พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี

ย้อนหลังจากนี้ไปหนึ่งแสนกัป
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี
เสด็จอุบัติขึ้น ในภพชาตินั้นเศรษฐีเป็นหลานของกุฎุมพีชื่อ อวโรชะ 

ส่วนตัวเองก็มีชื่อว่า อวโรชะ ซึ่งมาพ้องกับชื่อของลุง ในสมัยนั้น ตัวของลุงปรารภจะสร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระบรมศาสดา

หลานชายได้ยินข่าวนั้น เกิดมีจิตเลื่อมใส อยากขอบริจาคเงินร่วมบุญกับลุงของตนด้วย

แต่เศรษฐีผู้เป็นลุงอยากได้บุญคนเดียว เพราะเห็นว่าตัวเองมีเงินทองมากมาย
ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินของหลาน

และอยากให้การถวายกุฏิครั้งนี้เป็นชื่อของตัวเองเท่านั้น จึงปฏิเสธความปรารถนาดีจากหลานชาย

 ฝ่ายหลานชายเป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยไม่แพ้ผู้เป็นลุง จึงคิดว่า

“เมื่อลุงสร้างคันธกุฎีในที่ตรงนี้แล้ว เราควรสร้างศาลาราย ล้อมรอบพระคันธกุฏีอีกทีหนึ่ง”

จึงไปเข้าเฝ้าเพื่อทูล

ขอพระบรมพุทธานุญาตด้วยตัวเอง เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว ก็เกิดความปีติดีใจที่จะได้รับบุญพิเศษในครั้งนี้

รีบกลับไปบ้าน ให้คนใช้ข้าทาสบริวารนำเครื่องไม้มาจากป่า ให้ทำเสาพิเศษกว่าเสาไม้ธรรมดา คือ

เสาต้นหนึ่งบุด้วยทองคำ
ต้นหนึ่งบุด้วยเงิน
ต้นหนึ่งบุด้วยแก้วมณี 

ให้ทำขื่อ บานประตู บานหน้าต่าง กลอน เครื่องมุง และอิฐทั้งหมด บุด้วยรัตนชาติชนิดต่างๆ ให้ทำศาลารายสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ

 บริเวณตรงเบื้องบนของศาลารายได้ให้สร้างจอมยอด ๓ ยอด ที่สำเร็จด้วยทองคำสีสุก เป็นแท่งแก้วผลึก และแก้วประพาฬ

จากนั้นหลานชายให้สร้างมณฑปประดับด้วยแก้ว

ตรงกลางศาลารายให้ตั้งธรรมาสน์ไว้
เพื่อเป็นที่แสดงธรรมของพระธรรมกถึก
เท้าธรรมาสน์นั้นสำเร็จด้วยทองคำสีสุก เป็นทองแท่งสุกปลั่ง

สว่างไสวกว่าทุกที่ในบริเวณศาลารายแห่งนั้น แม้แคร่ ๔ อันก็เป็นพื้นทองคำทั้งหมด จากนั้นให้แกะสลักแพะทองคำ ๔ ตัว ตั้งไว้ใต้เท้าทั้ง ๔ ของอาสนะ

นอกจากนี้ยังให้แกะสลักแพะทองคำอีก ๒ ตัว ตั้งไว้ใต้ตั่งสำหรับรองเท้า แกะสลักแพะทองคำ ๖ ตัว ตั้งแวดล้อมมณฑป

ให้ถักธรรมาสน์ด้วยเชือกเส้นเล็กสำเร็จด้วยด้ายก่อน แล้วจึงให้เอาทองคำถักทอเป็นเชือกเส้นเล็กๆ แทนเส้นด้าย

ด้านบนให้เอามุกดามาร้อยเป็นเชือก ตรงพนักพิงของธรรมาสน์ให้ทำด้วยไม้จันทน์หอม

ครั้นสร้างศาลารายสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ถวายสังฆทานแด่พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุหกล้านแปดแสนรูป

ได้กล่าวถวายศาลารายด้วยจิตที่เลื่อมใสในมหาทาน ด้วยบุญนั้น ทำให้ท่านได้สวรรค์สมบัติ และมนุษย์สมบัติเรื่อยมา
  
   ในภัทรกัปนี้ บุญยังส่งผลต่อให้ท่านเกิดในกรุงพาราณสี เป็นบุตรของมหาเศรษฐีผู้มีโภคทรัพย์สมบัติมากอีกเหมือนเดิม

พอเติบโตขึ้นก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งเศรษฐีประจำเมืองต่อจากบิดามีนามว่า
พาราณสีเศรษฐี  วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชาและได้พบกับท่านปุโรหิต

จึงกล่าวสนทนาตามประสาคนรู้จักกัน จากนั้นได้ถามถึงเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ปุโรหิตซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการดูฤกษ์ยาม หลังคำนวณดูดวงแล้วกล่าวว่า จากนี้ไป ๓ ปี  ฉาตกภัย คือภัยที่เกิดจากความแห้งแล้งจะเกิดขึ้น ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล

เกษตรกรจะไม่สามารถทำไร่ไถนา หรือทำสวนได้เหมือนเดิม ชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว

พวกสัตว์เลี้ยงจะล้มตายเพราะขาดน้ำและอาหาร ขอให้ท่านเศรษฐีเตรียมตัวรับภัยแล้งครั้งใหญ่นี้เถิด ถ้าจะโยกย้ายครอบครัวก็ให้ย้ายกันแต่เนิ่นๆ

เศรษฐีฟังคำทำนายแล้ว ก็ไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจอะไร อีกทั้งไม่คิดจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น

เพราะท่านมีข้าทาสบริวารมาก การโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก แต่เพื่อความไม่ประมาท

ท่านเศรษฐีได้สั่งให้ข้าทาสบริวารทำนาปลูกข้าวเพื่อกักตุนข้าวเปลือกไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังซื้อข้าวเปลือกบรรจุจนเต็มฉางทั้ง ๑,๒๕๐ ฉาง

ครั้นเมื่อฉางไม่พอที่จะใส่ข้าวเปลือก ก็ให้บรรจุในภาชนะต่างๆ ด้วย ตั้งแต่ ตุ่ม ไห หม้อ เป็นต้นจนเต็ม

แล้วขุดหลุมฝังในดินอีกเป็นจำนวนมาก
และยังให้ขยำข้าวเปลือกที่เหลือกับดินเหนียวแล้วฉาบทาฝาผนังไว้

 สมัยต่อมา คำทำนายของปุโรหิตก็กลายเป็นจริง เมื่อภัยคือ ความอดอยากบังเกิดขึ้น

และเนื่องจากเศรษฐีมีการเตรียมตัวรับภัยไว้เป็นอย่างดี ในช่วงแรกๆ จึงไม่ลำบากอะไร แต่เมื่อฉาตกภัยได้ขยายเวลาออกไปเป็นเวลานานขึ้น

ก็จำต้องบริโภคข้าวเปลือกที่เก็บไว้ เมื่อข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในฉาง และในภาชนะต่างๆ หมด จึงเรียกข้าทาสบริวารทั้งหมดให้มาประชุมพร้อมกัน

เมื่อข้าทาสบริวารมาพร้อมแล้วจึงกล่าวว่า

“พวกท่านปรารถนาจะไปหลบภัยอันร้ายกาจนี้ที่ภูเขาหรือที่ไหน ก็ให้ไปได้

ใครจะเข้าป่าหาผลหมากรากไม้กินเป็นอาหาร หรืออพยพไปอยู่ที่เมืองอื่น

ก็เชิญไปตามความสมัครใจ เมื่อถึงเวลาข้าวปลาอาหารหาได้ง่ายแล้ว

ใครอยากจะกลับมาอยู่กับเราอีก เราก็ยินดีต้อนรับ แต่ถ้าไปแล้วไม่อยากกลับมา

จะตั้งรกรากที่นั่นเป็นการถาวร ก็แล้วแต่ความสะดวก เราขอกล่าวคำอำลาพวกท่าน ณ ที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเดินทางโดยสวัสดิภาพเถิด”

 พวกข้าทาสบริวารฟังแล้ว ก็ซาบซึ้งในน้ำใจของเจ้านาย แม้จะเคารพเทิดทูนเจ้านายไม่อยากจากไป

แต่เพื่อความอยู่รอดจึงต้องหอบหิ้วสัมภาระเดินทางไปอยู่ที่อื่นกันหมด คงเหลือแต่ทาสคนรับใช้ใกล้ชิดเพียงคนเดียว

ที่รักเจ้านายยิ่งกว่าความตาย ทาสคนนี้ชื่อ ปุณณะ และที่เหลืออยู่ร่วมเป็นร่วมตายกับท่านเศรษฐีอีก ๓ ท่าน คือ ภรรยาของเศรษฐี ลูกชาย และลูกสะใภ้  

เมื่อความแห้งแล้งระบาดไปทุกหย่อมหญ้า พืชพันธุ์ธัญญาหารทุกอย่างล้มตายจนหมด  เศรษฐีจึงให้เอาข้าวเปลือกที่ฝังไว้ในหลุมมาหุงต้มกิน

พอข้าวเปลือกในหลุมหมด ก็ให้พังดินที่เอาข้าวฉาบไว้ตามฝาผนังมาแช่น้ำ แบ่งกันรับประทาน พอยังอัตภาพให้เป็นไป ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าฝนฟ้าจะตกลงมา

 ฝ่ายภรรยาของเศรษฐี เมื่อถูกความหิวครอบงำหนักเข้า ก็ไปเที่ยวเก็บเมล็ดข้าวเปลือก และข้าวสารที่ตัวเองทำตกหล่นไว้ตามที่ต่างๆ

รวบรวมข้าวสาร ได้ประมาณทะนานหนึ่ง แล้วนำไปฝังไว้ใต้ดิน ข้าวมื้อนี้เป็นมื้อสุดท้าย เมื่อท่านเศรษฐีถามว่า

“นางผู้เจริญ ฉันหิวเหลือเกิน มีข้าวเหลืออยู่บ้างไหม”
ภรรยาตอบว่า
“ยังพอมีข้าวสารอีกทะนานหนึ่ง ตอนนี้ฉันฝังไว้ใต้ดิน”

เศรษฐีจึงบอกให้นางไปขุดมาหุงต้มกิน

 ภรรยาเศรษฐีหุงข้าวสวยเสร็จแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน
คดข้าวสวยส่วนหนึ่งวางไว้ข้างหน้าของเศรษฐี อีก ๔ ส่วนก็เป็นของลูกชาย ลูกสะใภ้ ทาสคนสนิท และของตัวเอง

ทุกคนรู้ว่านี่เป็นอาหารมื้อสุดท้าย จากนั้นก็ต้องอดอยากหิวตายอย่างแน่นอน จึงไม่เร่งรีบลงมือรับประทาน ในขณะนั้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ตั้งใจจะออกไปบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์

ท่านรู้ด้วยญาณทัสสนะว่า ฉาตกภัยเกิดขึ้นทั่วชมพูทวีป จะหาคนตักบาตรพระก็ยากเหลือเกิน ถ้าจะมีก็เห็นแต่ครอบครัวของท่านเศรษฐี ซึ่งมีเพียงอาหารมื้อสุดท้ายเท่านั้น

ท่านตรวจดูต่อไปอีก เห็นคนทั้ง ๕ ที่กำลังถูกความหิวครอบงำ เข้ามาในข่ายพระญาณ พอตรวจดูให้แน่ชัดก็ทราบว่า ผู้มีบุญทั้ง ๕ ท่านนี้ เป็นผู้มีศรัทธา รักบุญยิ่งกว่าชีวิต

รู้จักวิธีการเตรียมเสบียงบุญเพื่อเดินทางไกลข้ามชาติให้กับตนเอง จึงถือบาตรเหาะไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของท่านเศรษฐี

ท่านเศรษฐีกำลังประสบความหิวอย่างหนัก เพราะฉาตกภัยเกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ภรรยาได้หุงข้าวมื้อสุดท้าย

เพื่อยืดชีวิตของคนในครอบครัวออกไป และในขณะที่กำลังจะรับประทานอาหารเช้านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตอยู่หน้าบ้าน

หลังจากที่ท่านได้เข้าสมาบัติอยู่ ๗ วัน ซึ่งตามธรรมดาของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เข้านิโรธสมาบัตินานถึง ๗ วัน

โดยไม่ได้ฉันภัตตาหารเลยนั้น เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติก็ต้องมีความหิวกระหายมากเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป

ท่านสามารถยับยั้งไว้ได้ด้วยอำนาจของมหาสมาบัติ แต่ถ้าไม่ได้ฉันในวันที่ ๗ ก็ต้องดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน

เพราะขันธ์ ๕ ไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป
     ท่านเศรษฐีพอเห็นพระมาโปรดที่บ้าน
เกิดมีจิตเลื่อมใส ท่านสอนตัวเองว่า

“ที่เราต้องประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ เพราะเราไม่ได้ให้ทานในกาลก่อน

อาหารมื้อนี้รักษาเราไว้ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น

ส่วนภัตที่เราถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า จะนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราหลายโกฏิกัป

เราอย่าได้เห็นแก่ประโยชน์ตนเฉพาะแต่เพียงในชาตินี้เลย

ด้วยจิตเลื่อมใสที่เราจะได้ถวายอาหารมื้อสุดท้ายแก่พระคุณเจ้านี้ ขอให้ภพชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราต้องอดอยากเถิด”

 เมื่อตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดแล้ว จึงน้อมนำถาดภัตนั้นออกมา เดินเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า

กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เข้าไปในบ้าน เมื่อท่านนั่งบนอาสนะแล้ว

จึงค่อยๆ เกลี่ยภัตในจานข้าวลงไปในบาตร เมื่อภัตเหลือครึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เอามือปิดบาตรไว้ เศรษฐีอยากได้บุญใหญ่ จึงกราบเรียนท่านว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภัตตาหารนี้เพียงพอ
เฉพาะคนๆ เดียวเท่านั้น ขอท่านจงอย่าสงเคราะห์กระผมในโลกนี้เลย กระผมใคร่ที่จะถวายไม่ให้มีส่วนเหลือ”

จากนั้นได้ถวายภัตทั้งหมดลงในบาตร
ครั้นถวายอาหารมื้อสุดท้ายด้วยใจที่เลื่อมใสแล้ว จึงตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าอย่าได้ประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ ในที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดอีกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไป

ข้าพเจ้าพึงสามารถเพื่อจะให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปได้ทั้งหมด

ข้าพเจ้าไม่พึงงานเลี้ยงชีพด้วยมือของตนเอง

ในขณะที่ข้าพเจ้าใช้ให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง และชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว นั่งอยู่ที่ประตูฉางเหล่านั้น

มองดูในเบื้องบนเท่านั้น ธารแห่งข้าวสาลีแดง พึงตกลงมาในฉางทั้งหมดให้เต็ม และผู้นี้จงเป็นภรรยา

ผู้นี้จงเป็นบุตร ผู้นี้จงเป็นหญิงสะใภ้ และผู้นี้จงเป็นทาสของข้าพเจ้า ในสถานที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดแล้วเถิด”


รออ่านต่อนะคะ

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ