เรื่องของนางจูฬสุภัททา ตอนที่๑

เรื่องของนางจูฬสุภัททา ตอนที่๑
      
  นางจูฬสุภัททา เป็นลูกสาวคนที่ ๒ ของอนาถบิณฑิกะเศรษฐี   เมื่อนางมหาสุภัททาแต่งงานมีสามีออกเรือนไปอยู่กับสามีแล้ว ท่านเศรษฐีจึงมอบภาระหน้าที่ในการดูแลธุรกิจการค้าทั้งหมดให้แก่นางจุฬสุภัททาเป็นคนดูแลต่อไป  

นางจูฬสุภัททามีนิสัยเป็นคนเด็ดขาดเข้มแข็งทำอะไรกล้าตัดสินใจไม่ต้องถามเศรษฐี เมื่อเห็นว่าการตัดสินใจทำนั้นจะไม่เกิดผลเสียแก่ธุรกิจการค้าของบิดา  

ในตอนที่นางจูฬสุภัททามารับหน้าที่แทนพี่สาวนี้  ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีมีเวลาว่างมากท่านจึงมีเวลาไปวัดทั้งเช้าและเย็น  ปกติแล้วท่านจะไปวัดก่อนใครๆทั้งหมด  

วันหนึ่งท่านเศรษฐีกำลังนั่งสนทนากับกับพระพุทธเจ้าอยู่คนใช้ที่บ้านมาบอกท่านว่ามีคนมาส่งข่าวว่า “อุคคะเศรษฐีจะมาเยี่ยม”

   เมื่อท่านเศรษฐีกลับมาถึงบ้านแล้วจึงให้เรียกนางจูฬสุภัททามาแล้วสั่งว่า


“จูฬสุภัททา  พรุ่งนี้อุคคะเศรษฐีแห่งเมืองอุคคะนครที่เป็นเพื่อนรักของพ่อจะมาเยี่ยม  พ่ออนุญาตให้เธอจัดแจงการต้อนรับแขกของพ่ออย่าให้พ่อขายหน้านะลูก”  
นางสาวจูฬสุภัททาพูดว่า

“จ๊ะ พ่อ   หนูจะไม่ทำให้พ่อตัองผิดหวังจ๊ะพ่อ”

นางจึงรีบไปจัดเตรียมการต้อนรับอย่างใหญ่โตทีเดียว จัดเตรียมเรื่องอาหารการกินที่หลับที่นอนของเศรษฐีและบริวารอย่างดียิ่งทีเดียว  

อุคคะเศรษฐีรู้สึกประทับใจในการต้อนรับของนางมาก  จึงได้ถามอนาถบิณฑิกะเศรษฐีว่า

“หญิงสาวคนที่เป็นแม่งานนั้นเป็นใคร”

 อนาถบิณฑิกะเศรษฐีก็บอกว่า

“คนนั้นเป็นลูกสาวของผมเอง  นางชื่อจูฬสุภัททา”  

อุคคะเศรษฐีคิดว่านางจูฬสุภัททาคนนี้เป็นเด็กหญิงที่ฉลาดและนิสัยดีแถมยังสวยอีกด้วย จำเราจะขอนางให้แก่บุตชายของเรา   อุคคะเศรษฐีจึงถามถึงสัญญาตอนที่เป็นนักเรียนที่เคยเรียนหนังสือร่วมกันและเคยสัญญากันไว้ว่า 

“ในบรรดาเราทั้งสองคนถ้าคนใดคนหนึ่งได้ลูกสาวอีกคนหนึ่งได้ลูกชายจะอนุญาตให้แต่งงานกัน”  

อนาถบิณฑิกะเศรษฐีบอกว่า “จำได้ดี”    

อุคคะเศรษฐีจึงพูดว่าถ้าเช่นนั้นผมถือโอกาสขอนางให้แก่ลูกชายของผมเลยจะได้ไหม?  

อนาถบิณฑิกะเศรษฐีบอกว่า
 
“ผมขอถามนางดูก่อนนางจะพอใจหรือไม่?  ถ้านางไม่มีปัญหาผมก็ยินดียกนางให้เลย”  
เมื่ออนาถบิณฑิกะเศรษฐีกลับมาที่เรือนอาศัย ถามภรรยาว่า

“เราควรจะยกนางจูฬสุภ้ททาให้เป็นลูกสะใภ้ของอุคคะเศรษฐีหรือไม่”  

ภรรยาพูดว่า
“แล้วแต่พี่เถอะฉันได้ทั้งนั้น”

ถึงภรรยาพูดอย่างนี้แต่อนาถบิณฑิกะเศรษฐีก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีเพราะอุคคะเศรษฐียังเป็นมิจฉาทิฏฐิเลื่อมใสนับถือชีเปลือย

จึงได้เอาข้อความนี้ไปทูลถาม

พระพุทธเจ้า   พระพุทธองค์ทรงเห็นว่านางจูฬสุภัททากับลูกชายอุคคะเศรษฐีเป็นคู่ครองกันมาตั้งแต่อดีตชาติ และเมื่อแต่งงานแล้วนางจูฬสุภัททาจะทำให้สามีแม่ผัวพ่อผัวเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน  

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีทราบข้อมูลนี้แล้วจึงกลับบ้านถามนางจุฬสุภัททาดูว่า 

“จูฬสุภัททา  พ่ออยากจะให้เธอแต่งงานกับลูกชายของอุคคะเศรษฐี  เธอจะพอใจหรือไม่” 
  นางจูฬสุภัททาก็พูดกับพ่อว่า

“ถึงหนูไม่อยากแต่งเพราะยังไม่เคยเห็นหน้าเจ้าบ่าวว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะรูปหล่อหรือขี้เหร่จะมีรูปร่างพิกลพิการส่วนไหนหรือไม่  จะใจดีหรือใจร้ายจะอยู่กินเป็นสามีร่วมทุกข์ร่วมสุขได้หรือไม่  

จะไม่แต่งก็ไม่ได้เพราะพ่อไปทำสัญญาไว้กับเขา  
ถ้าหนูไม่แต่งพ่อก็จะเสียสัจจะที่ให้ไว้กับเขาจะทำให้พ่อเป็นคนบาป

เพื่อจะรักษาสัจจะข้อนี้และช่วยปลดเปลืองสัญญาที่พ่อได้ไปสัญญาไว้กับเพื่อนหนูก็ยินยอมทำตามคำของพ่อ”  

เมื่อกำหนดวันแต่งงานแล้วอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ

ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงิน, ทองคำ, และเพชรพลอยที่มีค่าถึง ๙  โกฏิกหาปณะ  ถ้าคิดราคาเป็นเงินในปัจจุบันก็มีราคา ๙๐ ล้าน

ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมันมีน้ำหนักมากผู้หญิงจะประดับเครื่องประดับนี้ได้จะต้องมีพละกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก  

มิฉะนั้นแล้วจะประดับเครื่องประดับนี้ไมได้เพราะมีเรียวแรงไม่พอ  ในสมัยพระพุทธเจ้าผู้หญิงที่มีเครื่องประดับนี้มีอยู่ ๓ คนด้วยกัน คือ:-

  ๑.นางวิสาขา   ลูกสาวของธนัญชัยมหาเศรษฐี
  ๒.พระนางมัลลิกาเทวี  พระอัครมเหสีของพระเจ้าปะเสนทิโกศล
  ๓.นางจูฬสุภัททา   ลูกสาวของอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี

 อนาถบิณฑิกะเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

อนาถบิณฑิกะเศรษฐีให้โอวาทแก่ลูกสาว
   ก่อนที่นางจูฬสุภัททาจะไปสู่ตระกูลของสามี อนาถบิณฑิกะศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของกุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามีโดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏิบัติ

ในวันส่งธิดาไปยังอุคคะนครนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วทำสักการะอันยิ่งใหญ่แก่ธิดา

เพือให้ประจักษ์แก่ชาวโลกในบุญกุศลของนาง   ในเวลาถึงอุคคะนครมหาชนและญาติของพ่อผัวและญาติของแม่ผัวไดทำการต้อนรับอันยิ่งใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก                                   
  ส่วนนางจูฬสุภัททาก็ได้ประดับตกแต่งตัวด้วยเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์  แสดงตนให้ปรากฏแก่ชาวนครทั้งสิ้น เหมือนนางวิสาขา เพื่อทำสิริสมบัติของตนให้ปรากฏ

ยืนอยู่บนรถเข้าไปสู่นครรับเครื่องบรรณาการที่ชาวนครส่งมาแล้ว ก็ส่งสิ่งของไปตอบแทนแก่ประชนทั้งหลายตามวัตถุสิ่งของที่ส่งมาให้ตามสมควร
ได้ทำชาวเมืองทั้งหลายให้เนืองแน่นเป็นอันเดียวกันด้วยคุณของตน.

พ่อผัวให้นางจูฬสุภัททาไหว้ชีเปลือย               
  ในวันที่เป็นมงคลวันหนึ่งหลังจากนางจุฬสุภัททาได้ไปอยู่ที่บ้านของพ่อผัวแล้ว เพื่อจะทำสักการะแก่พวกชีเปลือย จึงส่งคนใช้ให้ไปบอกนางจูฬสุภัททาว่า

“ขอให้นางจงมาไหว้พระสมณะทั้งหลายของพวกเรา.”  

นางจูฬสุภัททารู้ว่าสมณะของตระกูลพ่อผัวก็คือพวกชีเปือย พวกชีเปือยทั้งหลายจะไม่นุ่งผ้าแก้ผ้าเปือยเปล่าเหมือนพวกคนป่าที่อยู่ในทวีปแอฟริกา   นางไม่อาจจะไปดูคนลามกป่าเถื่อนได้

นางจึงบอกคนใช้ของพ่อผัวว่า “ไม่ไป”  

แม้พ่อผัวจะส่งคนมาบอกถึง ๓-๔ ครั้ง  นางก็บอกว่าไม่ไป เมื่อส่งคนไปบอกบ่อยๆ ก็ถูกนางห้ามเสียทั้งสิ้น    

เมื่อเป็นเข่นนี้พ่อผัวก็โกรธพูดว่า

“พวกเธอจงไปขับไล่นางให้หนีจากบ้านไปเสีย.”  
นางจูฬสุภัททาคิดว่า

“พ่อผัวอาจจะไม่ยกโทษแก่เราแน่ เพราะเหตุอันไม่สมควรนี้”  

จึงให้คนไปเรียกกุฎุมพีที่พ่อให้มาดูแลตน แล้วจึงบอกความนั้นแก่พวกกุฎุมพีเหล่านั้นให้ทราบว่า

“ถูกพ่อผัวขับไล่ให้หนีจากบ้านด้วยเหตุที่ไม่ไปไหว้พวกชีเปือย”

ความที่นางไม่มีโทษพวกกุฎุมพีจึงไปพูดกับอุคคะเศรษฐีว่า

“นางจูฬสุภัททาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  นางบรรลุธรรมอยู่ในขั้นโสดาบันแล้ว ที่นางมาแต่งงานกับบุตรชายของท่านเพราะนางหวังจะปลดเปลื้องสัญญาที่พ่อได้ให้ไว้กับท่านตอนเรียนหนังสือไง  

ท่านเศรษฐีอย่าไปบังคับนางเลย  ท่านเศรษฐีจะไหว้ก็ไหว้ไปเถิด  แต่นางก็จะไหว้พระพุทธเจ้าที่นางเคารพนับถือ  ต่างคนต่างไหว้สมณะของตนเองไม่ดีหรือ  

ถ้าท่านเศรษฐีจะไล่นางออกจากบ้านด้วยสาเหตุนี้  ท่านก็จะถูกประชาชนทั้งหลายตำหนิติเตียนว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความยุติธรรมบังคับเคี่ยวเข็ญผู้อื่นให้ทำตามในสิ่งเขาไม่ชอบ  

อีกประการหนึ่งการที่ท่านเศรษฐีขับไล่นางให้หนีออกจากบ้านเพราะสาเหตุอันไม่สมควรนี้นางต้องไปแน่เพราะนางเป็นลูกสาวของอนาถบิณฑิกะเศรษฐีซึ่งเป็นเศรษฐีอันหนึ่งของกรุงสาวัตถี  

แต่พวกข้าพเจ้ากลัวแต่ว่าท่านเศรษฐีกับอนาถบิณฑิกะเศรษฐีที่เป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันจะต้องมาผิดใจกันเพราะสาเหตุอันไม่สมควรนี้อย่างแน่นอน”  

เมื่ออุคคะเศรษฐีได้ฟังเรื่องราวเช่นนี้ก็นิ่งเงียบไม่พูดจาอะไรเลย  แต่ก็จำเป็นต้องยอมรับตามที่พวกกฎุมพีทั้ง ๘ คนพูด เมื่อเศรษฐีจำนนในคำชี้แจงนี้เขาก็ได้เอาข้อความนี้ไปบอกให้ภรรยาทราบ

ภรรยาของเศรษฐีดูเหมือนว่าหล่อนจะเป็นคนฉลาดและมีเหตุผลนางก็พูดกับสามีว่า

“ลูกสะใภ้คนนี้ไม่ไหว้พระสมณะทั้งหลายของเรา ด้วยเข้าใจว่าเป็นผู้ลามกไม่มีความละอาย.”

  ภรรยาเศรษฐีก็คิดว่า
“พวกสมณะของลูกสะใภ้คนนี้ จะเป็นเช่นไรหนอ? นางถึงสรรเสริญพระสมณะเหล่านั้นมากมายเหลือเกินเราอยากดูจริงๆ”  

เมื่อภรรยาอุคคะเศรษฐีคิดได้ดังนี้แล้วนางก็ให้คนไปเรียกนางจุฬสุภัททามาแล้ว พูดว่า

 “พวกพระสมณะของเจ้า เป็นเช่นไร?  เจ้าจึงสรรเสริญพระสมณะเหล่านั้นมากนักหนา พระสมณะเหล่านั้น มีปกติอย่างไร? มีสมาจาระอย่างไร? เจ้าจงบอกเรื่องนั้นแก่เราดูซิ”

    ลำดับนั้นนางจูฬสุภัททาก็ได้ประกาศพระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้าแก่แม่ผัวว่า

 “พระองค์เป็นผู้มีอินทรีย์อันสง่างามมีกิริยาวาจาอันสงบ มีจิตใจสงบเบิกบาน ท่านยืนเดินนั่งนอนด้วกิริยาอันสงบเรียบร้อย,มีจักษุทอดลง พูดจาพอประมาณไม่โอ้อวด พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้,  

พระวรกายของพระองค์สะอาดปราศจากมลทิน วจีกรรมไพเราะเสนาะโสตไม่มัวหมอง มโนกรรมหมดจดแจ่มใสเบิกบาน พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้,

พระองค์ไม่มีมลทิน มีรัศมีเปล่งออกจากพระวรกายเป็น ๖ สีสีสวยงามยิ่งนัก

บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก เต็มไปด้วยธรรมอันหมดจดทั้งหลาย,

พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้, โลกฟูขึ้นเพราะลาภ และฟุบลงเพราะเสื่อมลาภ,

พระองค์ตั้งอยู่อย่างเดียวคือความสงบจากลาภและการเสื่อมลาภ,พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้,

โลกฟูขึ้นเพราะยศ และฟุบลงเพราะเสื่อมยศ, พระองค์ตั้งอยู่อย่างเดียวคือความสงบจากยศและการเสื่อมยศ,

พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้, โลกฟูขึ้นเพราะสรรเสริญ และฟุบลงแม้เพราะนินทา, พระองค์จะสงบในการนินทาและการสรรเสริญ,

พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้, โลกฟูขึ้นเพราะสุข และฟุบลงแม้เพราะทุกข์, พระองค์จะไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์, พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนี้.”  
เมื่อภรรยาเศรษฐีได้ฟังการสรรเสริญพระสมณะของนางก็คิดอยากจะเห็นสมณะเหล่านี้จริงๆ

  ลำดับนั้น แม่ผัวก็กล่าวกะนางจูฬสุภัททาว่า
“เจ้าจะเชิญสมณะทั้งหลายของเจ้า มาให้แม่ดูได้หรือไม่” 

    นางจูฬสุภัททาตอบว่า

“ได้สิจ๊ะ ถ้าแม่อยากดู” 
    ภรรยาเศรษฐีถามว่า “เมื่อไหร่? “
   
นางจูฬสุภัททาบอกว่า “วันพรุ่งนี้เช้าค่ะ”

    ภรรยาเศรษฐีพูดว่า “จูฬสุภัททา เจ้าอย่าได้ล้อเล่นกับแม่เลยนะ  มันจะเป็นไปได้อย่างไง  พระเขตวันมหาวิหารที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ห่างไกลจากที่นี่ถึง ๑๒๐ โยชน์เลยเชียวนะ”  

   นางจูฬสุภัททาก็ตอบแม่ผัวว่า “หนูจะต้องนิมนต์มาพรุ่งนี้ให้ได้   ขอให้แม่จงวางใจเถอะ”  

รออ่านตอนต่อไปนะคะ

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ