มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร

มัฏฐกุณฑลี เป็นเด็กหนุ่มชาวเมืองสาวัตถี เกิดในตระกูลพราหมณ์ พ่อแม่เป็นคนมั่งคั่งมาก แต่ตระหนี่เหนียวแน่น จนคนทั้งหลายให้สมัญญาว่า

อทินนปุพพกะ แปลว่า “ไม่เคยให้อะไรแก่ใคร”

ถึงกระนั้นก็ยังมีแก่ใจเอาทองตีแผ่ทำเป็นตุ้มหูเกลี้ยงๆ ให้ลูกชาย 1 คู่ คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อเด็กคนนี้ว่า

มัฏฐกุณฑลี แปลว่า “มีตุ้มหูเกลี้ยง”

ตุ้มหูนั้นพ่อเป็นคนทำให้เอง ไม่ได้จ้างช่างทอง เพราะเกรงจะเสียค่าจ้าง

เมื่ออายุ 16 ปี มัฏฐกุณฑลีป่วยหนัก บาลีว่าเป็นโรคผอมเหลือง คือวัณโรคนั่นเอง มารดามองดูบุตรแล้วเกิดความสงสาร จึงขอร้องให้สามีไปหาหมอ

แต่ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นสามีกลัวเสียเงินจึงไม่ยอมหาหมอมารักษาลูก เขาเพียงแต่ไปถามหมอว่า คนป่วยอย่างนั้นๆ ท่านให้ยาอย่างไร

หมอก็บอกว่าให้ยาที่ประกอบด้วยสิ่งนั้นๆ พราหมณ์จึงไปหารากไม้ใบไม้ตามที่หมอบอกมาต้มให้ลูกกิน

อาการของมัฏฐกุณฑลีไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุด จนไม่อาจเยียวยาได้ พราหมณ์จึงไปหมอมาคนหนึ่ง หมอมาเห็นอาการของมัฏฐกุณฑลีเข้า

รู้ได้ทันทีว่า เหลือแรงที่จะรักษาจึงบอกปฏิเสธ ไม่ยอมรักษา บอกให้พราหมณ์ไปหาหมอคนอื่น

พราหมณ์รู้ว่าลูกของตัวคงตายแน่ เกรงว่าคนมาเยี่ยมจะเห็นทรัพย์สมบัติ จึงช่วยกันหามลูกชาย ออกมานอนที่ระเบียงเรือนนอกห้อง

วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของคนที่พระองค์ควรจะโปรด ทรงเห็นอุปนิสัยของมัฏฐกุณฑลี จึงเสด็จมาโปรด

ขณะที่พระศาสดาเสด็จมาถึงนั้น มัฏฐกุณฑลีกำลังนอนผินหน้าเข้าหาฝาเรือน พระศาสดาทราบว่า มานพไม่เห็นพระองค์

จึงทรงเปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง

มานพคิดว่า “นี่แสงอะไรกันหนอ?”

แล้วผินหน้าออกภายนอก
ได้เห็นพระศาสดา คิดว่า

“เพราะบิดาของเราเป็นอันธพาล เราจึงมิได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเห็นปานนี้ มิได้ขวนขวายในกิจที่ชอบ มิได้ถวายทาน หรือฟังธรรมแต่อย่างใดอย่างหนึ่งเลย บัดนี้ แม้แต่มือของตัวเอง เราก็ยกไม่ไหวเสียอีก จะทำอย่างอื่นได้อย่างไร”

ดังนี้แล้ว ทำจิตให้เสื่อมใสในพระศาสดา

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า มัฏฐกุณฑลี ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้วก็เสด็จออกไป พอลับตาเท่านั้น มัฏฐกุณฑลีก็สิ้นชีพเกิดในวิมานทอง เสมือนว่าหลับแล้วตื่นขึ้น

ฝ่ายพราหมณ์บิดา ทำฌาปนกิจศพลูกชายแล้ว ก็ได้แต่ร้องไห้ ไปยืนร้องไห้ที่ป่าช้าทุกวัน คร่ำครวญว่า ลูกชายคนเดียวของพ่ออยู่ไหน มาหาพ่อเถิด

เทพบุตรมัฏฐกุณฑลี รู้สึกตัวอย่างสมบูรณ์ในเทวโลกแล้ว พิจารณาถึงทิพยสมบัติของตน ก็รู้เห็นโดยตลอดว่าได้มาเพราะทำจิตให้เลื่อมใสในพระศาสดา ได้มองเห็นพราหมณ์บิดา ยืนร้องไห้อยู่ที่ป่าช้า

จึงจำแลงเพศ คล้ายมัฏฐกุณฑลีมานพลงมา ยืนกอดแขนร้องไห้อยู่ ณ อีกมุมหนึ่งของป่าช้า เขามีความประสงค์จะเอาหนามมาบ่งหนามในใจของพราหมณ์

พราหมณ์ได้ยินเสียงคนร้องไห้ เหลียวไปเห็นมานพคล้ายมัฏฐกุณฑลีบุตรของตน จึงเดินเข้าไปหา และถามว่า

“พ่อหนุ่ม, ท่านแต่งกายคล้ายมัฏฐกุณฑลี บุตรของข้าพเจ้า ท่านมายืนร้องไห้อยู่ที่ป่าช้านี้ เพราะมีทุกข์ประการใดฤา?”

“ก็ท่านเล่ามีความทุกข์อะไร?” มานพถาม “ข้าพเจ้าเศร้าโศกถึงบุตรคนเดียวของข้าพเจ้าที่ตายไป”

“ข้าพเจ้ามีรถอยู่คันหนึ่ง” มานพตอบ

, “ตัวรถเป็นทองคำล้วน ผุดผ่อง สวยงาม แต่ข้าพเจ้าหาล้อรถไม่ได้ ข้าพเจ้าคงจักต้องตรอมใจตายเพราะเหตุนี้เป็นแน่แท้”

พราหมณ์ตกตะลึง ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า

“มานพผู้เจริญ! ท่านจะต้องการล้อทอง หรือเงินหรือแก้วมณี หรือโลหะ จงบอกมาเถิด ข้าพเจ้ารับประกันว่าจะจัดหามาให้ท่าน”

มานพคิดว่า

“ดู๋ดู พราหมณ์นี้ช่างเป็นไปได้ เมื่อบุตรของตนป่วยหนักนั้นไม่ยอมเสียเงินรักษาแม้เพียงเล็กน้อย บัดนี้เห็นเรามีรถทองจะยอมจ่ายล้อรถให้ไม่ว่าเป็นล้อทองหรือล้อเงิน อา! พราหมณ์นี้เป็นอันธพาลจริงๆ แต่ช่างเถอะ เราจะล้อแกเล่น”

จึงกล่าวว่า

“พราหมณ์เอย! สิ่งอื่นใดอันจักควรเป็นล้อรถของข้าพเจ้าหามีไม่ นอกจากดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เท่านั้น หากได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มาประกอบเป็นล้อ รถของข้าพเจ้าคงจะงามเยี่ยม ไม่มีอะไรเสมอเหมือน”

พราหมณ์คิดว่า เด็กหนุ่มคนนี้คงเป็นบ้าอย่างแน่นอน จึงกล่าวว่า

“ท่านต้องการสิ่งที่ไม่อาจให้เป็นไปได้ ท่านโง่เขลาเหลือเกิน ท่านตายแล้วเกิดเล่าอีกสักเท่าใดก็ไม่อาจดึงเอาดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มาเป็นล้อรถของท่านได้”

มานพตอบว่า

“พราหมณ์! ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ข้าพเจ้าต้องการสิ่งที่พอมองเห็นได้ ส่วนท่านร้องไห้คร่ำครวญต้องการสิ่งอันใครๆ ก็มองไม่เห็น ในระหว่างเราทั้งสองใครเป็นพาลกว่ากัน ใครโง่กว่าใคร”

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นกลับได้สติ ยอมรับว่ามานพน้อยพูดถูก ตนเป็นผู้โง่เขลากว่า เพราะต้องการสิ่งอันมองไม่เห็น และไม่เคยมีใครเรียกคืนมาได้

พราหมณ์ได้กล่าวชมเชยมานพนั้นว่า

“ข้าพเจ้าเป็นผู้เร่าร้อนหนักหนา ท่านได้รดน้ำคือความเห็นถูกมาให้ข้าพเจ้า กลับกลายเป็นผู้เย็น ประหนึ่งท่านนำน้ำมาดับไฟ ความกระวนกระวายทั้งปวงของข้าพเจ้าดับลงแล้ว

ความเศร้าโศกถึงบุตรก็บรรเทาลงแล้ว ท่านได้ถอนลูกศรคือความโศกออกจากหทัยของข้าพเจ้าเสียได้

คำของท่านประเสริฐนัก ช่วยดับความร้อนและความโศกในใจของข้าพเจ้าได้”

แลแล้วพราหมณ์ได้ถามว่า มานพนั้นคือใคร มานพก็บอกว่า เขาคือมัฏฐกุณฑลี บุตรของพราหมณ์นั่นเอง ได้ทำกุศลกรรมไว้ก่อนตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพ

พราหมณ์กล่าวว่า อยู่ด้วยกันมายังไม่เคยเห็นบุตรของตนให้ทาน หรือรักษาศีลแต่ประการใด มานพไปสู่เทวโลกได้ด้วยกรรมอันใด

มานพเล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดให้ฟัง พราหมณ์ฟังแล้วเกิดปีติปราโมทย์เป็นอันมาก กล่าวว่า

“น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ การทำอัญชลีกรรมแด่พระพุทธเจ้ามีผลถึงปานนี้ ข้าพเจ้าจักทำใจให้เลื่อมใส นับถือพระพุทธเจ้าในวันนี้ทีเดียว”

พราหมณ์ได้ปฏิญาณกับมานพว่าจักรักษาศีลให้ทานและเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลอาราธนาให้ไปเสวยภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น

พระศาสดาทรงรับ

เมื่อถึงเวลาก็เสด็จไปบ้านพราหมณ์ ประชาชนมาประชุมกันมาก พวกหนึ่งตั้งใจมาดูพราหมณ์ต้อนรับพระพุทธเจ้าด้วยการถามปัญหา

พวกหนึ่งต้องการมาดูพุทธวิสัย พุทธลีลา

เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พราหมณ์ได้ทูลถามพระศาสดาว่า

“มีหรือพระโคดม-บุคคลไม่ได้ถวายทานแด่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้รักษาอุโบสถ แต่ได้ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยเหตุเพียงการทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์อย่างเดียว”

พระศาสดาตรัสตอบว่า”พราหมณ์! ท่านถามความข้อนี้กับเราทำไมอีกเล่า ในเมื่อมัฏฐกุณฑลีได้บอกความจริงข้อนี้แก่ท่านแล้ว”

เมื่อพราหมณ์แกล้งสงสัยและถาม พระศาสดาก็ทรงเล่าเรื่องการพบปะและการสนทนาทั้งปวงระหว่างมัฏฐกุณฑลี

พระศาสดาทรงทราบว่า มหาชนที่มาประชุมกันยังไม่สิ้นสงสัย จึงทรงอธิษฐานให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลงมา พร้อมทั้งวิมาน พระองค์ทรงสัมภาษณ์เทพบุตรนั้น มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรทูลตอบตามความเป็นจริงทุกประการ

มหาชนได้ฟังการถามการตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและเทพบุตรแล้ว อุทานออกมาด้วยปีติโสมนัสและเลื่อมใสว่า

“ดูเถิดท่านทั้งหลาย บุตรของพราหมณ์เชื่ออทินน ปุพพกะ ไม่ได้ทำบุญอย่างอื่นเลย เพียงแต่ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังได้สมบัติเห็นปานนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณน่าอัศจรรย์แท้”

พระศาสดาจึงตรัส

ภาษิตที่กล่าวไว้แล้วเบื้องต้นว่า

“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ฯลฯ ถ้าใจดี ใจผ่องใส การทำการพูดก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีนั้น ความสุขก็ติดตามมา เหมือนเงาตามตน”

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ