กำเนิดเศรษฐีนี หลานเมณฑกเศรษฐี
เมณฑกเศรษฐี มีลูกชายคนโตชื่อ ธนัญชัยเศรษฐี มีลูกสะใภ้ชื่อ นางสุมนาเทวี
ธนัญชัยเศรษฐีมีลูกสาวชื่อว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางได้บำเพ็ญบารมีและตั้งความปรารถนาไว้โดยย้อนหลังไป ๑๐๐,๐๐๐ กัปป์
สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปุทุมุตตระ นางวิสาขาบังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี
ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา
เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ยินดีในการถวายทาน
จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น
นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป
ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า
กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์
คือ นางสมณี นางสมณคุตตา
นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา
นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗
พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบันคือ
พระเขมาเถรี
พระอุบลวรรณาเถรี
พระปฏาจาราเถรี
พระนางกุณฑลเกสีเถรี
พระกิสาโคตมีเถรี
พระธรรมทินนาเถรี
และนางวิสาขา ครบ ๗
บรรดาพระราชธิดาเหล่านั้น พระนางสังฆทาสีเวียนว่ายอยู่ใน เทวดาและมนุษย์ถึงพุทธันดรหนึ่ง
ปัจจุบันชาติสมัยพุทธกาล
ในพุทธกาลนี้ นางวิสาขาเป็นธิดาของนางสุมนาเทวีภริยาหลวงบิดาชื่อธนัญชัยเศรษฐี เป็นหลานของเมณฑกเศรษฐี
และนางจันทปทุมา ผู้เป็นปู่ย่า ในภัททิยนคร แคว้นอังคะ
ประมาณพรรษาที่ ๕ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เวลานั้นนางมีอายุได้ ๗ ขวบ พระทศพลทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของเสลพราหมณ์ และเหล่าสัตว์พวกจะตรัสรู้อื่น ๆ
พระองค์พร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์ เสด็จจาริกไปถึงนครนั้น ในแคว้นนั้น.
สมัยนั้น เมณฑกคฤหบดี เป็นหัวหน้าของเหล่าผู้มีบุญมาก ๕ คน ครองตำแหน่งเศรษฐี เหล่าผู้มีบุญมาก ๕ คน คือ
เมณฑกเศรษฐี ๑
ภริยาหลวงของเศรษฐี ชื่อจันทปทุมา ๑
บุตรชายคนโตของเศรษฐี ชื่อธนัญชัย ๑
ภริยาของธนัญชัยนั้น ชื่อสุมนเทวี ๑
ทาสของเมณฑกเศรษฐี ชื่อปุณณะ ๑.
มิใช่แต่เมณฑกเศรษฐีอย่างเดียวดอก ถึงในราชอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสาร ก็มีบุคคลผู้มีโภคสมบัตินับไม่ถ้วนถึง ๕ คน คือ โชติยะ ชฏิละ เมณฑกะ ปุณณะ และกากพลิยะ
บรรดาคนทั้ง ๕ นั้น เมณฑกเศรษฐีนี้ ทราบว่าพระทศพลเสด็จมาถึงนครของตน จึงเรียกเด็กหญิงวิสาขา หลานสาวซึ่งขณะนั้นนางมีอายุได้ ๗ ขวบ มาแล้วสั่งอย่างนี้ว่า
แม่หนู เป็นมงคลทั้งเจ้า ทั้งปู่ เจ้าจงพาเกวียน ๕๐๐ เล่ม พร้อมด้วยเด็กหญิง ๕๐๐ คน บริวารของเจ้ามีทาสี ๕๐๐ นาง เป็นบริวาร จงทำการรับเสด็จพระทศพล
นางฟังคำของปู่ ก็ปฏิบัติตาม
แต่เพราะนางเป็นผู้ฉลาดในเหตุและมิใช่เหตุ
นางก็ไปด้วยยานเท่าที่พื้นที่ยานจะไปได้แล้ว ก็ลงจากยานเดินไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
นางวิสาขาได้โสดาปัตติผลแต่อายุ ๗ ขวบ
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดด้วยอำนาจจริยาของนาง จบเทศนา
นางก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับเด็กหญิง ๕๐๐ คน แม้เมณฑกเศรษฐี ก็เข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรด ด้วยอำนาจจริยาของเศรษฐีนั้น จบเทศนา เมณฑกเศรษฐีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
อาราธนาพระศาสดา เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น
วันรุ่งขึ้นก็เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารอย่างประณีตในนิเวศน์ของตน ได้ถวายมหาทานโดยลักษณะนั้นครึ่งเดือน
พระศาสดาประทับอยู่ ณ ภัททิยนครตามพุทธอัธยาศัยแล้วก็เสด็จหลีกไป
พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากได้ผู้มีบุญ
ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลต่างก็เป็นพระภัสดา(สามี)ของพระภคินี(น้องสาว)ของกันและกัน
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกศลทรงดำริว่า
“คนมีโภคะนับไม่ถ้วน มีบุญมากทั้ง ๕ มีอยู่ในแคว้นพระเจ้าพิมพิสาร แต่ในแคว้นของเรา ผู้มีบุญเช่นนั้น แม้เพียงคนเดียวก็ไม่มี
อย่ากระนั้นเลย เราพึงไปสู่สำนักของพระเจ้าพิมพิสารขอผู้มีบุญมากสักคนหนึ่ง.”
พระองค์จึงเสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทำปฏิสันถารทูลถามว่า
“พระองค์เสด็จมา เพราะเหตุไร?”
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสว่า
“หม่อมฉันมา ด้วยประสงค์ว่า คนมีโภคะนับไม่ถ้วน มีบุญมากทั้ง๕ คน อยู่ในแคว้นของพระองค์ หม่อมฉันจักพาเอาคนหนึ่งจาก ๕ คนนั้นไป ขอพระองค์จงประทานคนหนึ่งใน ๕ คนนั้น แก่หม่อมฉันเถิด.”
พิมพิสาร หม่อมฉันไม่อาจจะให้ตระกูลใหญ่ ๆ ย้ายได้.
ปเสนทิโกศล หม่อมฉันไม่ได้ ก็จักไม่ไป.
มอบธนัญชัยเศรษฐีให้พระเจ้าโกศล
พระเจ้าพิมพิสารทรงปรึกษากับพวกอำมาตย์แล้วตรัสว่า
“ชื่อว่าการย้ายตระกูลใหญ่ ๆ มีโชติยสกุลเป็นต้น เช่นกับแผ่นดินไหว แต่บุตรของเมณฑกเศรษฐีชื่อธนัญชัยเศรษฐี มีอยู่
หม่อมฉันปรึกษากับเธอเสร็จแล้ว จักถวายคำตอบแด่พระองค์” ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เรียกธนัญชัยเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า
“พ่อ พระเจ้าโกศลตรัสว่า จักพาเอาเศรษฐีมีทรัพย์คนหนึ่งไป เธอจงไปกับพระองค์เถิด.”
ธนัญชัยเศรษฐีทูลตอบว่า เมื่อพระองค์มีพระราชประสงค์ ข้าพระองค์ก็จักไป พระเจ้าข้า.
พระเจ้าพิมพิสาร ถ้าเช่นนั้น เธอจงทำการตระเตรียมไปเถิด พ่อ.
ธนัญชัยเศรษฐีนั้น จึงได้ทำกิจจำเป็นที่ควรทำของตนแล้ว
ฝ่ายพระราชาทรงทำสักการะใหญ่แก่เขา ทรงส่งพระเจ้าปเสนทิโกศลไปด้วยพระดำรัสว่า
“ขอพระองค์จงพาเศรษฐีนี้ไปเถิด.”
ท้าวเธอพาธนัญชัยเศรษฐีนั้นเสด็จไปโดยการประทับแรมราตรีหนึ่งในที่นี้ทั้งปวง บรรลุถึงสถานอันผาสุกแห่งหนึ่งแล้ว ก็ทรงหยุดพัก.
การสร้างเมืองสาเกต
ครั้งนั้น ธนัญชัยเศรษฐี ทูลถามท้าวเธอว่า
“บริเวณนี้เป็นแคว้นของใคร พระเจ้าข้า?”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตอบว่า
เป็นของเรา ท่านเศรษฐี.
ธนัญชัยเศรษฐีถามว่า จากที่นี้ไปถึงเมืองสาวัตถี ไกลเท่าไร พระเจ้าข้า
พระเจ้าปเสนทิโกศลตอบว่า ไปอีก ๗ โยชน์.
ธนัญชัยเศรษฐีทูลว่า ภายในพระนครคับแคบ ชนบริวารของข้าพระองค์มีอยู่มาก ถ้าพระองค์ทรงโปรดไซร้ ข้าพระองค์พึงอยู่ที่นี้แหละ พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงรับว่า “ดีละ” ดังนี้แล้ว ให้สร้างเมืองในที่นั้น ได้พระราชทานแก่เศรษฐีนั้นแล้วเสด็จกลับไป เมืองนั้นได้นามว่า
“สาเกต” เพราะความที่ประเทศนั้นเศรษฐีจับจองแล้วในเวลาเย็น.
ในกรุงสาวัตถี บุตรของมิคารเศรษฐี ชื่อปุณณวัฒนกุมารเจริญวัยแล้ว ขณะนั้น
บิดาของเขารู้ว่า บุตรของเราเจริญวัยแล้ว เป็นสมัยที่จะผูกพันด้วยการครองเรือน ครั้งนั้น มารดาบิดากล่าวกะเขาว่า
“พ่อ เจ้าจงเลือกเด็กหญิงคนหนึ่งในที่เป็นที่ชอบใจของเจ้า.”
ปุณณะ กิจด้วยภริยาเห็นปานนั้น ของผมไม่มี.
มารดาบิดา เจ้าอย่าทำอย่างนี้ ลูก ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตรตั้งอยู่ไม่ได้.
ลักษณะเบญจกัลยาณี
ปุณณวัฒนกุมารนั้นเมื่อถูกมารดาบิดาพูดรบเร้าอยู่ จึงกล่าวว่า
“ถ้ากระนั้น ผมเมื่อได้หญิงสาวประกอบพร้อมด้วยความงาม ๕ อย่าง ก็จักทำตามคำของคุณพ่อคุณแม่.”
มารดาบิดาถามว่า ก็ชื่อว่าความงาม ๕ อย่างนั้น มีอะไรบ้างเล่า? พ่อ.
ปุณณวัฒนกุมารตอบว่า คือ ผมงาม เนื้องาม กระดูกงาม ผิวงาม วัยงาม.
ก็ผมของหญิงผู้มีบุญมาก เป็นเช่นกับทำหางนกยูง แก้ปล่อยระชายผ้านุ่งแล้ว ก็กลับมีปลายงอนขึ้นตั้งอยู่ นี้ชื่อว่า ผมงาม
ริมฝีปากเช่นกับผลตำลึง (สุก) ถึงพร้อมด้วยสีเรียบชิดสนิทดี นี้ชื่อว่า เนื้องาม.
ฟันขาวเรียบไม่ห่างกัน งดงามดุจระเบียบแห่งเพชร ที่เขายกขึ้นตั้งไว้และดุจระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีแล้ว นี้ชื่อว่ากระดูกงาม
ผิวพรรณของหญิงดำไม่ลูบไล้ด้วยเครื่องประเทืองผิวเป็นต้นเลย ก็ดำสนิทประหนึ่งพวกอุบลเขียว ของหญิงขาว ประหนึ่งพวกดอกกรรณิการ์ นี้ชื่อว่า ผิวงาม
หญิงที่แม้คลอดบุตรแล้วตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็ยังดูงามเหมือนเพิ่งมีบุตรเพียงคนเดียวยังสาวพริ้งอยู่เทียว นี้ชื่อว่า วัยงาม ดังนี้แล.
เศรษฐีส่งพราหมณ์ไปแสวงหาหญิงเบญจกัลยาณี
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายปุณณวัฒนกุมารนั้น เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาให้บริโภคแล้วถามว่า
“ชื่อว่าหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี มีอยู่หรือ”
พราหมณ์เหล่านั้น ตอบว่า
“จ้ะ มีอยู่.”
เศรษฐีกล่าวว่า
“ถ้ากระนั้น พวกท่าน ๘ คนจงไปแสวงหาเด็กหญิงเช่นนั้น มาให้เรา”
ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์เป็นอันมาก พร้อมกับสั่งว่า
“ในเวลาที่พวกท่านกลับมาพร้อมกับหญิงเช่นนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายไปเถิด
แสวงหาเด็กหญิงแม้เห็นปานนั้น และในเวลาที่พบแล้ว พึงประดับพวงมาลัยทองคำนี้”
ดังนี้แล้ว ให้พวงมาลัยทองคำอันมีราคาแสนหนึ่ง แล้วส่งพวกพราหมณ์นั้นไป
พราหมณ์เหล่านั้น ไปยังนครใหญ่ ๆ แสวงหาอยู่ ก็ไม่พบเด็กหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี
จึงกลับมาถึงเมืองสาเกตโดยลำดับ
ในวันนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์เปิด
(หมายเหตุ นักษัตรเปิดเผย เป็นงานประจำปีของนครสาเกต ในงานนี้ชาวเมืองทุกคนเผยร่างโดยปราศจากผ้าคลุมปิดหน้า เดินเท้าไปยังแม่น้ำ)
พอดีจึงคิดกันว่า
“การงานของพวกเราคงสำเร็จในวันนี้เป็นแน่”
งานประจำปีของนครสาเกต
ก็ในนครนั้น ชื่อว่างานนักขัตฤกษ์ย่อมมีประจำปี ในกาลนั้นแม้ตระกูลที่ไม่ออกภายนอก ก็ออกจากเรือนกับบริวาร
มีร่างกายมิได้ปกปิด ไปสู่ฝั่งแม่น้ำด้วยเท้าเทียว ในวันนั้นถึงบุตรหลานของตระกูลขัตติยมหาศาลทั้งหลายเป็นต้น
ก็ยืนแอบหนทางนั้น ๆ ด้วยตั้งใจว่า เมื่อพบเด็กหญิงตระกูลที่ตนพึงใจ มีชาติเสมอด้วยตนแล้วจะคล้องด้วยพวงมาลัย
พราหมณ์พบนางวิสาขา
พราหมณ์เหล่านั้น เข้าไปถึงศาลาแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำแล้วได้ยืนอยู่ ขณะนั้นนางวิสาขา มีอายุย่างเข้า ๑๕–๑๖ ปี
ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง มีเหล่ากุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อมกำลังมุ่งหน้าไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ
ครั้งนั้นแล เมฆตั้งขึ้นแล้วฝนก็ตกลงมา เด็กหญิง ๕๐๐ ก็รีบเดินเข้าไปสู่ศาลา
พวกพราหมณ์พิจารณาดูอยู่ ก็ไม่เห็นเด็กหญิงเหล่านั้นแม้สักคนเดียวที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี
ส่วนนางวิสาขาเข้าไปยังศาลาด้วยการเดินตามปกตินั่นเอง ผ้าและอาภรณ์เปียกโชก
พวกพราหมณ์เห็นความงาม ๔ อย่างของนางแล้ว ประสงค์จะเห็นฟัน จึงกล่าวกะกันและกันว่า
“หญิงผู้เฉื่อยชานี้ สามีของหล่อนเห็นทีจักไม่ได้ แม้เพียงข้าวปลายเกวียน”
นางวิสาขาได้ยินดังนั้นจึงพูดกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า
“พวกท่านว่าใครกัน.”
พราหมณ์ : ว่าเธอ แม่.
ได้ยินว่า เสียงอันไพเราะของนาง เปล่งออกประหนึ่งเสียงกังสดาล ลำดับนั้น นางจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า
“เพราะเหตุไร จึงว่าฉัน.”
พราหมณ์ : หญิงบริวารของเธอ ไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับเปียกรีบเข้าสู่ศาลา กิจแม้เพียงการรีบมาสู่ที่ประมาณเท่านี้ของเธอก็มิได้มี
เธอปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกมากแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเราจึงพากันว่าดังนั้น.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้ ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้น
แต่ฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่มาโดยเร็ว.
พราหมณ์ : เหตุอะไรแม่.
ชน ๔ จำพวกวิ่งไปไม่งาม
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวก
เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม เหตุอันหนึ่ง แม้อื่นอีก
ยังมีอยู่.
พราหมณ์ : ชน ๔ จำพวก เหล่าไหน? เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม แม่
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เมื่อถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวงย่อมไม่งาม
ย่อมได้ความครหาเป็นแน่นอนว่า ทำไม พระราชาองค์นี้จึงวิ่งเหมือนคฤหบดี ค่อย ๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม
แม้ช้างมงคลของพระราชา ประดับแล้ว วิ่งไป ก็ไม่งาม ต่อเมื่อเดินไปด้วยลีลาแห่งช้าง จึงจะงาม
รออ่านตอนต่อไปนะคะ
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ