กรรมเปรียบเหมือนผืนนา วิญญาณเปรียบเหมือนเมล็ดพืช

กรรมเปรียบเหมือนผืนนา
วิญญาณเปรียบเหมือนเมล็ดพืช

พระศาสดาทรงอุปมา
เมล็ดพืช เปรียบเหมือน วิญญาณ
ผืนนา เปรียบเหมือน ภพ
น้ำ เปรียบเหมือน นันทิ และ ราคะ

เมื่อเมล็ดพืชตกลงไปบนผืนนา เปรียบเหมือนวิญญาณเข้าไปตั้งอาศัยในภพ เมล็ดพืช ย่อมถึงความเจริญงอกงามได้ ด้วยน้ำ เปรียบเหมือนวิญญาณเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ได้ ด้วยความกำหนัด และ ความเพลิน

ส่วนอีกอุปมาหนึ่ง
เมล็ดพืช เปรียบเหมือน วิญญาณ
เนื้อนา เปรียบเหมือน กรรม
ยางในเมล็ดพืช เปรียบเหมือน ตัณหา

เมล็ดพืชตกลงไปบนเนื้อนา เปรียบได้กับวิญญาณตั้งอาศัยอยู่ในกรรม เมล็ดพืชถึง ความเจริญงามไพบูลย์ ได้ด้วยยางในเมล็ดพืช เปรียบเหมือนกับตัณหาเป็นเชื้อแห่ง การเกิดขึ้น(ใหม่) ชื่อว่าความมีภพเกิดขึ้น ดังนั้น กรรม อันเป็นที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ ก็คือ ภพ อันเป็นที่ที่วิญญาณตั้งอาศัยอยู่ได้ (กรรม = ภพ)

เช่น ตาไปเห็นรูป วิญญาณทางตาเข้าไปเกลือกกลั้วอยู่ในรูป อันเป็นวิสัยที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยตาแล้ว กล่าวว่า วิญญาณอาศัยรูปตั้งอยู่ รูปคือภพของวิญญาณ และ การเกิดขึ้นใหม่ของภพ ชื่อว่ากรรม(ใหม่)ได้เกิดขึ้น

กรรมเก่า กรรมใหม่

กรรม นั้นแบ่งได้เป็น
กรรมเก่า อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นกรรมเก่าเป็นสิ่งที่มีปัจจัย ปรุงแต่ง ได้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยทำให้เกิด ความรู้สึกขึ้น เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้

กรรมใหม่ อันได้แก่ ผัสสะ เป็นเหตุเกิดของกรรมใหม่ การประจวบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้เรียกว่า ผัสสะ เช่นตา ไป เห็น รูป หากจักขุวิญญาณ(เข้าไปตั้งอาศัย) เข้าไป เกลือกกลั้ว อยู่ในรูป อันเป็นวิสัยที่จะรู้ได้ด้วยตาแล้ว ผัสสะทางตา ย่อมถึงการเกิดขึ้น

(มีกรณีที่ ตา มอง รูป แต่ วิญญาณ( จิต หรือ มโน) ไม่ได้เข้าไปอยู่ในคลองแห่งจักขุ
ผัสสะย่อมไม่เกิด การหมายรู้ทางตาไม่มี (ขาดจักขุวิญญาณ) จึงไม่ถึงการประชุม พร้อมด้วยองค์ ๓ )

เพราะมีผัสสะ จึงเกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงมีภพ (กรรม)
เพราะมีภพ ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมี

ดังนั้น การปรากฏแห่งวิญญาณ(ใด) มีใดที่ใด ชื่อว่าการปรากฏแห่งภพ (กรรม) ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมีในที่นั้น ความดับไปแห่งกรรม มีได้เพราะความดับไปแห่งผัสสะ

พิจารณาการเกิดขึ้นแห่งผัสสะอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพย่อมมี เพราะอาศัยการน้อมไป แห่งวิญญาณ ด้วยอาศัยตัณหา นี้ใด อันทำความเกิดใหม่ให้เป็นปกติ เป็นไปกันกับ ด้วยความกำหนัด(ราคะ) เพราความเพลิน(นันทิ) มักเพลินอย่างยิ่ง ใน อารมณ์ (ภพ-กรรม)

นี้เป็นเครื่องเข้าไปตั้งอาศัย เครื่องถึงทับ เป็นอนุสัยแห่งจิต ที่เข้าไปมีอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร อันเป็นภพ (กรรม) ของจิต(วิญญาณ)

หากจะดับกรรม คือ ภพอันทำความเกิดใหม่ ก็ต้องดับที่ผัสสะ คือเหตุเกิดของกรรม

เธอย่อมกระจายเสียให้ถูกวิธี
พระศาสดาจึงทรงให้กระจายเสียซึ่งผัสสะ ให้พิจารณาเห็นถึงองค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น อาศัยกันและกันในการเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์(ดับลงไปได้) ไม่ใช่ตัวตน ที่แท้จริงสิ่งที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นเป็นผัสสะ เป็นของที่ไม่เที่ยง แล้วผัสสะจะเป็นของ เที่ยงแต่ไหน และสิ่งที่เป็นผลตามมาจากผัสสะเป็นปัจจัยก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยง

มรรควิธี เพื่อดับกรรม

ดังนั้นการพิจาณาสิ่งที่ประจวบกันพร้อมเป็นผัสสะ (ได้แก่ สังขารทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนนั้น จะต้องเป็นผู้ที่เห็นซึ่ง อริยสัจ ๔ คือ เห็นการเกิดขึ้น และดับไป ของสังขาร ทั้งหลาย เช่น เห็นความเกิดและดับของ ในจักษุ ในจักขุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วย จักขุวิญญาณ

เมื่อเห็นตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้แล้วจึงพิจารณาเห็นจักษุ จักขุวิญญาณ และธรรม ที่รู้ได้ด้วยจักขุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ปฏิปทานี้เป็นความดับไม่เหลือ ซึ่งสักกายะ (คืออุปาทานในขันธ์ ทั้งหลาย) เพราะความสิ้นไปแห่งความเพลิน จึงมีความสิ้นไปแห่งอุปาทาน

เมื่อเห็นด้วยปัญญา ตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้แล้ว
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ มีอยู่ประมาณเท่าไร
ย่อมไม่มั่นหมายซึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น
ย่อมไม่มั่นหมายใน ขันธ์ ธาตุอายตนะนั้น
ย่อมไม่มั่นหมายโดยความเป็น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น
และย่อมไม่มั่นหมาย ขันธ์ ธาตุ อายตนะนั้น ว่าของเรา
นี้เป็นปฏิปทา เพื่อเพิกถอนความมั่นหมายในสิ่งทั้งปวง

เมื่อ ราคะ ที่มีอยู่ใน รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ อันบุคคลละได้แล้ว วิญญาณย่อมไม่มีที่ตั้งอาศัย ก็ไม่เจริญงอกงาม ดับลงไปได้ เพราะไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อวิญญาณไม่มีอยู่ในที่ใด การก้าวลง แห่งนามรูปย่อม ดับไป ในที่นั้น ที่ใดที่ไม่มีวิญญาณและนามรูป ที่นั้นคือความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ทั้งหลาย เป็นความดับไปไม่เหลือแห่งทุกข์ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการดับแห่งกรรม

———————
แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ