พระมหากัสสปะได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์”

พระมหากัสสปะได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์”

พระมหากัสสปะนั้นถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด ๓ ข้อ คือ
๑.ถือทรงผ้าบังสุกุล จีวรเป็นวัตร
๒.ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓.ถืออยู่ป่าเป็นวัตร

แม้ท่านแก่เฒ่าแล้วท่านก็ยังรักษาธุดงค์
พระมหากัสสปเถระอาศัยอยู่ในป่าจนล่วงกาลผ่านวัยไปตามลำดับ

วันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับในพระเวฬุวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่ง พระศาสดาตรัสกับพระเถระว่า

“กัสสปะ บัดนี้เธอชราแล้ว ผ้าป่านบังสุกุล เหล่านี้ของเธอหนัก ไม่น่านุ่งห่ม เพราะเหตุนั้นแล เธอจงใช้คฤหบดีจีวร (ผ้าที่มีผู้ถวาย) จงบริโภคโภชนะที่เขานิมนต์ และจงอยู่ในสำนักของเราเถิด”

(ผ้าป่านเป็นผ้าหลายชั้น มีน้ำหนักมาก เพราะเย็บด้วยด้ายและปะซ่อมเกือบจะทั่วผืน นับจากรับผ้าผืนนี้มาจากพระศาสดาครั้งแรกบวช พระพุทธเจ้าทรงใช้นุ่งมาก่อน)

พระมหากัสสปะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานมาแล้วที่ข้าพระองค์อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และสรรเสริญการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร”

เหตุผลที่ท่านประพฤติธุดงค์
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า
“ดูก่อนกัสสปะ เธอเล็งเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร…

เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และสรรเสริญการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร”
ตลอดมาเล่า?”

พระเถระกราบทูลตอบว่า ข้าพระองค์เล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ จึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร… คือ

1เล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ความสุขที่เกิดจากการอยู่ป่าเป็นต้น

2อนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลัง พวกเขาพึงเห็นเป็นทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่า
พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าที่มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร…

ซึ่งพวกเขาจะปฏิบัติตามเพื่อความเป็นอย่างนั้น เห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ดีล่ะ ดีล่ะ กัสสปะ ได้ยินว่า เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
กัสสปะ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเที่ยวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด”

อรรถกถาว่า การที่ตรัสให้พระเถระเลิกอยู่ป่าและเลิกใช้ผ้าบังสุกุลเป็นต้นนั้น มิได้ทรงจะให้พระเถระเลิกปฏิบัติวัตรเหล่านั้น

ทรงเชิญชวนทั้งที่ทรงรู้ว่าพระเถระจะไม่เลิก แต่ทรงต้องการให้ท่านบันลือสีหนาท ซึ่งท่านก็กราบทูลประกาศเหตุผล 2อย่างต่อหน้าพระพักตร์แล้ว

“เปรียบเหมือนกลองยังไม่ได้ตี ย่อมไม่ดัง ฉันใด พระศาสดาทรงประสงค์จะให้พระเถระบันลือสีหนาท ด้วยทรงพระดำริว่า คนเห็นปานนี้ยังไม่ถูกกระทบย่อมไม่บันลือสีหนาท ฉันนั้น จึงตรัสอย่างนี้”

……………………………………………………

..มีชีวิตอยู่ในคุณของพระรัตนตรัย..ประเสริฐทุกเมื่อ..
..เกิดมาได้อุปฐากพระสงฆ์หมู่ใหญ่..ในทิศทั้งสี่เป็นกุศลมหาศาล..
..ชีวิตนี้น้อยนัก..
..คุ้มค่าที่เกิดมามีศรัทธาในพระรัตนตรัย..
..ได้เป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่..
..หน่อเนื้อพระพุทธศาสนา..เป็นวาสนายิ่ง..

..รักศรัทธาเท่าชีวิต..
..เคารพศรัทธาเท่าลมหายใจ..
..สร้างเหตุให้เป็นโอกาส..
..การกระทำบริสุทธิ์..
..พื้นทรายไม่พยุงน้ำฉันใด..
..ข้าพเจ้ามีศรัทธาไม่เจือด้วยกิเลสฉันนั้น..

..ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ..