อ่านหนังสือวันละหน้าปี2020 : ค่าของคน

อ่านหนังสือวันละหน้าปี2020
10นาทีชีวิตเปลี่ยน

ค่าของคน

คนที่มีอำนาจเหนือกรรม คือคนที่ควบคุมจิตเจตนาของตนเองได้ ถวายชีวิตแด่พระรัตนตรัย ต่อสู้กับอารมณ์ใจของตนเอง
จนสามารถลดความโกรธ โลภ หลงให้เบาบางจนดับไม่เหลือเชื้อ มีพื้นฐานจากบุญเก่าที่สะสมมา

อริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐ7ประการ
ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส
ว่ามนุษย์ทั้งหลายควรพึงมีแสวงหาทรัพย์ทั้ง 7 ประการนี้ไว้กับตน

อริยทรัพย์
ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ เช่ืออย่างมีเหตุผล เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง พ่อแม่มีคุณจริง ตายแล้วไม่สูญ เชื่อคุณของพระรัตนตรัยว่าดับทุกข์ได้จริง

ศีลคือ ข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข เพื่อประโยชน์ขั้นพื้นฐานคือความสุขและไม่มีการเบียดเบียนกันในสังคม

ประโยชน์ของศีลในขั้นพื้นฐานคือทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ

ในระดับของบรรพชิต ศีลจะมีจำนวนมาก เพื่อกำกับให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรสามารถครองตนในสมณภาวะได้อย่างสมบูรณ์ และเอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นสูงต่อไปได้

ศีล 5 เป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง กล่าวคือ ศีลทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา สามเณร หรือพระภิกษุ

ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งศีล 5 ข้อนี้ กำหนดเป็นศีลสำหรับผู้ครองเรือนทั่วไปควรรักษา เป็นศีลที่ควรรักษาให้เป็นปกติ
เป็นเครื่องป้องกันความชั่ว

ศีลห้า 1.เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวง รวมถึงการทำร้ายสัตว์หรือมนุษย์
2.เว้นจากการลักทรัพย์ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
3.เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย 4.เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด
5.เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ศีล 8 เป็นศีลที่มีพื้นฐานมาจากศีล 5 เน้นการไม่เสพกาม การรับประทานอาหารจำกัดเวลา การหัดลดละการหาความสุขจากสิ่งบันเทิงหรือเครื่องปรนเปรอความสุขทางประสาทสัมผัสและการงดใช้เครื่องนั่งนอนฟูกหรูหรา

เป็นการฝึกฝนตนให้รู้จักที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระได้มากขึ้น สามารถอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากเกินไป

ศีล 10 เป็นศีลสำหรับเด็กและเยาวชนที่บวชเป็นสามเณรสมาทานรักษาเป็นประจำ คำว่า สามเณร แปลว่า เหล่ากอของสมณะ หมายถึง เด็กและเยาวชนผู้ศึกษาอบรมตามหลักไตรสิกขา

เพื่อเตรียมเป็นพระภิกษุเมื่อมีอายุครบอุปสมบทตามพระวินัยกำหนด

ศีล 227 หรือสิกขาบท 227 เรียกว่า ศีลของพระภิกษุ เป็นพระวินัยพุทธบัญญัติในส่วนที่เป็นกฎเกณฑ์ข้อห้ามสำหรับบุรุษผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ต้องรักษาโดยเคร่งครัด เพื่อดำรงความเป็นพระภิกษุ

หิริ คือ ความละอายต่อบาป ถึงไม่มีใครรู้แต่นึกกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป

โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้วบาปอาจจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป กลัวผลของบาปชั่วจะย้อนกลับมา

พาหุสัจจะ ไม่มีทิฐิมานะในการเรียนรู้เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน
ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้ได้คล่องปากขบได้ด้วยทฤษฎี
เป็นผู้สิ้นสงสัยในพระรัตนตรัย

คำว่า ปริจจาคะ แปลว่า สละรอบ ซึ่งหมายถึง การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลด้วยวัตถุสิ่งของ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน กับคำว่า จาคะ แปลว่า การเสียสละ

สละความไม่ดีงามออกไปจากใจของตนเอง สละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม อธิบายได้ ดังนี้

การมีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นได้ การสละความสุขสบายส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง การสละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อประโยชน์ที่ดีกว่ามากกว่า

ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย มีความสอดคล้องเอื้อให้มีศรัทธาตั้งมั่น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปัญญาไว้ถึง 3 ระดับ ซึ่งปัญญาทุกประเภทนั้นต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีอะไรสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน

เนื่องจากการจะข้ามสะพานไปได้ ต้องเดินผ่านตั้งแต่ ต้นสะพาน ผ่านกึ่งกลางสะพาน แล้วจึงจะถึงปลายสะพาน ข้ามฟากได้

ปัญญา 3 ระดับก็เป็นฉันนั้น คือเริ่มจาก เข้าใจว่าอะไรคือ กุศลและอกุศล, เข้าใจกระบวนธรรมชาติ ตั้งแต่กฎแห่งกรรม ถึงไตรลักษณ์, และสุดท้าย จึงตระหนักถึงสภาวะของทุกข์และแนวทางการดับทุกข์
ในอริยสัจ4

ปัญญา 3 ประการที่ว่านี้ ได้แก่

1. สุตมยปัญญา       คือ  ปัญญาที่สำเร็จโดยการฟัง หมายถึงเอาปัญญา ความรู้ ความเข้าใจจากการอ่านและการฟัง ทบทวนศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งมีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง และแม่นยำ ในอรรถะและพยัญชนะ

2. จินตามยปัญญา    คือ  ปัญญาที่สำเร็จโดยการคิดพิจารณา หมายถึงปัญญาที่ได้จากการคิดใคร่ครวญ พินิจพิจารณา ให้เกิดความเข้าใจ

ตามขั้นตอนของเหตุผล และความสัมพันธ์ต่างๆ โดยมิใช่การ จดจำเฉยๆ แต่สามารถมองสภาพปรมัตถ์ธรรมออกด้วยจินตนาการ

เข้าใจถึงเป้าหมาย และรายละเอียดธรรมะได้ตรงทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือนำความรู้มาปรับใช้เพียงแต่มิได้อยู่ในฐานะเป็น “ผู้เห็นด้วยตนเอง” ก็เท่านั้น

3. ภาวนามยปัญญา   คือ  ปัญญาที่สำเร็จโดยการภาวนาหมายถึงปัญญาของผู้ปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางของมหาสติปัฏฐาน 4 แล้วประจักษ์แจ้งในความมิใช่ ตัวตน สัตว์ บุคคล ของขันธุ์ 5

เพราะประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น แม้ ‘ใจ’ หรือ ‘วิญญาณ’ ก็ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเห็นแล้ว ก็จะไม่เหลือคุณค่าสาระใดๆ ที่จะต้องยึดถือให้เกิดความทุกทรมาน บีบคั้นจิตใจอีกต่อไป 

ทรัพย์ภายใน7ข้อนี้จะทำให้เข้ากระแสธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก้าวเข้าสู่อริยะบุคคล ยิ่งกว่ามีทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทอง สังสารวัฎในการเกิดสั้นลง จนไม่มาเกิดเลย

แสวงหาสิ่งมีค่าใดๆก็ไม่มีค่า
แสวงหาความหลุดพ้นจากตัณหา
คือค่าของคน

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ