วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๙ ปรินิพพาน – เหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติม

วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๙ ปรินิพพาน – เหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติม
มติที่ ๓ ที่บอกว่าเป็นโอสถพิเศษที่ปรุงด้วยตำรับ“รสายนศาสตร์”(ทางฝ่ายมหายานระบุว่าเป็นเห็ดแก่นจันทน์) ข้อนี้น่าพิจารณาและมีทางเป็นไปได้กว่าสองมติที่กล่าวมา โดยขออนุญาตินำความคิดเห็นของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก มาแสดง ท่านให้เหตุผลดังนี้

๑. นายจุนทะทราบข่าวว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในเร็ววันนี้ อาจจะเข้าใจว่าพระองค์ทรงประชวร หรืออาจต้องการให้พระองค์มีอายุยืนยาว จึงขวนขวายหาโอสถมาปรุงถวายพิเศษ การปรุงยาคงต้องตระเตรียมหุงต้มตลอดทั้งคืน ถ้าเป็นอาหารธรรมดา ก็ไม่น่าจะเสียเวลาตระเตรียมมากมายขนาดนั้น

๒. การที่พระองค์ห้ามมิให้นายจุนทะถวายสุกรมัททวะแก่พระสงฆ์อื่น อาจเนื่องจากพระสงฆ์​มิได้อาพาธหรือไม่ได้จะนิพพานเหมือนพระองค์ คนไม่ป่วยไข้ มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แล้ว ถ้ารับประทานยาก็จะกลายเป็นโทษมากกว่าคุณ มีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบัน คนไม่เป็นอะไร ชอบกินวิตามินบำรุง หนักเข้าเกิดโรคแพ้วิตามินก็มี

ยาที่นายจุนทะปรุงนี้บางทีจะปรุงด้วยตัวยาหนักเบาสำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ อย่างตำราไทยโบราณของเราต้องมีการคูณธาตุ น้ำหนักยามีหนักมีเบามากน้อยตามความเหมาะสมแก่คนไข้เป็นราย ๆ ไป ใช่ว่ายาหม้อเดียวกันรักษาได้ทุกคนก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เหมาะจะเสวยสุกรมัททวะนี้ และย่อยมันได้ดี เข้าทำนอง “ลางเนื้อชอบลางยา”

๓. ถ้าสิ่งที่ว่านี้เป็นสมุนไพร หรือยาที่ปรุงพิเศษขนานหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า ทำไมเรียกชื่อว่า สุกรมัททวะเล่า พูดง่าย ๆ ถ้าไม่เกี่ยวกับเนื้อหมูแล้วมีคำว่า สุกรมัททวะอยู่ด้วยทำไม ข้อนี้ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ ท่านได้กรุณาวิเคราะห์วิจารณ์ว่า ดูตัวอย่างชื่อยาไทยโบราณยาไทยแต่ละขนานล้วนตั้งชื่อกันแปลก ๆ เช่น ยาจตุรพักตร์ ยาน้ำนมราชสีห์ ฯลฯ

ซึ่งจริง ๆ อย่างยาน้ำนมราชสีห์ ก็มิได้เอา น้ำนมราชสีห์ จริง ๆ เป็นเพียงตั้งชื่อให้วิจิตรพิสดารอย่างนั้นเอง ชื่อสุกรมัททวะนี้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหมู และที่ปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตระบุว่าเป็นเห็ด เกิดจากแก่นจันทร์ก็ฟังดูเข้าทีดี อาจเป็นเห็ดชนิดนี้ก็ได้ที่นายจุนทะนำมาปรุงตามตำรับ รสายนศาสตร์ถวายพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองปาวา อาการประชวรก็กำเริบหนักขึ้น ถ้ามิได้เสวยยาของนายจุนนทะบางทีอาจไม่ทรงสามารถพยุงพระวรกายเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราก็ได้

หลังจากเสวยพระกระยาหารมื้อนี้แล้ว ทรงทราบดีว่าอาจมีผู้เข้าใจผิดว่านายจุนทะวางยาพิษพระองค์ถึงกับดับขันธปรินิพพานก็ได้ จึงตรัสกับพระอานนท์เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่นายจุนทะในกาลข้างหน้าว่า

“ดูก่อนอานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนหนึ่งพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตรว่า นี่แนะนายจุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพาน

อานนท์ พวกเธอควรดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะจุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วดับขันธปรินิพพาน”

บิณฑบาต ๒ ครั้ง มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอย่างอื่น คือ

๑.บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายในวันที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง

๒.บิณฑบาตที่นายจุนทะได้ถวายแด่พระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้เสวยแล้วปรินิพพานด้วย อนนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สั่งสมไว้แล้ว

แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ