ความเสียสละของพระนางยโสธราพิมพา ตอนที่ 1
ประวัติพระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา)
ผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายด้านมีอภิญญาใหญ่
คำว่าได้อภิญญาใหญ่นั้น หมายถึงพระสาวกผู้ที่ได้อภิญญาและสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป ในขณะที่พระสาวกผู้ที่ไม่ได้อภิญญาใหญ่นั้นสามารถระลึกชาติได้ไม่เกินแสนกัปเท่านั้น
ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่านนั้นก็คือ
คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้
ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระนางปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ในกาลต่อมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศ ของเหล่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาใหญ่
จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้น ไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น นางเวียนว่ายตายเกิดในเทวดาและมนุษยโลก ตลอดแสนกัป
ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านได้มาปฏิสนธิในโกลิยวงศ์ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระนางอมิตาเทวี แห่งกรุงเทวทหะ
มีพระเชษฐาคือ พระเทวทัต ในเวลาขนานพระนาม พระประยูรญาติก็ได้เฉลิมพระนามว่า ภัททากัจจานา ก็เพราะผิวพรรณ แห่งสรีระของพระนางนั้นเป็นเหมือนทองคำชั้นดีที่สุด
พระนางทรงประสูติในวันเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสแห่งพระนางสิริมหามายา (ผู้เป็นพระน้องนางของพระเจ้าสุปปพุทธะ) และพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงมีพระประสูติกาล นับเป็น ๑ ใน ๗ อย่างที่มีกำเนิดพร้อมกันกับพระโพธิสัตว์
คือ ๑ โพธิพฤกษ์ ๒ พระนางภัททากัจจานาราหุลมารดา ๓ ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ แห่ง ๔ ม้ากัณฐกะ ๕ พระอานนท์ ๖ นายฉันทะ และ ๗ พระกาฬุทายี ทั้ง ๗ อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสหชาติกับพระโพธิสัตว์ เพราะเกิดในวันและเวลาเดียวกัน
เมื่อเติบใหญ่แล้วพระนางทรงมีความงามอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง พระนางรูปนันทา ซึ่งทรงความงามอย่างยิ่งจนได้สมญาว่า ชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียบเทียม
เมื่อราชกุมาร และ ราชกุมารี ทั้งสองเติบใหญ่จนพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้ทรงอภิเศกสมรสกัน ด้วยมีความเหมาะสมทั้ง ชาติวุฒิ และ วัยวุฒิ ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระนางก็ทรงพระครรภ์
เมื่อครบกำหนดแล้วในวันที่จะมีพระประสูติกาลพระโอรสนั่นเอง เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงออกประพาสเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
ก็บังเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายในโลกียวิสัย และเห็นนักบวชจึงคิดที่จะประพฤติแบบนั้นบ้าง ในคืนนั้นเองเจ้าชายสิทธัตถะจึงได้ทรงออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์
ในส่วนของพระนางภัททากัจจานา นั้นด้วยความรักและความนับถือเป็นอย่างยิ่งในพระสวามี เมื่อท่านได้ฟังข่าวว่า พระสวามีทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ตั้งแต่นั้นก็ทรงผ้ากาสาวะบ้าง ได้สดับว่าพรสวามีเสวยภัตหนเดียว ก็เสวยภัตหนเดียวบ้าง
ทรงสดับว่าพระองค์ทรงละที่นั่งที่นอนใหญ่ ก็ทรงบรรทมเฉพาะบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า
ทรงทราบว่าพระองค์ทรงละเว้นจากของหอมมีดอกไม้เป็นต้น ก็ทรงงดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง ดังนี้เป็นต้น ได้ทรงปฏิบัติเช่นนี้ จนเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า
กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
——————
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ