อานิสงส์การทอดกฐิน…

อานิสงส์การทอดกฐิน

๑ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒.เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระสาวกที่ได้รับยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านต่างๆ
๓.เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรมโดยง่าย
๔.ทำให้ได้เป็นท้าวสักกเทวราช เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย (พระอินทร์)
๕.ทำให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต และมี แก้ว ๗ ประการ
๖.ทำให้ได้เกิดเป็นเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก
๗.ทำให้ได้เป็นเศรษฐี มีทรัพย์มหาศาล
๘.ทำให้เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

เพราะทอดกฐิน ติณบาลจึงเป็นเศรษฐี
ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปสัมพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง เป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์ จึงยอมตนเป็นคนรับใช้ เศรษฐีสิริธรรมผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ มีหน้าที่ดูแลรักษาหญ้า จึงได้ชื่อว่า “ติณบาล” แปลว่า ผู้ดูแลรักษาหญ้า
วันหนึ่งเขาคิดว่า “ที่เขาเป็นคนยากจนเช่นนี้ คงเป็นเพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย” เมื่อคิดดังนี้แล้ว เขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ ออกเป็น ๒ ส่วน

ส่วนหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเองรับประทาน ด้วยเดชกุศลผลบุญอันนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดสงสารเขา แล้วให้อาหารเพิ่มอีกเป็น ๒ ส่วน เขาได้แบ่งอาหารเป็น ๓ ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามเอาไว้บริโภคสำหรับตนเอง เขาทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน

ต่อมาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีสิริธรรมก็เตรียมจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกัน เมื่อนายติณบาลได้ยินก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันที จึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีถามอานิสงส์ของกฐิน เศรษฐีตอบว่า “มีอานิสงส์มากมายหนักหนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสยกย่องสรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ มีเวลาในการทำอันจำกัด”

เมื่อเขาได้ทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก แสดงความประสงค์ที่จะร่วมการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย จึงได้กลับไปที่อยู่ของตน แล้วเกิคความคิดขึ้นว่า

“เรา ไม่มีสมบัติอะไรเลย แม้แต่ผ้าดีๆ สักผืน เราจะทำบุญร่วมกับท่านเศรษฐีได้อย่างไร”

เขาครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้ ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน เอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด

ชาวตลาดทั้งหลายเห็นอาการเช่นนั้น ก็พากันหัวเราะลั่น เห็นเขาเป็นตัวตลก แต่นายติณบาลไม่ได้รู้สึกอาย และไม่รู้สึกโกรธคนเหล่านั้นแต่อย่างใด ที่หัวเราะเยาะเขา เพื่อยืนยันความตั้งใจจริงที่จะร่วมทอดกฐิน เขาชูมือขึ้นแล้วแถลงด้วยเสียงอันดังว่า

“ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจนไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์”

ครั้นพูดชี้แจงแก่ประชาชนชาวตลาดดังนี้แล้ว เขาได้ออกเดินเร่ขายเรื่อยไป ในที่สุดเขาได้ขายผ้านั้นในราคา ๕ มาสก (๑ บาท) แล้วนำไปมอบให้ท่านเศรษฐี

เศรษฐีได้ใช้เงินนั้นซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร
ในกาลครั้งนั้น ได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น และล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าพาราณสี จึงรับสั่งให้นำนายติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะละอาย จึงได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคา ๑๐๐,๐๐๐ ตำลึงไปพระราชทานแก่เขา
นอกจากนั้นได้พระราชทาน บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติ เป็นอันมาก

แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า “ท่านติณบาลเศรษฐี” เมื่อเขาดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์พิภพ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานแก้ว สูงได้ ๕ โยชน์ มีนางเทพอัปสรหนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ส่วนเศรษฐีสิริธรรม ครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้วได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกันกับท่านติณบาลเศรษฐี

———————————-

..เราอาจไม่ล่วงรู้..ว่าบุญที่เราทำ..ส่งผลอย่างไร..

..ที่มีกินมีใช้ไม่ลำบากเหมือนก่อน..คือ..บุญ..
..ที่ลูกหลานมีใจกตัญญูเกื้อกูล..คือ..บุญ..
..ผิวพรรณผุดผ่อง..ออกแสงเรือง..คือ..บุญ..
..เคยอยากได้..รู้สึกพอ..ก็..คือ..บุญ..
..เคยจองเวร..ให้อภัยได้..ก็คือ..บุญ..
..ไม่หลงยศลาภ..ก็คือ..บุญ..

..ถึงเวลา..บุญจะส่งผลตามเวลา..ที่เหมาะที่ควรไม่สูญเปล่า..

..แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ..