ทำบุญฉลองวัดบุพพาราม
นับแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้น ย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล
ครั้งนั้น หญิงสหายคนหนึ่งของนาง ถือผ้าผืนหนึ่งราคา ๑ ๐๐๐ มาแล้ว กล่าวว่า
“สหาย ฉันอยากจะลาดผ้าผืนนี้ โดยให้เป็นเครื่องลาดพื้นในปราสาทของท่าน ขอท่านช่วยบอกที่ลาดแก่ฉัน.”
นางวิสาขากล่าวว่า
“สหาย ถ้าฉันจะบออกแก่ท่านว่า‘
โอกาสไม่มี ’ ท่านก็จักสำคัญว่า ‘
ไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่เรา
ท่านจงตรวจดูพื้นแห่งปราสาท ๒ ชั้น
และห้องพันห้องแล้วหาที่ลาดที่เหมาะสมเอาเองเถิด”
หญิงสหายนั้น ถือผ้าราคา ๑ ๐๐๐ เที่ยวเดินตรวจในที่นั้น ๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาน้อยกว่าผ้าของตนนั้นแล้ว ก็ถึงความเสียใจว่า
“เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้”
ได้ยืนร้องให้อยู่แล้วในที่แห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น พระอานนทเถระ เห็นหญิงนั้น จึงถามว่า
“ร้องให้เพราะเหตุไร?”
นางจึงบอกเนื้อความนั้น
พระเถระกล่าวว่า
“อย่าคิดมากไปเลย เราจักบอกที่ลาดให้แก่ท่าน”
แล้วกล่าวว่า
‘ท่านจงลาดไว้ที่บันได ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ภิกษุทั้งหลาย ล้างเท้าแล้ว เช็ดเท้าที่ผ้านั้นก่อน จึงจักเข้าไปภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลเป็นอันมากก็จักมีแก่ท่าน.”
ได้ยินว่า ที่นั่นเป็นสถานอันนางวิสาขามิได้กำหนดไว้
นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในภายในวิหาร ตลอด ๔ เดือน ในวันสุดท้าย ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์
ผ้าสาฎกเพื่อทำจีวร ที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว ได้มีราคาพันหนึ่ง นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป เพราะการบริจาคทาน ทรัพย์ได้หมดไปอีกถึง ๙ โกฏิ
นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา ทั้งหมด ๒๗ โกฏิคือ ในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้
.
ชื่อว่าการบริจาคเห็นปานนี้ ย่อมไม่มีแก่หญิงอื่น ผู้ดำรงอยู่ในภาวะแห่งสตรีอยู่ในเรือนของคนผู้มิจฉาทิฏฐิ.
เปล่งอุทานในวันฉลอง
ในวันแห่งการฉลองวิหารเสร็จ เวลาบ่าย นางวิสาขานั้นอันบุตรหลานแวดล้อมด้วย คิดว่า
“ความปรารถนาใด ๆ อันเราตั้งไว้แล้วในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ถึงที่สุดแล้วทั้งหมดเทียว.”
นางได้เดินเวียนรอบปราสาท เปล่งอุทานนี้ด้วยเสียงอันไพเราะด้วย ๕ คาถาว่า
“ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวาย ปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน เป็นวิหารทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเตียงตั่งฟูกและหมอนเป็นเสนาสนภัณฑ์’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายสลากภัต ผสมด้วยเนื้ออันสะอาด เป็น โภชนทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของ เราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือก ไม้ และผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.”
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินเสียงของนางแล้ว กราบทูลแด่พระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า ชื่อว่าการขับร้องของนางวิสาขา พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นในกาลนาน ประมาณเท่านี้
วันนี้ นางอันบุตรและหลานแวดล้อมแล้วขับเพลงเดินเวียนรอบปราสาท ดีของนางกำเริบหรือหนอแล หรือนางเสียจริตเสียแล้ว?”
พระศาสดาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาขับเพลงไม่ แต่อัชฌาสัยส่วนตัวของเธอเต็มเปี่ยมแล้ว เธอดีใจว่า ‘ความปรารถนาที่เราตั้งไว้ ถึงที่สุดแล้ว‘ จึงเดินเปล่งอุทาน.”
เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า
“ก็นางตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร พระเจ้าข้า.”
จึงตรัสว่า
“จักฟังหรือภิกษุทั้งหลาย.”
เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า
“จักฟัง พระเจ้าข้า.”
จึงทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสต่อไปนี้ว่า
เหตุแห่งการเปล่งอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแสนกัปแต่นี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ได้มีพระชนมายุแสนปี
มีภิกษุขีณาสพแสนหนึ่งเป็นบริวาร
นครชื่อหังสวดี พระชนกเป็นพระราชา
นามว่า สุนันทะ พระชนนีเป็นพระเทวี
นามว่า สุชาดา
อุบาสิกาผู้เป็นยอดอุปัฏฐยิกาของพระศาสดาองค์นั้นทูลขอพระ ๘ประการแล้ว
ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา บำรุงพระศาสดาด้วยปัจจัย ๔ ย่อมไปสู่ที่บำรุงทั้งเย็นและเช้า
หญิงสหายคนหนึ่งของอุบาสิกานั้น ย่อมไปวิหารกับอุบาสิกานั้นเป็นนิตย์
หญิงนั้น เห็นอุบาสิกานั้น พูดกับพระศาสดาด้วยความคุ้ยเคย และเห็นความเป็นผู้สนิทสนมกับพระศาสดา คิดว่า
“เธอทำกรรมอะไรหนอแล จึงเป็นผู้สนิทสนมกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนี้?”
ดังนี้แล้ว จึงทูลถามพระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า หญิงนี้ เป็นอะไรแก่พระองค์?”
พระศาสดา : เป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐยิกา.
หญิง : พระเจ้าเข้า นางกระทำกรรมอะไร จึงเป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐยิกา?
พระศาสดา : เธอตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป.
หญิง : บัดนี้ หม่อมฉันปรารถนาแล้วอาจจะได้ไหม พระเจ้าข้า?
พระศาสดา : อาจ.
หญิงนั้นกราบทูลว่า
“พระเจ้าข้า ถ้ากระนั้น ขอพระองค์กับภิกษุแสนรูป โปรดรับภิกษาของหม่อมฉันตลอด ๗ วันเถิด
.พระศาสดาทรงรับแล้ว หญิงนั้น ถวายทานครบ ๗ วัน ในวันที่สุดได้ถวายผ้าสาฏกเพื่อทำจีวรแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา
หมอบลงแทบบาทมูล ตั้งความปรารถนาว่า
“พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลกเป็นต้นอย่างไรหนึ่งก็หาไม่
แล้วตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของอุบาสิกาผู้สามารถเพื่อบำรุงด้วยปัจจัย ๔.”
พระศาสดา ทรงดำริว่า
“ความปรารถนาของหญิงนี้ จักสำเร็จหรือหนอ?”
ทรงคำนึงถึงอนาคตกาล ตรวจดูตลอดแสนกัปแล้วจึงตรัสว่า
“ในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น
ในกาลนั้น เธอจักเป็นอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา ได้พร ๘ ประการ ในสำนักของพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา
จักเป็นเลิศแห่งหญิงผู้เป็นอุปัฏฐายิกา
ผู้บำรุงด้วยปัจจัย ๔.”
สมบัตินั้นได้ประหนึ่งว่า อันนางจะพึงได้ในวันพรุ่งนี้ทีเดียว.
นางทำบุญจนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้น เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป เป็นพระธิดา พระนามว่า สังฆทาสี ผู้พระกนิษฐาของบรรดาพระธิดา ๗ องค์
ของพระจ้ากาสีพระนามว่ากิงกิ ยังมิได้ไปสู่ตระกูลอื่น ทรงทำบุญมีทานเป็นต้นกับด้วยเจ้าพี่หญิงเหล่านั้นตลอดกาลนาน ได้
ทำความปรารถนาไว้ แม้แทบบาทมูลแห่งพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปว่า
“ในอนาคตกาล หม่อมฉัน พึงได้พร ๘ ประการ ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดาเป็นยอดแห่งอุบาสิกาผู้ถวายปัจจัย ๔
สัตว์เกิดแล้วควรทำกุศลให้มาก
พระศาสดาครั้นทรงแสดงอดีตนิทานจบแล้ว ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราย่อมไม่ขับเพลง ด้วยประการฉะนี้แล แต่เธอเห็นความสำเร็จ แห่งความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทาน.” เมื่อจะทรงแสดงธรรม ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการผู้ฉลาด นำกองดอกไม้ต่าง ๆ ให้เป็นกองโตแล้ว ย่อมทำพวงดอกไม้มีประการต่าง ๆ ได้ฉันใด;
จิตของนางวิสาขา ย่อมน้อมไปเพื่อทำกุศล มีประการต่าง ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน”
ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ จึงทรงสถาปนานางวิสาขามิคารมารดาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายทาน แล.
นางวิสาขาขอพร ๘ ประการ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี
เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดย
ลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี
ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น
ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นาง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้ว นางวิสาขาได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า
ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
ครั้นนางทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป
ครั้นผ่านราตรีนั้นไป ฝนตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาห่าใหญ่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวัน ฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น
พวกเธอจงสรงสนานกายกันเถิด เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝนห่าใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔
ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธบัญชาว่า
เป็นดังพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า แล้วพากันเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต แล้วสั่ง ทาสีว่า
ไปเถิดแม่ เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า
ทาสีนั้นรับคำ แล้วไปวัด ได้เห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย
ครั้นแล้วเข้าใจผิดคิดว่า ในอารามไม่มีภิกษุมีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่ จึงกลับไปบ้านได้ แจ้งความแก่นางวิสาขามิคารมาตาว่า
คุณนาย ภิกษุไม่มีในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่เจ้าค่ะ
นางวิสาขามิคารมาตา เป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญารู้ได้ทันทีว่า
พระคุณเจ้า ทั้งหลายคงเปลื้องผ้าพากันสรงสนานกายเป็นแน่ นางคนนี้เขลาจึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงสั่งสาวใช้ว่า
ไปเถิดแม่ทาสี เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า.
ครั้นเวลาต่อมา ภิกษุเหล่านั้น ทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเตรียมบาตรจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เสด็จหายไปในพระเชตวัน
มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้าน
นางวิสาขามิคารมาตา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์.
ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตากล่าวว่า ชาวเราผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ชาวเราผู้เจริญประหลาดจริงหนอ พระตถาคต
ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนองไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ก็ไม่ได้เปียกน้ำ
ดังนี้แล้ว ร่าเริง เบิกบานใจ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน
จนพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา
วิสาขา : หม่อมฉันทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : จงบอกมาเถิด วิสาขา.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์
หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก(ผ้าอาบน้ำฝน) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระอาคันตุกะ(อาหารเพื่อพระภิกษุผู้จรมาใหม่) จนตลอดชีพ
ถวายภัตรเพื่อพระที่เตรียมจะไป(เดินทางไกล) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระอาพาธ (ป่วย) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จนตลอดชีพ
จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จนตลอดชีพ
จะถวายยาคูประจำ (ข้าวต้มประจำวัน) จนตลอดชีพ
และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก (ผ้านุ่งอาบน้ำ) จนตลอดชีพ
พระผู้มีพระภาค : วิสาขา ก็เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิด แม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วบอกภัตรกาลว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า และนางก็ไปวัด
ได้เห็นภิกษุทั้งหลายเปลื้องผ้าสรง สนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่
จึงกลับมาบ้าน แล้วรายงานแก่หม่อมฉันว่า คุณนาย ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่.
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ