ความประมาท

ความประมาท

ณ ธรรมสภา วัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า พระสารีบุตรเป็นที่พึ่งของปริพพาชิกาทั้ง ๔ คน

พระศาสดาเสด็จมาทรงทราบเรื่องตรัสว่า เมื่อก่อนสารีบุตรก็เคยเป็นที่พึ่งของนางทั้ง ๔ นี้แล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องในอดีตมาดังนี้

ในอดีตกาล พระเจ้ากาลิงคะ ครองราชย์สมบัติในนครทันตปุระ แคว้นกาลิงคะทรงสมบูรณ์ด้วยรี้พลพาหนะ มีกำลังกองทัพเข้มแข็งเกรียงไกร 

พระองค์เองก็มีกำลังปานคชสาร ทรงกระหายสงครามอยู่เสมอ เพราะทรงทะนงตนในกำลังของพระองค์ แต่ไม่มีใครต้องการเข้ายุทธสงครามด้วย

วันหนึ่ง พระเจ้ากาลิงคะ ประทับท่ามกลางอำมาตย์ราชมนตรี ตรัสปรึกษาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้เข้าสงครามกับพระราชาองค์ใดองค์หนึ่ง

อำมาตย์ราชมนตรีปรึกษากันมากแล้วกราบทูลว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง คือ พระราชธิดาของพระองค์ซึ่งทรงสิริโฉมงดงาม จะสามารถทำให้พระองค์บรรลุถึงเป้าหมายได้

“จะทำอย่างไร ?” พระเจ้ากาลิงคะตรัสถาม

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอให้พระราชาให้พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ประทับนั่งในยานเกียรติยศ แวดล้อมด้วยไพล่พล เที่ยวไปยังราชธานีต่างๆ

พร้อมประกาศว่า พระราชาพระองค์ใดรับพระราชธิดาไว้เป็นอัครมเหสี เราจักทำสงครามกับพระราชานั้นพระเจ้ากาลิงคะ ทรงเห็นด้วย รับสั่งให้ทำตามนั้น

ราชธานีที่พระนางเสด็จถึง พระราชาทั้งหลายเกรงภัยสงคราม จึงได้ส่งเครื่องราชบรรณาการออกไปถวายพระราชธิดานอกพระนคร 

พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากาลิงคะ เสด็จไปเกือบทั่วชมพูทวีปโดยทำนองนี้ จนกระทั่งได้บรรลุถึงโปตลนครในแคว้นอัสสกะ

พระเจ้าอัสสกะ ทรงมีอำมาตย์คนหนึ่งฉลาดมากชื่อนันทเสน นันทเสนคิดว่า ถ้าเราไม่เปิดประตูต้อนรับพระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคะ ก็ดูประหนึ่งว่า

ชมพูทวีปทั้งสิ้นจะว่างจากนักรบเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เราจักเปิดประตูรับพระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคะ ถวายพระเจ้าอัสสกะ แล้วจักทำสงครามกับกองทัพของพระเจ้ากาลิงคะนั้น

นันทเสนจัดแจงให้พระราชธิดา แห่งพระเจ้ากาลิงคะอภิเษกกับพระเจ้าอัสสกราชแล้วให้ราชบุรุษที่ตามพระนางกลับไปกราบทูลให้พระเจ้ากาลิงคะทรงทราบ

พระเจ้ากาลิงคะทรงทราบแล้ว ทรงพอพระทัยที่จะได้ทำสงครามสมพระราชประสงค์และทรงดำริว่า

“พระเจ้าอัสสกะชะรอยจักไม่ทรงทราบกำลังของเรา”

จึงเสด็จออกสงครามพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ด้วยความมั่นพระทัยอย่างยิ่งว่า จะต้องได้รับชัยชนะ

อำนาตย์นันทเสน ทราบข่าวว่ากองทัพของพระเจ้ากาลิงคะกำลังมา จึงให้คนนำพระราชสาส์นของพระเจ้าอัสสกะไปถวายความว่า ขอให้กองทัพของพระเจ้ากาลิงคะหยุดอยู่ปลายแดนของพระองค์เอง

อย่าล่วงล้ำเข้าไปในพระราชอาณาเขตของพระเจ้าอัสสกะ เราจักทำสงครามกันที่แดนต่อแดน ส่วนพระเจ้าอัสสกะ ก็ทรงยกกองทัพไปที่ปลายแดนแห่งพระราชอาณาเขตของพระองค์เหมือนกัน

ครั้งนั้น มีดาบสรูปหนึ่ง เป็นดาบสโพธิสัตว์ ปลูกอาศรมอยู่ระหว่างพระราชอาณาเขตแห่งกษัตริย์ทั้งสอง 

พระเจ้ากาลิงคะทรงดำริว่า ธรรมดาสมณะย่อมรู้เหตุการณ์อะไรล่วงหน้า เราควรเข้าไปถามถึงความมีชัยหรือปราชัยของเรา

จึงปลอมพระองค์เข้าไปหาดาบสนั้น ถามว่าพระเจ้าอัสสกะกับพระเจ้ากาลิงคะ ซึ่งกำลังจะทำสงครามกันนั้นฝ่ายใดจะแพ้ ฝ่ายใดจะชนะ ดาบสกล่าวว่า ตัวท่านเองไม่รู้ แต่ท้าวสักกะเทวราชมาหาท่านเสมอ

ท้าวสักกะคงจะรู้ จะถามท้าวสักกะให้ พรุ่งนี้ขอให้มาฟัง

วันรุ่งขึ้น เมื่อท้าวสักกะมาเยี่ยมดาบสอย่างเคย ดาบสได้ถามถึงสงครามระหว่างพระเจ้ากาลิงคะ กับพระเจ้าอัสสกะว่าฝ่ายไหนจะชนะ ท้าวสักกะตอบว่า พระเจ้ากาลิงคะจะชนะ 

พระเจ้ากาลิงคะมาหาดาบสตามที่นัดหมายไว้ ดาบสทูลว่าท้าวสักกะตรัสบอกว่า พระเจ้ากาลิงตะจักได้ชัยชนะ พระเจ้ากาลิงคะทรงสดับดังนั้น ดีพระทัย

ไม่ทรงสดับรายละเอียดรีบเสด็จกลับไป ตรัสบอกความนั้นแก่เสนาบดีนายทัพนายกองทั้งหลาย ข่าวนั้นแพร่สะพัดไป

รู้กันทั้งกองทัพในเวลาไม่นานทั้งพระเจ้ากาลิงคะและทหารฝ่ายพระองค์ จึงตั้งอยู่ในความประมาท ละความเพียรและความรอบคอบทั้งปวงเสีย

เรื่องการทำนายของท้าวสักกะ เป็นข่าวแพร่สะพัดไปถึงพระเจ้าอัสสกะด้วยเหมือนกัน พระเจ้าอัสสกะจึงรับสั่งให้นันทเสนอำมาตย์เข้าเฝ้า ทรงปรึกษาว่าจะทำประการใดดี

นันทเสนกราบทูลว่า อย่าได้ทรงวิตกเลย แม้พระอินทร์จะทรงทำนายว่าฝ่ายเราจะแพ้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะเอาชนะคำทำนายของพระอินทร์

ด้วยความเพียรพยายาม ทูลดังนี้แล้วจึงเข้าไปหาแม่ทัพนายกอง ปรึกษาเรื่องการศึกกันอยู่เป็นเวลานาน

นันทเสนอำมาตย์คิดถึงอุบายอย่างหนึ่งได้ จึงชวนนายทหารประมาณพันหนึ่งซึ่งเป็นสหายกับพระราชา พาขึ้นไปยังภูเขาลูกหนึ่ง แล้วถามว่าท่านทั้งหลายสามารถจะสละชีวิตถวายพระราชาได้หรือไม่

ทหารพวกนั้นตอบว่าได้ นันทเสนจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นขอท่านทั้งหลายจงกระโดดลงไปในเหวนี้ ทหารพวกนั้นทั้งหมดทำท่าจะกระโดดลงไปจริงๆ นันทเสนห้ามไว้ แล้วบอกว่า

ถ้าในการรบพวกท่านยอมพลีชีวิตเพื่อพระราชาของเราจริงๆ รบอย่างไม่ถอยพวกเรามีหวังชนะอย่างแน่นอน ดังนี้ แล้วพาทหารทั้งหมดลงมาจากภูเขา

เมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายประชิดกัน พระเจ้ากาลิงคะทรงดำริว่า  เราจักชนะสงครามตามคำทำนายอย่างแน่นอนจึงประมาท  มีความเพียรย่อหย่อน  

พลนิกายของพระองค์ก็เหมือนกัน. ละความเพียรเสีย เพราะคิดว่า พวกเราจะชนะไม่จัดการผูกสอดเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ แบ่งเป็นพวกเป็นเหล่า เที่ยวเตร่ตามใจชอบของตน

ส่วนกองทัพฝ่ายพระเจ้าอัสสกะรบอย่างระมัดระวัง รบอย่างพากเพียรยอมสละชีวิตเพื่อพระราชาไม่ถอยหลัง

ในที่สุดแห่งการรบ กองทัพอัสสกะเป็นฝ่ายชนะ พระเจ้ากาลิงคะหนีพลาง  ร้องด่าดาบสไปพลางว่าโกหก  หลอกลวง  ทำให้พวกเราฉิบหาย  ฝ่ายทางกองทัพของ

พระเจ้าอัสสกะก็เยาะเย้ยดาบสว่า เห็นจะรับสินบนมาเป็นแน่จึงทำนายว่าพระเจ้ากาลิงคะจักเป็นผู้ชนะ ผู้ประพฤติพรตพรหมจรรย์พูดเท็จได้ถึงเพียงนี้เที่ยวหรือ

ต่อมาอีก ๓ วัน ท้าวสักกเทวราช เสด็จมาสู่ที่บำรุงของดาบส

ดาบส ได้ถามท้าวสักกะว่า เทวดาทั้งหลายยังล่วงละเมิดประพฤติมุสาวาทอยู่หรือ ? คำใดที่พระองค์ตรัสบอกอาตมาเกี่ยวกับเรื่องสงคราม คำนั้นหาได้เป็นจริงไม่ ทำไมพระองค์จึงกล่าวเท็จเช่นนั้น

ท้าวสักกะ ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสว่า

“ท่านเคยได้ยินมิใช่หรือว่า แม้เทวดาก็กีดกันความบากบั่นพากเพียรของลูกผู้ชายไม่ได้  ความข่มใจ  ความแน่วแน่  ความมีฉันทะ  ความไม่แตกแยกกัน  ไม่เกี่ยงงอน  การรุกในคราวที่ควรรุก  ความกล้าหาญมั่นคง  และความบากบั่นอย่างลูกผู้ชาย เหล่านี้มีอยู่ในพวกของพระเจ้าอัสสกราช เพราะฉะนั้นชัยชนะจึงเป็นของพระเจ้าอัสสกะ”

รวมความว่า แม้เทวดาก็เอาชนะคนมีความเพียรไม่ได้ เพราะฉะนั้น เกิดเป็นคนควรใช้ความเพียรพยายามร่ำไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า.  

พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชในกาลนั้น  

   ได้เป็นภิกษุณีสาวเหล่านี้  ในบัดนี้  

อำมาตย์นันทเสนในครั้งนั้นได้เป็นพระสารีบุตรในบัดนี้
ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
………………………………………………………………………..
ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ