ประวัติเมณฑกเศรษฐี

ประวัติเมณฑกเศรษฐี
ชาติหนึ่งเมณฑกเศรษฐีได้เกิดเป็นบุตรของมหาเศรษฐีผู้มีโภคทรัพย์สมบัติมากอีกเหมือนเดิม พอเติบโตขึ้นก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งเศรษฐีประจำเมืองต่อจากบิดามีนามว่า พาราณสีเศรษฐี  

วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชาและได้พบกับท่านปุโรหิต จึงกล่าวสนทนาตามประสาคนรู้จักกัน จากนั้นได้ถามถึงเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ปุโรหิตซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการดูฤกษ์ยาม หลังคำนวณดูดวงแล้วกล่าวว่า จากนี้ไป ๓ ปี  

ฉาตกภัย คือภัยที่เกิดจากความแห้งแล้งจะเกิดขึ้น ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกษตรกรจะไม่สามารถทำไร่ไถนา หรือทำสวนได้เหมือนเดิม 

ชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว พวกสัตว์เลี้ยงจะล้มตายเพราะขาดน้ำและอาหาร ขอให้ท่านเศรษฐีเตรียมตัวรับภัยแล้งครั้งใหญ่นี้เถิด 
ถ้าจะโยกย้ายครอบครัวก็ให้ย้ายกันแต่เนิ่นๆ

เศรษฐีฟังคำทำนายแล้ว ก็ไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจอะไร อีกทั้งไม่คิดจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เพราะท่านมีข้าทาสบริวารมาก การโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก 

แต่เพื่อความไม่ประมาท ท่านเศรษฐีได้สั่งให้ข้าทาสบริวารทำนาปลูกข้าวเพื่อกักตุนข้าวเปลือกไว้เป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ยังซื้อข้าวเปลือกบรรจุจนเต็มฉางทั้ง ๑,๒๕๐ ฉาง 

ครั้นเมื่อฉางไม่พอที่จะใส่ข้าวเปลือก ก็ให้บรรจุในภาชนะต่างๆ ด้วย ตั้งแต่ ตุ่ม ไห หม้อ เป็นต้นจนเต็ม 

แล้วขุดหลุมฝังในดินอีกเป็นจำนวนมาก 
และยังให้ขยำข้าวเปลือกที่เหลือกับดินเหนียวแล้วฉาบทาฝาผนังไว้

สมัยต่อมา คำทำนายของปุโรหิตก็กลายเป็นจริง เมื่อภัยคือ ความอดอยากบังเกิดขึ้น และเนื่องจากเศรษฐีมีการเตรียมตัวรับภัยไว้เป็นอย่างดี 

ในช่วงแรกๆ จึงไม่ลำบากอะไร แต่เมื่อฉาตกภัยได้ขยายเวลาออกไปเป็นเวลานานขึ้น ก็จำต้องบริโภคข้าวเปลือกที่เก็บไว้ เมื่อข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในฉาง และในภาชนะต่างๆ หมด 

จึงเรียกข้าทาสบริวารทั้งหมดให้มาประชุมพร้อมกัน เมื่อข้าทาสบริวารมาพร้อมแล้วจึงกล่าวว่า

 “พวกท่านปรารถนาจะไปหลบภัยอันร้ายกาจนี้ที่ภูเขาหรือที่ไหน ก็ให้ไปได้ ใครจะเข้าป่าหาผลหมากรากไม้กินเป็นอาหาร หรืออพยพไปอยู่ที่เมืองอื่น ก็เชิญไปตามความสมัครใจ เมื่อถึงเวลาข้าวปลาอาหารหาได้ง่ายแล้ว ใครอยากจะกลับมาอยู่กับเราอีก เราก็ยินดีต้อนรับ แต่ถ้าไปแล้วไม่อยากกลับมา จะตั้งรกรากที่นั่นเป็นการถาวร ก็แล้วแต่ความสะดวก เราขอกล่าวคำอำลาพวกท่าน ณ ที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเดินทางโดยสวัสดิภาพเถิด”

พวกข้าทาสบริวารฟังแล้ว ก็ซาบซึ้งในน้ำใจของเจ้านาย แม้จะเคารพเทิดทูนเจ้านายไม่อยากจากไป แต่เพื่อความอยู่รอดจึงต้องหอบหิ้วสัมภาระเดินทางไปอยู่ที่อื่นกันหมด

 คงเหลือแต่ทาสคนรับใช้ใกล้ชิดเพียงคนเดียว ที่รักเจ้านายยิ่งกว่าความตาย ทาสคนนี้ชื่อ ปุณณะ และที่เหลืออยู่ร่วมเป็นร่วมตายกับท่านเศรษฐีอีก ๓ ท่าน คือ ภรรยาของเศรษฐี ลูกชาย และลูกสะใภ้  

เมื่อความแห้งแล้งระบาดไปทุกหย่อมหญ้า พืชพันธุ์ธัญญาหารทุกอย่างล้มตายจนหมด  เศรษฐีจึงให้เอาข้าวเปลือกที่ฝังไว้ในหลุมมาหุงต้มกิน

 พอข้าวเปลือกในหลุมหมด ก็ให้พังดินที่เอาข้าวฉาบไว้ตามฝาผนังมาแช่น้ำ แบ่งกันรับประทาน พอยังอัตภาพให้เป็นไป ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าฝนฟ้าจะตกลงมา

ฝ่ายภรรยาของเศรษฐี เมื่อถูกความหิวครอบงำหนักเข้า ก็ไปเที่ยวเก็บเมล็ดข้าวเปลือก และข้าวสารที่ตัวเองทำตกหล่นไว้ตามที่ต่างๆ รวบรวมข้าวสาร ได้ประมาณทะนานหนึ่ง แล้วนำไปฝังไว้ใต้ดิน ข้าวมื้อนี้เป็นมื้อสุดท้าย เมื่อท่านเศรษฐีถามว่า

 “นางผู้เจริญ ฉันหิวเหลือเกิน มีข้าวเหลืออยู่บ้างไหม” 
ภรรยาตอบว่า
 “ยังพอมีข้าวสารอีกทะนานหนึ่ง ตอนนี้ฉันฝังไว้ใต้ดิน” 
เศรษฐีจึงบอกให้นางไปขุดมาหุงต้มกินภรรยาเศรษฐีหุงข้าวสวยเสร็จแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน 

คดข้าวสวยส่วนหนึ่งวางไว้ข้างหน้าของเศรษฐี อีก ๔ ส่วนก็เป็นของลูกชาย ลูกสะใภ้ ทาสคนสนิท และของตัวเอง ทุกคนรู้ว่านี่เป็นอาหารมื้อสุดท้าย จากนั้นก็ต้องอดอยากหิวตายอย่างแน่นอน จึงไม่เร่งรีบลงมือรับประทาน 

ในขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ตั้งใจจะออกไปบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ 

ท่านรู้ด้วยญาณทัสสนะว่า ฉาตกภัยเกิดขึ้นทั่วชมพูทวีป จะหาคนตักบาตรพระก็ยากเหลือเกิน ถ้าจะมีก็เห็นแต่ครอบครัวของท่านเศรษฐี ซึ่งมีเพียงอาหารมื้อสุดท้ายเท่านั้น 

ท่านตรวจดูต่อไปอีก เห็นคนทั้ง ๕ ที่กำลังถูกความหิวครอบงำ เข้ามาในข่ายพระญาณ พอตรวจดูให้แน่ชัดก็ทราบว่า ผู้มีบุญทั้ง ๕ ท่านนี้ 

เป็นผู้มีศรัทธา รักบุญยิ่งกว่าชีวิต รู้จักวิธีการเตรียมเสบียงบุญเพื่อเดินทางไกลข้ามชาติให้กับตนเอง จึงถือบาตรเหาะไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของท่านเศรษฐี

ท่านเศรษฐีกำลังประสบความหิวอย่างหนัก เพราะฉาตกภัยเกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ภรรยาได้หุงข้าวมื้อสุดท้าย เพื่อยืดชีวิตของคนในครอบครัวออกไป และในขณะที่กำลังจะรับประทานอาหารเช้านั้น 

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตอยู่หน้าบ้าน หลังจากที่ท่านได้เข้าสมาบัติอยู่ ๗ วัน ซึ่งตามธรรมดาของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เข้านิโรธสมาบัตินานถึง ๗ วัน 

โดยไม่ได้ฉันภัตตาหารเลยนั้น เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติก็ต้องมีความหิวกระหายมากเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป 

แต่ท่านสามารถยับยั้งไว้ได้ด้วยอำนาจของมหาสมาบัติ แต่ถ้าไม่ได้ฉันในวันที่ ๗ ก็ต้องดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน เพราะขันธ์ ๕ ไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป

 ท่านเศรษฐีพอเห็นพระมาโปรดที่บ้าน เกิดมีจิตเลื่อมใส ท่านสอนตัวเองว่า

 “ที่เราต้องประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ เพราะเราไม่ได้ให้ทานในกาลก่อน อาหารมื้อนี้รักษาเราไว้ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนภัตที่เราถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า จะนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราหลายโกฏิกัป เราอย่าได้เห็นแก่ประโยชน์ตนเฉพาะแต่เพียงในชาตินี้เลย ด้วยจิตเลื่อมใสที่เราจะได้ถวายอาหารมื้อสุดท้ายแก่พระคุณเจ้านี้ ขอให้ภพชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราต้องอดอยากเถิด”

เมื่อตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดแล้ว จึงน้อมนำถาดภัตนั้นออกมา เดินเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เข้าไปในบ้าน เมื่อท่านนั่งบนอาสนะแล้ว จึงค่อยๆ เกลี่ยภัตในจานข้าวลงไปในบาตร เมื่อภัตเหลือครึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เอามือปิดบาตรไว้ เศรษฐีอยากได้บุญใหญ่ จึงกราบเรียนท่านว่า 

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภัตตาหารนี้เพียงพอเฉพาะคนๆ เดียวเท่านั้น ขอท่านจงอย่าสงเคราะห์กระผมในโลกนี้เลย กระผมใคร่ที่จะถวายไม่ให้มีส่วนเหลือ” จากนั้นได้ถวายภัตทั้งหมดลงในบาตร

ครั้นถวายอาหารมื้อสุดท้ายด้วยใจที่เลื่อมใสแล้ว จึงตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า

 “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าอย่าได้ประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ ในที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดอีกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าพึงสามารถเพื่อจะให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปได้ทั้งหมด 

ข้าพเจ้าไม่พึงงานเลี้ยงชีพด้วยมือของตนเอง ในขณะที่ข้าพเจ้าใช้ให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง และชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว นั่งอยู่ที่ประตูฉางเหล่านั้น มองดูในเบื้องบนเท่านั้น 

ธารแห่งข้าวสาลีแดง พึงตกลงมาในฉางทั้งหมดให้เต็ม และผู้นี้จงเป็นภรรยา ผู้นี้จงเป็นบุตร ผู้นี้จงเป็นหญิงสะใภ้ และผู้นี้จงเป็นทาสของข้าพเจ้า ในสถานที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดแล้วเถิด”

     ฝ่ายภรรยาของท่านเศรษฐี คิดว่า 

“เมื่อสามีของเราไม่ได้รับประทาน เราก็ไม่อาจจะรับประทานได้” 
จึงถวายส่วนของตัวเองแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า

 “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตั้งแต่บัดนี้ไป ขอดิฉันอย่าพึงประสบกับฉาตกภัยเห็นปานนี้อีกเลย อนึ่ง เมื่อดิฉันวางถาดภัตไว้ข้างหน้า ให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหมด 

ตราบใดที่ดิฉันยังไม่ลุกขึ้น ขอภัตที่ดิฉันตักแล้ว จงเต็มบริบูรณ์ดุจเดิมตราบนั้น เกิดกี่ภพกี่ชาติ ท่านผู้นี้ จงเป็นสามี ผู้นี้จงเป็นบุตร ผู้นี้จงเป็นหญิงสะใภ้ และผู้นี้จงเป็นทาสของดิฉัน”

     ลูกชายเศรษฐี พอเห็นพ่อแม่ทำเป็นต้นแบบอย่างนั้น ก็เกิดกำลังใจอยากทำความดีตาม ซึ่งในใจก็มีความเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่แล้ว จึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 

จากนั้นก็ตั้งความปรารถนาเหมือนที่พ่อแม่อธิษฐาน จะแปลกกันอยู่ตรงที่ว่า 

“เมื่อข้าพเจ้าถือถุงกหาปณะหนึ่งพัน แม้ให้กหาปณะแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นอยู่ ขอถุงนี้จงเต็มอยู่อย่างเดิม”

     ฝ่ายลูกสะใภ้ของเศรษฐี ก็ได้ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกัน และตั้งความปรารถนาว่า 

“เมื่อดิฉันตั้งกระบุงข้าวเปลือกกระบุงหนึ่งไว้ข้างหน้า แม้ให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ความหมดสิ้นไปอย่าได้ปรากฏ จนกว่าดิฉันจะเลิกให้”   

     แม้ทาสของเศรษฐีก็มีใจใหญ่ ยอมที่จะอดตายเหมือนเช่นกับเจ้านาย แต่จักไม่ยอมให้พระท่านต้องอดฉัน จึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 

จากนั้นจึงตั้งความปรารถนาที่จะขออยู่กับเจ้านายไปทุกภพทุกชาติ และอธิษฐานจิตว่า

 “เมื่อข้าพเจ้าไถนา ขอให้สามารถไถได้เร็วเป็นพิเศษ คือ รอย ๗ รอยประมาณเท่าเรือโกลน ซ้าย-ขวาด้านละ ๓ รอย และตรงกลางอีก ๑ รอย จงบังเกิดขึ้น”

ทุกความปรารถนาที่ผู้มีบุญทั้งห้าเกิดขึ้นทันทีที่จบคำอธิฐาน
———————————-
ทานที่ถวายได้มาโดยบริสุทธิ์
ผู้รับเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด
ย่อมเกิดอานิสงค์
ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้นเป็นอัศจรรย์

ผู้มีปัญญาย่อมคบหาสัตบุรุษ
ผู้มีปัญญาย่อมคบหาบัณฑิต
ผู้มีปัญญาย่อมเห็นประโยชน์ในความบริสุทธิ์หมดจด

ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ