วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๔ ปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา ตอนที่ ๑๔ ปรินิพพาน

แม้เป็นนางคณิกาแต่ศรัทธาเปี่ยมล้น เมื่อสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ บ่ายพระพักตร์ไปยังเมืองกุสินาราเพื่อดับขันธปรินิพพานระหว่างทางพระองค์ได้แวะพักที่สวนมะม่วงของนางอัมพปาลี ซึ่งมีอาชีพเป็นนางคณิกา (หญิงบริการ) นางทราบเข้าจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงแสดงธรรมให้พวกนางฟัง จบแล้วพวกนางได้เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พวกเจ้าลิจฉวีทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่สวนมะม่วงของนางอัมพปาลี จึงเสด็จมาเข้าเฝ้าและฟังธรรม เมื่อฟังจบได้อาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน แต่พระองค์ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าได้รับอาราธนาจากนางอัมพปาลีไว้ก่อนแล้ว

จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแบ่งชั้นวรรณะ ไม่เห็นแก่ลาภสักการะ พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสัตว์ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พวกเจ้าลิจฉวีแม้เป็นกษัตริย์ แต่นิมนต์ที่หลังนางคณิกา พระองค์ก็ปฏิเสธ

เมื่อเจ้าลิจฉวีทราบว่านางอัมพปาลีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไว้ก่อนแล้ว จึงขอ “ซื้อ” กิจนิมนต์นั้นจากนาง หมายความว่า ขอให้นางสละสิทธิ์การถวายภัตตาหาร ในวันรุ่งขึ้นมอบให้พวกเขาเสีย พวกเขาจะตอบแทนให้ด้วยรถม้าสวยงาม ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา (ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็คงจะเป็นรถหรูราคาแพง) แต่นางก็ปฏิเสธ

พวกเจ้าลิจฉวีไม่ละความพยายาม ต้องการทั้งกิจนิมนต์และต้องการเอาชนะนางด้วย จึงเสนอเงินทองเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะเสนอให้มากมายเพียงใด นางก็ยังยืนกรานปฏิเสธ นางบอกว่าการได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใด ในที่สุดพวกลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

แม้นางเป็นหญิงคณิกาแต่จิตใจสูงส่งยิ่งนัก ไม่เห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่กลัวศักดิ์ศรีหรืออาชญาของพวกเจ้าลิจฉวี การตัดสินใจของนางถือว่าถูกต้องที่สุดเพราะว่า ทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย มีโอกาสสามารถหาได้ ตราบใดที่ยังมีชีวิต แข็งแรงและมีความขยันหมั่นเพียร

แต่โอกาสที่จะได้ถวายแด่พระพุทธเจ้าหาได้ยากยิ่ง ไม่รู้ว่าเวียนตายเวียนเกิดอีกกี่ชาติจึงจะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า พบแล้วเกิดความเลื่อมใน มีไทยธรรมเพียบพร้อม ได้โอกาสถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ดูเจ้าลิจฉวีเป็นตัวอย่าง ได้พบ ได้ฟังธรรม แต่ไม่มีโอกาสได้ถวาย แม้จะทุ่มทรัพย์เพื่อขอแลกกิจนิมนต์ ก็ยังไม่มีโอกาส

โดยเฉพาะเวลานี้พระองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอีกด้วย นางจึงไม่ยอมพลาดโอกาส แต่ถ้าเป็นคนยุคปัจจุบัน ก็ยังไม่แน่เหมือนกัน จะมีสักกี่คนที่มีศรัทธาตั้งมั่นเหมือนนางอัมพปาลี

ประวัตินางอัมพปาลี
นางอัมพปาลีมีความงดงามมาก ถึงขนาดว่าพวกราชกุมารแห่งเมืองไพศาลีมาพบนางเข้า ต่างจะเอาเป็นสมบัติของตน จึงถึงกับวิวาทกันใหญ่โตเมื่อเรื่องเข้าสู่ศาล ศาลให้พิพากษาว่า “ให้นางเป็นสมบัติของทุกคน” จึงได้แต่งตั้งนางให้เป็นนางนครโสเภณี (หญิงงามเมือง)

ตำแหน่งนครโสเภณีสมัยก่อนโน้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ถูกกฏหมาย ไม่มั่นใจว่ามีเงินเดือนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มีการตั้งราคา ถ้าต้องการนำไปร่วมอภิรมย์ ก็ต้องจ่ายตามราคาที่ตั้งไว้ หญิงงามเมืองเป็นตำแหน่งที่พระราชาและเศรษฐีร่วมกันแต่งตั้ง

แคว้นวัชชีเป็นแคว้นแรกที่มีตำแหน่งนครโสเภณี เพื่อ “ดูด” เงินตราจากต่างประเทศ กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยได้ทราบข่าวว่าที่นครไพศาลีมีหญิงงามเมืองที่งดงาม ต่างก็ขนเงินมา “ทิ้ง” ที่เมืองนี้กันปีละจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าค่าอภิรมย์กับนางอัมพปาลี คืนหนึ่งแพงหูฉี่ แต่ก็มี “แขก” ต่างเมืองมาเยี่ยมสำนักเธอมิขาดสาย

พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองแคว้นมคธ ก็เป็นแขกพิเศษของนางอัมพปาลี จนได้บุตรด้วยกันมาคนหนึ่ง นามวิมละ หรือวิมล พระองค์จึงทรงนำไปเลี้ยงไว้ในราชสำนักเมืองราชคฤห์ ต่อมาได้ออกบวชและบรรลุพระอรหัตผล

หลังจากนางอัมพปาลีถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว นางได้ฟังธรรมจากพระวิมลเถระ (บุตรชายของนาง) รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังแห่งสรีระร่างกายของตน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

แม่ชี ทศพร วชิระบำเพ็ญ