สันตติมหาอำมาตย์…

ประกาศตามวันเวลาในภาพ
ท่านสามารถร่วมทำวัตรสวดมนต์ฟังเทศน์
ถวายสังฆทานกับคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ในทิศทั้งสี่
ได้ทุกวันนะคะ
———————–

กาลครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับสั่งให้สันตติมหาอำมาตย์ไปปราบปรามโจรที่กำลังฮึกเฮิมอย่างหนัก
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงทราบว่ามหาอำมาตย์ปราบโจรได้อย่างราบคาบแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงพระราชทานทรัพย์สมบัติให้เป็นจำนวนมาก
รวมทั้งหญิงสาวที่เก่งในการร้องเพลงและฟ้อนรำนางหนึ่ง

สันตติมหาอำมาตย์ได้ดื่มเหล้าฉลองชัยชนะจนเมามายถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ในวันที่ เจ็ดเขาจัดแจงแต่งตัวด้วยอาภรณ์อย่างดี แล้วขี่ช้างตัวที่ดีที่สุดไปยังท่าอาบน้ำ
เมื่อไปถึงก็เห็นพระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เขาจึงผงกศีรษะถวายบังคมด้วยความเคารพ ในขณะที่นั่งอยู่บนคอช้างนั่นเอง

เมื่อพระศาสดาทรงเห็น จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแสดงกิริยาเช่นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า

“อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์ วันนี้เขาประดับด้วยอาภรณ์อย่างดี มาสู่สำนักเรา เขาจะบรรลุพระอรหัตเพียงเพราะไดัฟังธรรมเพียงนิดเดียว เท่านั้นเอง และจะปรินิพพานในอากาศ”

บรรดาชาวบ้านที่ได้ฟังคำของพระศาสดา บางพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิคิดว่า

“ท่านทั้งหลาย จงดูกิริยาของพระสมณโคดม พระองค์ย่อมพูดสักแต่ปากเท่านั้น ในวันนี้สันตติมหา-อำมาตย์นั้นเมาสุราอย่างหนัก จะได้ไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่ไหน พวกเราจักจับผิดพระสมณโคดมที่กล่าวมุสาวาท”

ส่วนพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิคิดกันว่า

“น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก ในวันนี้ เราทั้งหลาย จักได้ดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์”

ฝ่ายมหาอำมาตย์หลังลงเล่นน้ำตลอดทั้งวันที่ท่าอาบน้ำแล้ว จึงกลับไปสู่อุทยาน และไปนั่งในโรงดื่ม ขณะที่หญิงสาวที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้นั้น ก็ขึ้นไปยืนอยู่ที่กลางเวทีเตรียมจะฟ้อนรำให้มหาอำมาตย์ดู แต่พอเริ่มจะแสดง นางก็กลับมีลมพิษเกิดขึ้นในท้องอย่างหนัก ปากอ้า ตาเหลือก และในที่สุดก็ขาดใจตาย สาเหตุเพราะกินอาหารน้อยมาตลอด ๗ วัน เพื่อให้ร่างกายอ้อนแอ้นน่าชมนั่นเอง

เมื่อมหาอำมาตย์รู้ว่านางตายแล้ว เขาก็เกิดความเศร้าโศกอย่างแรงกล้าขึ้นมา กระทั่งส่างเมาทันที พิษของสุราที่ดื่มมาตลอด ๗ วัน ได้เสื่อมหายไป เขาคิดว่าคงไม่มีใครที่จะสามารถระงับความโศกเศร้าของเขาได้ เขาจึงไปขอเข้าเฝ้า พระศาสดาในตอนเย็นพร้อมกับบริวาร และกราบทูลถึงเหตุแห่งความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นกับตนและเหตุที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

ครั้นพระศาสดาได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงตรัสว่า
“ท่านมาหาเราผู้สามารถที่จะดับความโศกได้แน่นอน อันที่จริงน้ำตาที่ไหลออกของท่านผู้ร้องไห้ในเวลาที่หญิงนี้ตายด้วยเหตุอย่างนี้ มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔ ซะอีก” แล้วจึงตรัสพระคาถา ว่า

“กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจงยังกิเลสเครื่องกังวลนั้น ให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่เธอในภายหลัง ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป”

หลังจากพระองค์เทศน์จบ สันตติมหาอำมาตย์ก็บรรลุพระอรหัตผล แล้วพิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบว่าตัวเองจะหมดอายุขัยแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพานแก่ข้าพระองค์เถิด”

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “สันตติมหาอำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงเล่ากรรมที่เธอเคยทำไว้ในอดีตแก่เรา แต่ก่อนจะเล่า จงอย่ายืนบนพื้นดิน จงยืนบนอากาศชั่ว ๗ ลำตาล”

มหาอำมาตย์จึงถวายบังคมพระศาสดา จากนั้นก็ขึ้นไปสู่อากาศชั่วลำตาลหนึ่ง แล้วลงมาถวายบังคมพระศาสดาอีก และขึ้นไปนั่งโดยบังลังก์บนอากาศ ๗ ชั่วลำตาลแล้ว จึงเล่าบุรพกรรมของตนเองว่า

ในสมัยของพระพุทธเจ้าวิปัสสี ท่านได้คิดว่า อะไรหนอ เป็นกรรมที่ไม่ทำการตัดรอนหรือบีบคั้น ซึ่งชนเหล่าอื่น เมื่อใคร่ครวญอยู่ จึงเห็นกรรมคือการป่าวร้องในบุญทั้งหลายว่า
พวกท่านจงทำบุญ จงสมาทานอุโบสถในวันอุโบสถ จงถวายทาน จงฟังธรรม ชื่อว่า รัตนะอย่างอื่นเช่นกับพุทธรัตนะ เป็นต้น ไม่มี จงทำสักการะรัตนะทั้ง ๓ เถิด 

พระราชาได้พระราชทาน ม้า รถ และโภคะเป็นอันมาก เครื่องประดับใหญ่ ช้างเชือกหนึ่ง เพื่อให้สมควรแก่การทำกิจนี้ ท่านได้ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งบนคอช้าง ได้ทำกรรมของผู้ป่าวร้องธรรมสิ้นแปดหมื่นปี กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากตลอดกาล

ครั้นได้กราบทูลบุรพกรรมของตนแล้ว สันตติมหาอำมาตย์นั่งบนอากาศเข้าเตโชธาตุ ปรินิพพาน เปลวไฟเกิดขึ้นในสรีระไหม้เนื้อและโลหิต ธาตุทั้งหลายดุจดอกมะลิ ตกลงมาในผ้าขาวที่พระศาสดาทรงคลี่วางรับไว้ ได้ทรงบรรจุธาตุเหล่านั้นแล้ว รับสั่งให้สร้างสถูปไว้ที่ทางใหญ่ ๔ เเพร่ง ด้วยทรงประสงค์ว่า มหาชนไหว้แล้ว จักเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

ต่อมาเหล่าภิกษุได้สนทนากันว่า สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตในคราวที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ควรเรียกว่า สมณะ หรือ พราหมณ์

เมื่อพระศาสดาทรงทราบความจึงตรัสว่า การเรียกสมณะ ก็ควร เรียกว่า พราหมณ์ ก็ควรเหมือนกัน และทรงตรัสพระคาถาต่อไปว่า

แม้ถ้าบุคคลประดับแล้ว พึงประพฤติสม่ำเสมอเป็นผู้สงบ ฝึกแล้ว เที่ยงธรรม มีปกติประพฤติประเสริฐ วางเสียซึ่งอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก บุคคลนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
———————————
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ