คันธเศรษฐี ผู้รับจ้าง ๓ ปีเพื่ออาหารถาดเดียว

คันธเศรษฐี ผู้รับจ้าง ๓ ปีเพื่ออาหารถาดเดียว

ในอดีตกาล มีบุตรของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ซื่อว่าคันธกุมาร เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ได้รับมรดกเป็นเศรษฐีแทนบิดา มีนามว่าคันธเศรษฐี วันหนึ่งผู้รักษาคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดประตูห้องเก็บทรัพย์ ขนออกมาแล้วชี้แจงว่า 

นาย ทรัพย์ของบิดาท่านมีจำนวนเท่านี้ ทรัพย์ของปู่ย่าเป็นต้น มีจำนวนเท่านี้ เศรษฐีดูกองทรัพย์นั้นแล้วพูดว่า ทำไมบรรพบุรุษเหล่านั้นจึงมิได้ถือเอาทรัพย์เหล่านี้ไปด้วย 

ผู้รักษาคลังตอบว่า นาย ใคร ๆ ก็ตามเวลาตายจะถือเอาทรัพย์ไปด้วยไม่มีเลย แท้ที่จริงคนทั้งหลาย พาเอาแต่กุศลอกุศลที่ตนทำไว้เท่านั้นไป
เศรษฐีนั้น จึงคิดว่าบรรพบุรุษเหล่านั้น พากันสะสมทรัพย์ไว้มากมายแล้วก็ละทิ้งไปเสีย ไม่ขนเอาไปด้วย เพราะตนเป็นคนโง่ 

เราจักต้องขนทรัพย์เอาไปด้วย ไม่เคยคิดที่จะทำบุญทำทานเลยคิดแต่จะใช้ทรัพย์ให้หมดไปฝ่ายเดียว 

ดังนั้น เขาจึงได้สละทรัพย์เป็นจำนวนมากมายสร้างซุ้มอาบน้ำบ้าง ทำบัลลังก์สำหรับที่นั่งบ้าง ทำถาดใส่อาหารบ้าง ได้ทำมณฑปในที่บริโภคบ้าง ทำเตียงรองถาดบ้าง สร้างสีหบัญชรบ้าง 

จ่ายเพื่ออาหารเช้าเย็นบ้าง เฉพาะในวันเพ็ญจายค่าอาหารแสนหนึ่งค่าตกแต่งพระนครอีกแสนหนึ่ง ได้ให้คนเที่ยวโฆษณาประกาศไปทั่วเมืองว่า 

“ขอให้มหาชน จงพากันมาดูท่าทางแห่งการบริโภคภัตรของคันธเศรษฐี”  

มหาชนได้พากันหลั่งไหลมาดูอย่างมากมาย
ฝ่ายคันธเศรษฐีอาบน้ำเล้ว นั่งบนบัลลังก์บริโภคโภชนะมีหญิงฟ้อนแวดล้อมอยู่เป็นบริวาร

มีคนบ้านนอกคนหนึ่ง บรรทุกฟืนไปขาย เมื่อถึงพระนครแล้ว พักอยู่ในเรือนของเพื่อน เพื่อนชวนไปดูการบริโภคโภชนะของเศรษฐี 

พอได้สูดกลิ่นภัตรทำนั้น ก็เกิดความกระหายในภัตรนั้นเป็นกำลังจนถึงกับว่า ถ้าไม่ได้บริโภคภัตรเช่นนั้น เขาจักไม่มีชีวิตเป็นอยู่ได้เลย เขาจักต้องตายเเน่

สหายชาวเมืองจึงเปล่งเสียงดัง รัองขอภัตรให้เพื่อนถึง ๓ ครั้ง ว่า นาย ชายคนนี้เกิดความกระหายในก้อนภัตรของท่าน ขอท่านกรุณาให้เขาสักก้อนหนึ่งเถิด

เศรษฐีตอบว่า ฉันเปล่าไม่ได้เพราะราคาแพง ถ้าใครต้องการ ต้องรับจ้างทำงานให้ครบ ๓ ปีบริบูรณ์จึงจะได้ พอชายบ้านนอกคนนั้นได้ยินคำพูดของเศรษฐีเช่นนั้น จึงตัดสินใจในทันที 

ยอมจากบุตรภรรยาสุดที่รักของตนไปรับจ้างกับเศรษฐี เพื่อต้องการภัตรเพียงถาดเดียว เขาเป็นคนขยันมาก ทำการงานทุกอย่างที่ควรทำทั้งในบ้านในป่า ทั้งกลางวันกลางคืน มหาชนเรียกเขาว่า นายภัตตภติกะ แปลว่า 
ผู้รับจ้างเอาภัตร 

เมื่อเธอได้รับจ้างทำงานครบ ๓ ปีบริบูรณ์แล้ว ท่านเศรษฐีได้สั่งจ่ายทรัพย์ ๓ พัน สั่งคนใช้ทุกๆคน ให้ทำการบริการทุกอย่างแก่ชายนั้นดุจที่เคยทำให้แก่ตน 

ยกเว้นไว้แต่ภรรยาสุดที่รักของท่านเศรษฐี ชื่อ จินดามณี เพียงคนเดียวเท่านั้น มอบสมบัติทุกๆ อย่างให้แก่เขา

เขานั่งที่ท่านเศรษฐี อาบน้ำห้องท่านเศรษฐี นุ่งผ้าของท่านเศรษฐี นั่งบัลลังก์ของท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีให้คนเที่ยวตีกองโฆษณาประกาศว่า

 “นายภัตตภติกะทำการรับจ้างมาครบ ๓ ปี ในเรือนของคันธเศรษฐี ได้ถาดภัตรถาดหนึ่ง ขอชนทั้งหลายจงดูสมบัติแห่งการบริโภคของเขา” 

ดังนี้ มหาชนก็พากันแตกตื่นมาดูกันเป็นจำนวนมากาย มีคนฟ้อนยืนฟ้อนอยู่โดยรอบ

ในเวลาเขาล้างมือ พระปัจเจกพุทธเจ้าองศ์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ห่มจีวรถือบาตร เหาะไปโดยทางอากาศแล้ว   ไปยืนอยู่ข้างหน้าเขา  พอเขาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็คิดว่า

 “เราไปทำการรับจ้างในเรือนของคนอื่นถึง ๓ ปี ก็เพื่อต้องการภัตรเพียงถาดเดียว เพราะเราไม่ได้ทำบุญทำทานไว้ในปางก่อนจึงต้องลำบากอย่างนี้ ภัตรนี้พึงรักษาเราเพียงวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้นถ้าเราได้ถวายทานภัตรนี้จักรักษาตั้งพันโกฏิกัปทีเดียว 

ดังนั้นเขาจึงได้ไหว้ด้วยองค์ ๕ แล้วถวาย พระปัจเจกทั้งหมด ตั้งความปรารถนาไว้ว่า

ท่านขอรับ ผมอาศัยถาดภัตรถาดเดียว ต้องทำการรับจ้างในเรือนคนอื่นถึง ๓ ปี ได้เสวยทุกข์แล้ว  บัดนี้ขอความสุขจงมีแก่กระผมในที่ที่บังเกิดแล้ว ขอกระผมพึงมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าให้พรว่า

 “ขอจงสมความปรารถนา เหมือนแก้วสารพัดนึกและขอความดำริทุกอย่าง จงบริบูรณ์แก่ท่าน เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ ฉะนั้น” 

แล้วจึงกล่าวอนุโมทนาว่า

“อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ชิปฺปเมว  สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา   จนฺโท ปณฺณรโส ยถา”

“สิ่งที่ท่านมุ่งมาตรปรารถนา จงพลันสำเร็จความดำริทั้งปวงจงเต็ม เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญและจงเต็มเหมือนแก้วมณีโชติ ฉะนั้น”

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ไปสู่เขาคันธมาสน์แล้ว แบ่งถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าอีก ๕๐๐ องค์ มหาชนต่างก็พากันอนุโมทนาสาธุการอย่างกึกก้อง ประหนึ่งว่าเสียงอสนีบาต 

คันธเศรษฐีได้ยินเสียงนั้น ทราบเรื่องแล้วมีสรีระเต็มไปด้วยปีติ มีวรรณ ๕ จึงขอแบ่งส่วนบุญ และเศรษฐีได้แบ่งทรัพย์สมบัติของตนทั้งหมด ให้แก่นายภัตตภติกะนั้นอีก

ทานจะมีผลทันตา คือผู้ให้ทานจะเป็นเศรษฐีภายในวันนั้น เพราะเหตุ ๔ ประการคือ

๑. ผู้รับเป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

๒. ปัจจัย ๔ ที่เป็นวัตถุทาน ได้มาโดยชอบธรรม

๓. เจตนาบริบูรณ์ดีทั้ง ๓ กาลคือ ก่อนจะให้มีใจยินดี  ขณะกำลังให้มีใจยินดี ให้แล้วมีความยินดีไม่เสียดาย

๔.  ผู้รับเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ

ในกาลต่อมา พระราชารับสั่งให้เรียกเข้ามาเฝ้า พระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง ทรงรับส่วนบุญ พระราชทานโภคะเป็นอันมาก และพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ มีชื่อว่า ภัตตภติกเศรษฐี ได้เป็นสหายกับคันธเศรษฐี 

จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดใน      เทวโลกในพุทธปบาทนี้ ได้ถือปฏิสนธิในตระกูลอุปฐากของพระสารีบุตร 
ในเมืองสาวัตถี จำเดิมแต่เด็กนั้นถือปฏิสนธิ ขึ้นชื่อว่าทุกข์ไม่เคยมีแก่ใครในเรือนนั้น เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงตั้งชื่อให้ว่า สุขกุมาร

เมื่ออายุได้ ๗  ขวบ ขอลาพ่อแม่ออกบวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ พ่อแม่ประชุมญาติเตรียมเครื่องบวช เครื่องสักการะบูชา 

พาลูกไปมอบถวายเป็นศิษย์แก่พระเถระ พระเถระโกนผมให้โอวาทให้กรรมฐานแล้ว ให้บวชเป็นสามเณรน้อย พ่อแม่ได้ทำบุญฉลองบวช ๗ วัน นิมนต์พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร ถวายสักการะเป็นอันมากตลอด ๗ วัน 

ในวันที่ ๘ พระสารีบุตรพาสามเณรน้อยเข้าไปบิณฑบาต ในระหว่างทางสามเณรได้เห็นเหมืองน้ำเรียนถามพระอุปัชฌาย์ว่า นั่นอะไรขอรับ? 
เหมืองน้ำ สามเณร ฯ 
น้ำมีใจไหม ขอรับ ? 
ไม่มีดอกสามเณร ฯ 

สามเณรได้ฟังเช่นนั้น จึงคิดว่า 
น้ำไม่มีใจคนยังไขไปทางไหนก็ได้ 
เรามีใจทำไมจึงจะฝึกตนไม่ได้ 

เดินทางต่อไปอีก ก็ได้พบช่างดัดลูกศร ไปพบช่างถากไม้ แล้วเรียนถามพระอุปัชฌาย์โดยทำนองนั้นอีก สามเณรถวายบาตรจีวรแต่พระอุปัชฌาย์ 

ขอลาไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่กุฏิในวัด พระอุปัชฌาย์ก็อนุญาตตามความประสงค์

สามเณรสุขก็กลับไปวัด ไขกุญแจเข้าไปในห้องของพระอุปัชฌาย์แล้ว เดินจงกรม นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ จนเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาโดยลำดับ ๆ 

นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณเป็นดันไป จนกระทั่งถึงมรรคญาณ      ผลญาณ ปัจจเวกขณะญาณ เป็นปริโยสาน 

ไม่ช้าไม่นานสามเณรสุขก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และเป็นพระอนาคามี กำลังเร่งจะให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ให้ได้

ในขณะที่สามเณรกำลังเจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ท้าวสักกะ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จันทรเทพบุตร สุริยเทพบุตร ต้องเสด็จไปคอยพิทักษ์รักษาโดยรอบ ไล่นกต่าง ๆ ที่มีเสียงเป็นโทษให้หนีไป 

แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็เสด็จไปจากพระคันธกุฎี ไปเพื่อแสดงธรรมโปรดสุขสามเณร

พระสารีบุตรเถระ นำอาหารบิณฑบาตมาเพื่อถวายสามเณรน้อย พระพุทธองค์ จึงได้ทรงเรียก พระเถระมาตรัสว่า    

สารีบุตร เธอได้อะไรมา ?
ได้อาหาร พระพุทธเจ้าข้า ฯ 

อาหารนำอะไรมา ? 
นำเวทนามา พระพุทธเจ้าข้า ฯ 

เวทนา นำอะไรมา ฯ 
นำรูปมา พระพุทธเจ้าช้า ฯ 

รูปนำอะไรมา ฯ 
นำผัสสะมา พระพุทธเจ้าข้า ฯ  

เมื่อพระสารีบุตรแก้ปัญหาจบ 
สามเณรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 
องค์สมเด็จพระจอมธรรม์ จึงได้รับสั่งให้นำภัตรไปให้. 

สามเณรเปิดประตูออกไหว้พระอุปัชฌาย์รับบาตรแล้วนั่งพัดท่านอยู่ ท่านบอกให้สามเณรไปฉันเพล สามเณรก็พิจารณาแล้วฉัน 

ฉันเสร็จล้างบาตรเก็บบาตร ทำวัตรต่อไป

 พอถึงเวลาเย็นพวกภิกษุสนทนากันถึงเรื่องสุขสามเณรผู้มีบุญมาก 

สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกฺขเว เอวเมน โหติ” ดังนี้ เป็นต้นความว่า

 “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเวลาทำสมณธรรมของผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นเช่นนั้น ในวันนี้ ท้าวมหาราช ๔ องค์ 
ยึดอารักขาไว้โดยรอบ พระจันทร์พระอาทิตย์ ได้ยึดวิมานหยุดอยู่ 
ท้าวสักกะทรงยึดอารักขาที่สายยู 
แม้เราเองก็ไปแสดงธรรมโปรดเช่นกัน 

วันนี้ สามเณรสุขเห็นคนไขน้ำเข้าเหมือง เห็นช่างศรดัดลูกศรให้ตรง เห็นช่างถากถากทัพพสัมภาระทั้งหลาย ฝึกตนจนได้บรรลุพระอรหัตต์ ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า 
อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตุติกา
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ
ทารํ นมยนฺติ ตจฺฉกา
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา”
คนไขน้ำทั้งหลาย 
ย่อมไขน้ำไปสู่เหมือง 
ช่างศร ย่อมดัดศร 
ช่างถากทั้งหลาย ย่อมถากไม้
ผู้สอนง่ายย่อมฝึกตน

————————————————
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ