั้งนั้น กุฎุมพีทั้งหลาย ถามเศรษฐีนั้นว่า
“ท่านเศรษฐี โทษอย่างอื่นแห่งธิดาของพวกข้าพเจ้า ยังมีอยู่หรือ”
มิคารเศรษฐี : ไม่มีดอก ท่าน.
กุฏุมพี : เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ท่านจึงให้ขับไล่ นางผู้ไม่มีความผิด ออกจากเรือน โดยไม่มีเหตุเหล่า”
อย่าเพิ่งเบื่อนะคะค่อยๆอ่านสนุกมากค่ะ
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ