รโหคตสูตร

รโหคตสูตร

[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจ เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาค ตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัส เวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัส พระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ ดังนี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้

ดูกรภิกษุเรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอา ความที่สังขารทั้งหลายนั่นเองไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละ มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา

[๓๙๒] ดูกรภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล
เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลาย โดยลำดับคือ

เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ

เมื่อเข้าทุติยฌานวิตกวิจาร ย่อมดับ

เมื่อเข้าตติยฌานปีติย่อมดับ

เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมหายใจเจ้า และลมหายใจออกย่อมดับ

เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ

เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ

เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ

เมื่อเข้าเนวสัญญานา สัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ

เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุ ผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๓๑
………………………..
สาธยายพระไตรปิฎกบ้านเพชรบำเพ็ญ
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ