จากพระไตรปิฎก ฉบับ มมร. เล่มที่ ๒๔

จากพระไตรปิฎก ฉบับ มมร. เล่มที่ ๒๔
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑ หน้าที่ ๓๑๓ ข้อที่ ๒๑๕

๙. ปาเถยยสูตร
[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง อะไรหนอเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย อะไรหนอย่อมเสือกไสนรชนไป อะไรหนอละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไร เหมือนนกติดบ่วง
[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง สิริ (คือมิ่งขวัญ) เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ความอยากย่อมเสือกไสนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง

๑๐. ปัชโชตสูตร
[๒๑๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นแสงสว่างในโลก อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา อะไรหนอบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ย่อมพะนอเลี้ยงดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดินอาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต
[๒๑๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต

๑๑. อรณสูตร
[๒๑๙] เทวดาทูลถามว่า
คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้ พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของชนพวกไหน ย่อมไม่เสื่อม คนพวกไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้ ความเป็นไทมีแก่คนพวกไหนทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น ผู้ตั้งมั่นในศีล คือ ใครหนอ พวกกษัตริย์ ย่อมอภิวาทใครหนอในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำฯ
[๒๒๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม สมณะทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้ ความเป็นไทย่อมมีแก่สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น ผู้ตั้งมั่น (ในศีล) คือ สมณะ ถึงพวกกษัตริย์ก็อภิวาทสมณะในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำฯ

จบ ฆัตวาวรรค
——————————-
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
ทรัพย์อันประเสริฐที่มีอยู่ในใจตนจะเป็นคนประเสริฐอย่างแท้จริง

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

มหาเสนพราหมณ์

ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์ที่เป็นเพื่อนกับบิดาของพระสารีบุตร ชื่อว่า มหาเสนพราหมณ์ เป็นคนยากจน ได้ถวายข้าวปายาสและผ้าเนื้อหยาบ ที่ตนได้รับมา แด่พระสารีบุตร เมื่อพราหมณ์ถวายทานนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสยิ่งในพระสารีบุตร

พราหมณ์นั้นได้เสียชีวิต ถือปฏิสนธิในสกุลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี
ขณะตั้งครรภ์ มารดาของทารกได้ถวายข้าวมธุปายาสแด่ภิกษุ ๕๐๐ รูป
มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน
พวกญาติก็ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธานเหมือนกัน เมื่อทารกคลอดออกมา ได้นอนบนผ้ากัมพลมีค่าแสนหนึ่ง ทารกนั้นได้ถวายผ้ากัมพลนั้นแด่พระสารีบุตร ทารกได้ชื่อว่าติสสะ เช่นเดียวกับพระสารีบุตรเถระ

ในงานมงคลต่างๆ ของทารก ญาติก็ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน

เมื่อเด็กอายุได้ ๗ ขวบ
ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักของพระสารีบุตร เมื่อสามเณรบวชได้สองวัน บิณฑบาตได้ผ้าพันหนึ่ง
กับผ้าสาฎกพันหนึ่ง วันหนึ่งในฤดูหนาว สามเณรได้ผ้ากัมพลพันหนึ่ง ด้วยกุศลที่ถวายผ้าในอดีตชาติ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ของน้อยที่บุคคลให้แล้วในหมู่ภิกษุเช่นใดมีผลมาก ของมากที่บุคคลให้แล้วในหมู่ภิกษุเช่นใดมีผลมากกว่า หมู่ภิกษุนี้ก็เป็นเช่นนั้น
สามเณรคิดว่าตนพึงเข้าไปสู่ป่า ทำที่พึ่งแห่งตน จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกกัมมัฏฐานเพื่อปฏิบัติให้ถึงพระอรหัต ไหว้พระอุปัชฌายะแล้วออกเดินทางไกล ๑๒๐ โยชน์ ในประเทศนั้น ชาวบ้านได้นิมนต์สามเณรให้อยู่พรรษา ตลอดเวลาสามเดือนที่สามเณรบิณฑบาต

สามเณรได้ให้พรเฉพาะ ๒ บทแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านทั้งหลายจงถึงซึ่งความสุข จงพ้นจากทุกข์ เมื่อเดือนที่ ๓ ล่วงไป สามเณรก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะเถระ พระอนุรุทธะเถระ พระอุบาลีเถระ พระปุณณะเถระ พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูปของแต่ละพระอสีติมหาเถระ รวมภิกษุประมาณ ๔ หมื่น ได้เดินทางไปหาสามเณรติสสะ ชาวบ้านได้ต้อนรับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย และพาไปยังวิหารที่สามเณรอยู่ ชาวบ้านได้ขอฟังธรรม พระสารีบุตรจึงให้สามเณรแสดงเนื้อความแห่งธรรมว่า ชาวบ้านจะถึงซึ่งความสุข และจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

สามเณรติสสะขึ้นสู่ธรรมาสน์ ชักผลและเหตุจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ และโพธิปักขิยธรรม กล่าวธรรมกถาด้วยยอดคือพระอรหัต แล้วกล่าวว่า
ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้บรรลุพระอรหัตอย่างนี้ ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล ย่อมพ้นจากทุกข์ คนที่เหลือไม่พ้นจากชาติทุกข์เป็นต้น และจากทุกข์ในนรกเป็นต้นได้
และได้กล่าวสรภัญญะต่อจากนั้น ชาวบ้านที่บำรุงสามเณรได้แยกเป็น ๒ พวก

บางพวกโกรธที่สามเณรไม่เคยกล่าวบทแห่งธรรมเลยในระหว่างพรรษา ส่วนบางพวกยินดีว่า เป็นลาภของตนที่บัดนี้ได้ฟังธรรม
พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่า พวกที่โกรธสามเณรจักไปสู่นรก เมื่อพระองค์เสด็จไป ชนเหล่านั้นจะทำเมตตาจิตในสามเณร แล้วจะพ้นจากทุกข์

จึงเสด็จไปพร้อมภิกษุ แล้วตรัสแก่ชนทั้งหลายว่าเป็นลาภของท่านทั้งหลายที่ได้เห็นอสีติมหาสาวก คือ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ เป็นต้น

เพราะอาศัยสามเณร ท่านทั้งหลายได้เห็นพระพุทธเจ้าเพราะอาศัยสามเณรนี้นั่นเอง เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ดีแล้วชาวบ้านทั้งหลายต่างยินดีที่ได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของตน และยังได้ถวายไทยธรรมแก่พระผู้เป็นเจ้านั้น ชาวบ้านที่โกรธสามเณรก็กลับมายินดี ส่วนพวกที่ยินดีแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น ในเวลาจบอนุโมทนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น

เมื่อพระศาสดาและภิกษุกลับถึงวัดเชตวัน ภิกษุได้สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ติสสสามเณรทำกรรมที่บุคคลทำได้ยาก ในเวลาที่สามเณรอยู่ที่นี่ ลาภและสักการะมากก็เกิดขึ้นแล้ว สามเณรทิ้งลาภและสักการะเห็นปานนี้ แล้วเข้าไปสู่ป่า ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารที่เจือกัน

เมื่อพระศาสดาจึงตรัสว่า
ชื่อว่าข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ก็อบาย ๔ มีประตูเปิดแล้ว ตั้งอยู่ เพื่อภิกษุผู้รักษาข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภ สมาทานธุดงค์ ด้วยหวังว่า ‘เราจักได้ลาภด้วยการปฏิบัติอย่างนี้’

ส่วนภิกษุผู้ละลาภและสักการะที่เกิดขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานแล้วเข้าไปสู่ป่า เพียรพยายามอยู่ ย่อมยึดเอาพระอรหัตไว้ได้
แล้งจึงตรัสพระคาถาต่อไปอีกว่า
ก็ข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภ เป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน เป็นอย่างหนึ่ง

ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทราบเนื้อความนั้น อย่างนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงตามเจริญวิเวก
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
…………………………………………..
ข้าพระพุทธเจ้ามีมรรคผล นิพพาน เป็นที่สุดอย่างยิ่งในชาตินี้

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

..เปรตผู้เคยเกิดเป็นมารดาของพระสารีบุตร..

..เปรตผู้เคยเกิดเป็นมารดาของพระสารีบุตร..:

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภนางเปรตผู้มารดาของท่านพระสารีบุตรเถระ โดยชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้

วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์.

ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสีมีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้าและที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้าและผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึงแล้วๆ

ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและน้ำเป็นต้นโดยเคารพ. เธอเมื่อจะไปถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธออย่าได้ทำทานวิธีนี้ตามที่บัญญัติให้เสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ

ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็ตัดขาดวิธีที่บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้งไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้. เมื่อคนเดินทางมาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น จึงกล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย

สมัยต่อมา นางทำกาละแล้ว อันอานุภาพกรรมซัดไป บังเกิดใน(ไไกำเนิดเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน หวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตรจึงถึงประตูวิหาร

เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้นห้ามเข้าวิหาร

ได้ยินว่า นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้. เพราะฉะนั้น เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดิฉันเป็นมารดาของพระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูเพื่อเยี่ยมพระเถระ

เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรมแสดงตนแก่พระเถระ
พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้นเป็นผู้มีใจอันความกรุณาตักเตือนจึงถามด้วยคาถาว่า
ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครงท่านเป็นใครหรือจึงมายืนอยู่ในที่นี้.
นางเปรตนั้นถูกพระเถระถามเมื่อจะให้คำตอบจึงได้กล่าวคาถา๕คาถาความว่า
เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติอื่นๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้าและศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็นและข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง. กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้นไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า

ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้าง ไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด
. ท่านพระสารีบุตรเถระได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สองจึงเรียกพระเถระ ๓ รูปมีท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้นมา พร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร.
พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมาว่า ท่านขอรับ ท่านมาทำไม?
ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา
พระราชาตรัสว่า โยมรู้แล้ว แล้วจึงละพระเถระ รับสั่งให้เรียกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ ทรงพระบัญชาว่า เธอจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำอันวิจิตรไม่ไกลแต่เมือง และในภายในพระราชวังให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน โดยที่มีความพิเศษเพียงพอแล้วให้รับกุฎี ๔ หลัง. และพระองค์เองก็ได้เสด็จไปในที่นั้นได้ทรงกระทำพระราชกรณียกิจที่ควรทำ

เมื่อกุฎีสำเร็จแล้วจึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้นและเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่ท่านพระสารีบุตรเถระ

ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น.
นางเปรตนั้นได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง. ในวันต่อมาก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้วยืนอยู่.
พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น.
นางเปรตนั้นได้แจ้งเหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรตและเข้าถึงความเป็นเทวดาอีก.
ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า :-
ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีจิตอนุเคราะห์ได้ฟังคำของมารดาแล้ว จึงปรึกษากับท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านพระอนุรุทธะและ ท่านพระกัปปินะ แล้วให้สร้างกุฎี ๔ หลัง ถวายกุฎีทั้งข้าวและน้ำแด่พระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่มารดา

ในทันใดนั้นเอง วิบากคือ ข้าวน้ำและผ้าก็เกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่า ยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระจึงถามว่า
ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร
อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่ง
ทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจ ย่อมบังเกิดแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกร
นางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์
ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองและมีรัศมีกายสว่างไสว
ไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร?
นางเทพธิดานั้นตอบว่า
เมื่อก่อน ดิฉันเป็นมารดาของท่านพระสารีบุตรเถระ ในชาติอื่นๆ เกิด
ในเปตวิสัย เพรียบพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูก
ความหิวครอบงำแล้ว จึงกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะอันเขาถ่มทิ้งไว้
และกินมันเหลวแห่งซากศพที่เขาเผาอยู่บนเชิงตะกอน กินโลหิตของ
หญิงที่คลอดบุตรและโลหิตแห่งบุรุษทั้งหลายซึ่งถูกตัดมือ เท้า และศีรษะ
ที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น ข้อมือและข้อเท้าของชายหญิง กินหนอง
และเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย
นอนบนเตียงของคนตาย ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ดิฉันเป็นผู้ไม่มีภัยแต่
ที่ไหนๆ บันเทิงอยู่ เพราะทานของท่านพระสารีบุตร ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ดิฉันมาครั้งนี้ เพื่อจะไหว้ท่านสารีบุตรผู้เป็นนักปราชญ์ มีความกรุณาในโลก

จบ สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒.
————————————
น้อมจิตกราบมหาอนุโมทนาพระสารีบุตรผู้ประเสริฐ

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

..นายติณบาลผู้ยากจนร่วมบุญกฐิน…

..นายติณบาลผู้ยากจนร่วมบุญกฐิน…

ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายยากจนเข็ญใจผู้หนึ่งเขาจนแม้กระทั่งไม่มีชื่อจะเรียก ได้อาศัยรับใช้เกี่ยวหญ้าอยู่กับเศรษฐี เศรษฐีจึงตั้งใช้ให้ว่า “นายติณบาล”

อยู่มาวันหนึ่ง ติณณปาละมาคิดว่าตัวเรานี้ ในชาติปางก่อนคงจะไม่ได้ทำบุญกุศลอันใดไว้เลย มาถึงชาติ นี้เราจึงได้ลำบากยากแค้น แม้แต่อาหารจะรับประทานไปวันหนึ่งๆ ก็ทั้งยาก แต่นี้ต่อไปเราจะต้องขวนขวายให้ทานทุก ๆ วัน

เมื่อมีความตั้งใจอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งอาหารออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งไว้บริโภคเองทำอย่างนี้มาตลอดทุก ๆ วันมิได้ขาดด้วยอำนาจบุญกุศล ที่ติณณปาละทำนั้น

ก็ทราบไปถึงสิริธรรมเศรษฐีผู้เป็นนายจ้างจึงสั่งให้เพิ่มอาหารขึ้นอีกเป็น ๓ ส่วน ติณณปาละก็แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่งให้แก่ยาจก อีกส่วนตนเก็บไว้บริโภค ทำอยู่อย่างนี้เป็นลำดับมา

วันหนึ่งเศรษฐีต้องการทำบุญกฐิน จึงแจ้งข่าวให้บริวารได้ร่วมบุญ เมื่อนายติณบาลทราบก็เกิดศรัทธาอยากร่วมบุญกฐินกับท่านเศรษฐีด้วย เขารีบกลับไปสำรวจดูทรัพย์สิ่งของที่บ้านว่า มีอะไรที่พอจะทำทานบ้าง แต่ก็ว่างเปล่า

จึงตัดสินใจถอดเสื้อผ้าแล้วนำใบไม้มาเย็บติดกันนุ่งห่มแทน มุ้งหน้าเดินไปตลาดเพื่อนำเสื้อผ้าไปขาย แม้ในระหว่างทางจะถูกผู้คนหัวเราะเยาะ ล้อเลียนอย่างขบขัน เขาก็ไม่สะทกสะท้าน

นายติณบาลจึงชูมือขึ้นกล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจน ไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าเราจะนุ่งผ้าอันเป็นทิพย์” เราจะนุ่งใบไม้เป็นชาติสุดท้ายภพชาติต่อไปเราจะนุ่งแต่ผ้าทิพย์ นายติณบาลกล่าวอย่างนี้

เขาขายเสื้อผ้าให้พ่อค้าคนหนึ่งได้เงินมา 5 มาสก จึงปรึกษาท่านเศรษฐีว่า จะนำเงินนี้ทำอะไรดี เศรษฐีแนะนำให้ซื้อเข็มกับด้าย มาร่วมเป็นบริวารกฐิน เขาปิติใจมากที่มีโอกาสได้ร่วมบุญกับท่านเศรษฐี

เหตุการณ์นี้ร้อนถึงทิพยอาสน์ของท้าวสักกะเทวราช บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อส่องทิพย์เนตรดู เห็นการกระทำที่เกิดขึ้นได้ยากของนายติณบาล จึงมีศรัทธาเลื่อมใส มาปรากฎกายที่หน้าบ้านของนายติณบาล

ท้าวสักกะเทวราชกล่าวสรรเสริญการกระทำของนายติณบาลแล้ว ก็ให้เขาขอพรได้ 4 ประการ เขาจึงขอพรว่า

” ขออย่าให้กระผมได้ข่มเหงสตรีทั้งด้วยกาย วาจา ใจ ขออย่ามีความตระหนี่ในการทำทาน ขออย่าได้เป็นคนพาล ขอให้ได้ภรรยาดีมีศีลธรรม “

เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังพรของนายติณบาลแล้ว ก็เกิดความสงสัยว่า เหตุใดคนยากจนเช่นเขา จึงไม่ขอพรให้ตนมีทรัพย์สมบัติมากๆ เขาตอบว่า

” การได้เป็นคนดี มีคนรอบข้างเป็นคนดีก็นับว่ามีทรัพย์อันประเสริฐแล้ว “

เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังดังนั้น จึงอนุโมทนาและบันดาลให้พรทั้ง 4 ประการนั้นสำเร็จ
ข่าวการทำทานของนายติณบาลทราบถึงพระราชา จึงมีรับสั่งให้เรียกตัวเขามาตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว พระราชาจึงทรงขอแบ่งบุญจากเขา

และพระราชฐานทรัพย์ให้ พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นเศรษฐีในวันนั้นเอง
ในวันที่นายติณบาลใกล้จะละโลก เขาระลึกถึงบุญอันยิ่งใหญ่ที่ทำได้ยากนี้
โดยเฉพาะเป็นบุญกฐินที่ทอดถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คตินิมิตจึงใสสว่าง เมื่อละโลกแล้ว เหล่าบริวารเข้าแถวมารอรับอัญเชิญเทพบุตรใหม่ขึ้น
เทวรถ เพื่อกลับทิพยวิมานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติอันตระการ

มาจนถึงภพชาติสุดท้าย ได้เกิดเป็นชายในสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เขาออกบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหัตตผลในที่สุด ด้วยอำนาจบุญที่ได้กระทำมาดีแล้วนี้เอง

อานิสงส์ของกฐิน
“กฐินทาน “เป็นบุญพิเศษที่บังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกจำกัดด้วยกาลเวลาจึงมีอานิสงส์ใหญ่ดังนี้คือ
ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
ทำให้เป็นผู้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณน่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ
ทำให้บุคคลผู้นั้นแม้ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในโลกสวรรค์
——————————–
วันจันทร์ที่30ตุลาคม 2566 ทอดกฐินบ้านเพชรบำเพ็ญ

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย

ตลอดการฟังพระปาติโมกข์
น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย

พุทโธเมนาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

ธัมโมเมนาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

สังโฆเมนาโถ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าน้อมอาราธนาพระรัตนตรัยอันประเสริฐเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

มหากุศลจิตเกิดขึ้นไม่มีประมาณ

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

วันนี้..วันพระ แรม 15 ค่ำ สิ้นเดือน 10 ปีเถาะ

วันนี้..วันพระ แรม 15 ค่ำ สิ้นเดือน 10 ปีเถาะ
………………………………………………….
ความยึดมั่นทั้งหลาย..นำความทุกข์มาสู่ตน
ไม่ยึดไม่ทุกข์…………
………………………………………………….
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

12 สิงหาคม…วันแม่แห่งประเทศไทย

12 สิงหาคม…วันแม่แห่งประเทศไทย
…………………………………………………

กุศลผลบุญใดที่เกิดจากการประพฤติ.
ปฏิบัติ รักษาศีลให้ทานเจริญภาวนา
ธรรมอันใดที่แม่เจริญแล้ว
แม่น้อมกราบอาราธนาธรรมนั้นคุ้มครองรักษา
ให้ลูกมีกำลังใจ..มีกำลังกาย..
มีชีวิตอย่างพอเพียงและไม่ประมาทในการ.พูด..คิด..ทำ

รักเสมอ
……….
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

…วันอาสาฬหบูชา…

…วันอาสาฬหบูชา…
…………………………
ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินในคุณของพระรัตนตรัย ข้าพเจ้าน้อมกราบขอขมาต่อคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ด้วยกายวาจาใจ

น้อมกราบอารธนาคุณพระรัตนตรัย
เป็นที่พึ่ง ในการดำเนินชีวิตอย่างมีสติมีปัญญาอยู่ในเส้นทางอันประเสริฐตลอดชีวิตด้วยเทอญ

แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

…วันอาสาฬหบูชา…

วันนี้..วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ
==========================
…วันอาสาฬหบูชา…

..แก้วสามประการอันประเสริฐสุด..
..ของผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต..

ทำหน้าที่พุทธศาสนิกชน..สืบทอดอายุพระศาสนา
เพื่อประโยชน์..เพื่อความสุขความเจริญแก่ตน
==========================
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ

วันนี้..วันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ

วันนี้..วันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ
…………………………………….
ความทุกข์..เป็นเครื่องอยู่ของกาย
ความพ้นจากทุกข์..เป็นหน้าที่ของใจ
…………………………………….
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ