คิลานสูตร

คิลานสูตร
ว่าด้วยอุบาสกป่วย
[๑๐๕๐]    สมัยหนึ่ง    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่    ณ    นิโครธาราม    เขตกรุงกบิลพัสดุ์    แคว้นสักกะ    สมัยนั้น    ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาค    ด้วยหวังว่า    “พระผู้มีพระภาคทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว    ล่วงไป    ๓    เดือนก็จักเสด็จจาริกไป”

           เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวอย่างนั้นเหมือนกัน    ลำดับนั้นท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ    ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง    ณ ที่สมควร             ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

           “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ    หม่อมฉันได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า    ‘ได้ทราบว่า    ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาค    ด้วยหวังว่า    ‘พระผู้มีพระภาคทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว    ล่วงไป    ๓    เดือนก็จักเสด็จจาริกไป’

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ    หม่อมฉันยังไม่ได้ทราบข่าว    ไม่ได้รับเรื่องนี้มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า    ‘อุบาสกผู้มีปัญญา (๑)    พึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญาซึ่งป่วย    ได้รับทุกข์    เป็นไข้หนัก”
“มหาบพิตร    อุบาสกผู้มีปัญญาพึงปลอบใจอุบาสกผู้มีปัญญาซึ่งป่วย    ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก    ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ    ๔    ประการว่า  ‘จงเบาใจเถิดท่านผู้มีอายุ    ท่าน

๑.    มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า    ‘แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น    ฯลฯ    เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย    เป็นพระพุทธเจ้า    เป็นพระผู้มีพระภาค’

๒.    มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม    ฯลฯ
๓.    มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์    ฯลฯ
๔.    มีศีลที่พระอริยะชอบใจ    ไม่ขาด    ฯลฯ    เป็นไปเพื่อสมาธิ’

มหาบพิตร    อุบาสกผู้มีปัญญาครั้นปลอบใจอุบาสกผู้มีปัญญาซึ่งป่วย    ได้รับทุกข์              เป็นไข้หนัก    ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ    ๔    ประการนี้แล้ว    พึงถามว่า‘ท่านยังมีความห่วงใยมารดาบิดาอยู่หรือ’    ถ้าเขาตอบว่า    ‘ผมยังมีความห่วงใยมารดาบิดาอยู่’    

อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า    ‘ท่านผู้นิรทุกข์    ผู้มีความตายเป็นธรรมดาถึงแม้ท่านจักทำความห่วงใยมารดาบิดาก็จักตายเหมือนกัน    ถึงแม้ท่านจะไม่ทำความห่วงใยมารดาบิดาก็จักตายเหมือนกัน              เอาเถิด    ขอท่านจงละความห่วงใยมารดาบิดาของท่านเสีย’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมละความห่วงใยมารดาบิดาของผมแล้ว’    

อุบาสกนั้นพึงถามเขาว่า    ‘ท่านยังมีความห่วงใยบุตรและภริยาอยู่หรือ’    ถ้าเขาตอบว่า    ‘ผมยังมีความห่วงใยบุตรและภริยาอยู่’    

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกับเขาว่า    ‘ท่านผู้นิรทุกข์    ผู้มีความตายเป็นธรรมดา    ถึงแม้ท่านจักทำความห่วงใยบุตรและภริยาก็จักตายเหมือนกัน    ถึงแม้ท่านจักไม่ทำความห่วงใยบุตรและภริยาก็จักตายเหมือนกัน    เอาเถิดขอท่านจงละความห่วงใยบุตรและภริยาของท่านเสีย’

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมละความห่วงใยบุตรและภริยาของผมแล้ว’    อุบาสกนั้นพึงถามเขาว่า    ‘ท่านยังมีความห่วงใยกามคุณ    ๕    อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ’    ถ้าเขาตอบว่า    ‘ผมยังมีความห่วงใยกามคุณ    ๕    อันเป็นของมนุษย์อยู่’    อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า

   ‘ท่าน กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่าและประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์เอาเถิด    ขอท่านจงพรากจิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว    น้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชเถิด’

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมพรากจิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว    ผมน้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว’    อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า    ‘ท่าน    หมู่เทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่าและประณีตกว่าหมู่เทพชั้นจาตุมหาราช    เอาเถิด    ขอท่านจงพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว    น้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด’

           ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว    ผมน้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์แล้ว’    อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า    ‘หมู่เทพชั้นยามายังดีกว่าและประณีตกว่า
หมู่เทพชั้นดาวดึงส์    ฯลฯ    
หมู่เทพชั้นดุสิต    ฯลฯ    
หมู่เทพชั้นนิมมานรดี    ฯลฯ    
หมู่เทพชั้นปรินิมมิตวสวัตดี    ฯลฯ    
พรหมโลกยังดีกว่าและประณีตกว่าหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี    เอาเถิด    ขอท่านจงพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว    น้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้วผมน้อมจิตไปในพรหมโลกแล้ว’    อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า    ‘ท่าน    แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน                    

นับเนื่องด้วยสักกายะ    เอาเถิด    ขอท่านจงพรากจิตออกจากพรหมโลกแล้วนำจิตเข้าไปในสักกายนิโรธ(ความดับกายของตน)เถิด’
           ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า    ‘ผมพรากจิตออกจากพรหมโลกแล้ว    ผมนำจิตเข้าไปในสักกายนิโรธอยู่แล้ว’
           มหาบพิตร    อุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ  อาตมภาพไม่กล่าวว่าแตกต่างอะไรกันเลย    คือ    หลุดพ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน”

พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย ๑) เล่มที่ ๑๙  ข้อ ๑๐๕๐  หน้า ๕๗๔
หมายเหตุ
(๑) อุบาสกผู้มีปัญญา  ในที่นี้หมายถึงอุบาสกที่เป็นโสดาบัน  (สํ.ม.อ.  ๓/๑๐๕๐/๓๗๓)

……………..
สาธยายพระไตรปิฎกวันที่ 3 กันยายน 2567
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ