..นายติณบาลผู้ยากจนร่วมบุญกฐิน…
ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายยากจนเข็ญใจผู้หนึ่งเขาจนแม้กระทั่งไม่มีชื่อจะเรียก ได้อาศัยรับใช้เกี่ยวหญ้าอยู่กับเศรษฐี เศรษฐีจึงตั้งใช้ให้ว่า “นายติณบาล”
อยู่มาวันหนึ่ง ติณณปาละมาคิดว่าตัวเรานี้ ในชาติปางก่อนคงจะไม่ได้ทำบุญกุศลอันใดไว้เลย มาถึงชาติ นี้เราจึงได้ลำบากยากแค้น แม้แต่อาหารจะรับประทานไปวันหนึ่งๆ ก็ทั้งยาก แต่นี้ต่อไปเราจะต้องขวนขวายให้ทานทุก ๆ วัน
เมื่อมีความตั้งใจอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งอาหารออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งไว้บริโภคเองทำอย่างนี้มาตลอดทุก ๆ วันมิได้ขาดด้วยอำนาจบุญกุศล ที่ติณณปาละทำนั้น
ก็ทราบไปถึงสิริธรรมเศรษฐีผู้เป็นนายจ้างจึงสั่งให้เพิ่มอาหารขึ้นอีกเป็น ๓ ส่วน ติณณปาละก็แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่งให้แก่ยาจก อีกส่วนตนเก็บไว้บริโภค ทำอยู่อย่างนี้เป็นลำดับมา
วันหนึ่งเศรษฐีต้องการทำบุญกฐิน จึงแจ้งข่าวให้บริวารได้ร่วมบุญ เมื่อนายติณบาลทราบก็เกิดศรัทธาอยากร่วมบุญกฐินกับท่านเศรษฐีด้วย เขารีบกลับไปสำรวจดูทรัพย์สิ่งของที่บ้านว่า มีอะไรที่พอจะทำทานบ้าง แต่ก็ว่างเปล่า
จึงตัดสินใจถอดเสื้อผ้าแล้วนำใบไม้มาเย็บติดกันนุ่งห่มแทน มุ้งหน้าเดินไปตลาดเพื่อนำเสื้อผ้าไปขาย แม้ในระหว่างทางจะถูกผู้คนหัวเราะเยาะ ล้อเลียนอย่างขบขัน เขาก็ไม่สะทกสะท้าน
นายติณบาลจึงชูมือขึ้นกล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจน ไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าเราจะนุ่งผ้าอันเป็นทิพย์” เราจะนุ่งใบไม้เป็นชาติสุดท้ายภพชาติต่อไปเราจะนุ่งแต่ผ้าทิพย์ นายติณบาลกล่าวอย่างนี้
เขาขายเสื้อผ้าให้พ่อค้าคนหนึ่งได้เงินมา 5 มาสก จึงปรึกษาท่านเศรษฐีว่า จะนำเงินนี้ทำอะไรดี เศรษฐีแนะนำให้ซื้อเข็มกับด้าย มาร่วมเป็นบริวารกฐิน เขาปิติใจมากที่มีโอกาสได้ร่วมบุญกับท่านเศรษฐี
เหตุการณ์นี้ร้อนถึงทิพยอาสน์ของท้าวสักกะเทวราช บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อส่องทิพย์เนตรดู เห็นการกระทำที่เกิดขึ้นได้ยากของนายติณบาล จึงมีศรัทธาเลื่อมใส มาปรากฎกายที่หน้าบ้านของนายติณบาล
ท้าวสักกะเทวราชกล่าวสรรเสริญการกระทำของนายติณบาลแล้ว ก็ให้เขาขอพรได้ 4 ประการ เขาจึงขอพรว่า
” ขออย่าให้กระผมได้ข่มเหงสตรีทั้งด้วยกาย วาจา ใจ ขออย่ามีความตระหนี่ในการทำทาน ขออย่าได้เป็นคนพาล ขอให้ได้ภรรยาดีมีศีลธรรม “
เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังพรของนายติณบาลแล้ว ก็เกิดความสงสัยว่า เหตุใดคนยากจนเช่นเขา จึงไม่ขอพรให้ตนมีทรัพย์สมบัติมากๆ เขาตอบว่า
” การได้เป็นคนดี มีคนรอบข้างเป็นคนดีก็นับว่ามีทรัพย์อันประเสริฐแล้ว “
เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังดังนั้น จึงอนุโมทนาและบันดาลให้พรทั้ง 4 ประการนั้นสำเร็จ
ข่าวการทำทานของนายติณบาลทราบถึงพระราชา จึงมีรับสั่งให้เรียกตัวเขามาตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว พระราชาจึงทรงขอแบ่งบุญจากเขา
และพระราชฐานทรัพย์ให้ พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นเศรษฐีในวันนั้นเอง
ในวันที่นายติณบาลใกล้จะละโลก เขาระลึกถึงบุญอันยิ่งใหญ่ที่ทำได้ยากนี้
โดยเฉพาะเป็นบุญกฐินที่ทอดถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คตินิมิตจึงใสสว่าง เมื่อละโลกแล้ว เหล่าบริวารเข้าแถวมารอรับอัญเชิญเทพบุตรใหม่ขึ้น
เทวรถ เพื่อกลับทิพยวิมานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติอันตระการ
มาจนถึงภพชาติสุดท้าย ได้เกิดเป็นชายในสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เขาออกบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหัตตผลในที่สุด ด้วยอำนาจบุญที่ได้กระทำมาดีแล้วนี้เอง
อานิสงส์ของกฐิน
“กฐินทาน “เป็นบุญพิเศษที่บังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกจำกัดด้วยกาลเวลาจึงมีอานิสงส์ใหญ่ดังนี้คือ
ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
ทำให้เป็นผู้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณน่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ
ทำให้บุคคลผู้นั้นแม้ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในโลกสวรรค์
——————————–
วันจันทร์ที่30ตุลาคม 2566 ทอดกฐินบ้านเพชรบำเพ็ญ
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ